ปธ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน มั่นใจวินิจฉัยคำร้องเลือกตั้งโมฆะ เสร็จก่อน 9 พ.ค. ระบุเหตุเลือกตั้งโมฆะ ต้องมีเจตนาเอื้อประโยชน์ให้ผู้สมัคร วอน ปชช. รับฟังด้วยใจเป็นกลาง เห็นใจกกต.ทำงานมาก มีโอกาสผิดพลาด
พล.อ.วิทวัส รชตนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นคำร้องขอให้ผู้ตรวกจารแผ่นดินส่งความเห็นให้ศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 24 มี.ค. เป็นโมฆะ ว่า ตนได้อ่านคำร้องดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการนำเข้าสู่ที่ประชุมของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยอยู่ในขั้นตอนพิจารณาว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ หากรับไว้พิจารณาก็ต้องดำเนินการโดยเร็ว ซึ่งน่าจะแล้วเสร็จก่อนวันที่ 9 พ.ค. ที่กกต.จะประกาศรับรองผลเลือกตั้งอย่างเป้นทางการไม่น้อยกว่าร้อยละ 95
พล.อ.วิทวัส กล่าวอีกว่า เบื้องต้นเท่าที่ได้อ่านคำร้องพบว่าเป็นการร้องเรื่องของจำนวนคะแนนในการประกาศผลร้อยละ 95 กับ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ตรงกัน และจำนวนผู้มาใช้สิทธิกับบัตรที่ถูกใช้ไม่ตรงกัน รวมถึงกรณีบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่ส่งมาไม่ทันจึงไม่ได้ถูกนำมานับรวม ซึ่งต้องดูข้อกฎหมายก่อนวินิจฉัย. โดยปัจจัยที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้ต้องเป็นเรื่องที่ชัดเจนว่าการเลือกตั้งไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม มีอคติ ในการนับคะแนนเอื้อประโยชน์ให้กับผู้สมัครรายใดรายหนึ่ง แต่ถ้าไม่เจตนาก็มีทางออกของกฎหมายในการแก้ไข เช่น การนับคะแนนใหม่ เลือกตั้งใหม่ โดยอยากให้ประชาชนรับฟังด้วยใจที่เป็นกลาง การจะร้องเลือกตั้งโมฆะต้องดูข้อเท็จจริงว่ามีเหตุผลเพียงพอหรือไม่
“การจัดการเลือกตั้งส่วนหนึ่งต้องไว้ใจ กกต.ที่ผ่านการสรรหาและมีการตรวจสอบคุณสมบัติอย่างเข้มข้น อีกทั้งการจัดการเลือกตั้ง 350 เขต มีหน่วยเลือกตั้งมากถึงกว่า 9 หมื่นหน่วย ให้กรรมการประจำหน่วยหลายแสนคน รวมถึงการรายงานผลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่มุ่งเรื่องความรวดแร็ว แต่อาจมีปัญหาเรื่องความถูกต้องแม่นยำ โอกาสที่จะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ โดยต้องยึดหลักให้การเลือกตั้งสุจริต เที่ยงธรรมและโปร่งใส หากยึดตามนี้ก็สามารถตอบสังคมได้อยู่แล้ว”พล.อ.วิทวัสกล่าว
พล.อ.วิทวัส กล่าวด้วยว่า แม้คำร้องที่เข้ามาจะมีผลกระทบต่อทางการเมืองก็ไม่ลำบากใจ โดยการทำงานยึดหลักความสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ ปราศจากอคติ ถ้าองค์กรอิสระทุกองค์กรยึดตามนี้ เชื่อว่าประชาชนจะไว้วางใจ และสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้ พร้อมกับอธิบายถึงกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินถูกวิจารณ์อย่างหนักจากการมีมติว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. แคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐว่า อยากให้ผู้วิจารณ์ไปอ่านคำวินิจฉัยอย่างละเอียดทุกบรรทัด อย่าเพียงแต่ฟัง เพราะเรายกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 มาเป็นแนววินิจฉัย โดยในมาตรา 98(15) ของรัฐธรรมนูญเขียนแยกไว้อย่างชัดเจนว่า เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ จึงต้องแยกคำว่าเจ้าหน้าที่กับเจ้าหน้าที่อื่นออกจากกัน อย่างไรก็ตามยอมรับว่าหลายเรื่องเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้น จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ รวมถึงเรื่องการร้องให้การเลือกตั้ง 24 มี.ค. เป็นโมฆะด้วย