ศาลปกครองกลาง พิพากษา '10 เด็ก นร.ป.6' ได้สิทธิเข้าเรียนสวนกุหลาบ
ศาลให้เพิกถอน คำสั่งกก.ตรวจสอบพิสูจน์สิทธิ์สมัครเรียนในเขตพื้นที่บริการ ระดับชั้น ม.1 ปี 62 ชี้คำสั่งปฏิเสธรับเด็ก 10 คนออกไม่ชอบไม่ส่ง ผอ.โรงเรียนผู้มีอำนาจพิจารณา ส่วนเด็กอีกคนพลาดเข้าเรียนไม่ได้พักเขตพื้นที่จริง
เมื่อวันที่ 28 เม.ย.62 ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ 552/2562 ที่เด็กนักเรียนชายจบการศึกษาชั้น ป.6 อายุ 12 ปี โดยมีมารดา เป็นแทน ยื่นฟ้อง ผอ.โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เรื่องหน่วยงานกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีผู้ฟ้อง ซึ่งพักอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนครตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.60 ประสงค์จะเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (ม.1) จึงยื่นใบแจ้งความจำนงเข้าศึกษาต่อในปีการศึกษา 2562 ที่ ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อวันที่ 25 มี.ค.62 ประเภทพื้นที่บริการ แต่ผู้ถูกฟ้องปฏิเสธไม่รับสมัครโดยอ้างว่าผู้ที่จะใช้สิทธิ์ในเขตพื้นที่บริการจะต้องอยู่ในบ้านแบบอาศัยอยู่กินนอนเป็นระยะเวลาหลายปี และต้องแสดงหลักฐานที่จะบอกได้ว่าอาศัยอยู่ในบ้านจริงตามประกาศ ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัยเรื่องการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (ม.1) และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (ม.4) ปีการศึกษา 2562 ลงวันที่ 15 มี.ค.62
โดยผู้ฟ้องเห็นว่าประกาศของโรงเรียนดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นมาตรการที่แตกต่างจากการคัดเลือกผู้สมัครประเภทพื้นที่บริการในปีอื่นๆ ที่ผ่านมา และไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์การรับสมัครดังกล่าว ให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 2 ปี จึงกระทบต่อสิทธิในการเลือกที่อยู่อาศัยตามรัฐธรรมนูญ และการพิจารณามีการสร้างความกดดัน อีกทั้งการสัมภาษณ์ผู้ฟ้องการพิจารณาเอกสารหลักฐานของผู้สมัครแต่ละคนแตกต่างกันทำให้ผู้ฟ้องเสียสิทธิในการสอบประเภทพื้นที่บริการ จึงนำคดีมาฟ้องศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศของโรงเรียนดังกล่าว และให้เพิกถอนคำสั่งไม่รับใบสมัครเข้าเรียนของผู้ฟ้อง
โดย "ศาลปกครองกลาง" วินิจฉัยแล้วเห็นว่า ประกาศของ ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย ในส่วนที่กำหนดหลักเกณฑ์ว่า การรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับชั้น ม.1 ประเภทพื้นที่บริการ ให้รับนักเรียนที่มีชื่อในทะเบียนบ้านที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการของ ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย และต้องมีการอาศัยอยู่จริงนั้น เห็นได้ว่าเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อป้องกันมิให้นักเรียนที่มิได้อาศัยอยู่จริงในพื้นที่บริการของโรงเรียนใช้สิทธิ์สมัครเข้าศึกษาต่อประเภทพื้นที่บริการ จึงเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ที่มีความจำเป็นและพอสมควรแก่เหตุ ประกาศดังกล่าวจึงไม่ใช่การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แต่อย่างไรก็ตาม การที่คณะกรรมการตรวจสอบและพิสูจน์สิทธิ์เพื่อการสมัครเป็นนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ ได้ออกคำสั่งปฏิเสธไม่รับสมัครผู้ฟ้องเข้าศึกษาต่อในระดับชั้น ม.1 ประเภทพื้นที่บริการ ปีการศึกษา 2562 โดยไม่มีการนำเสนอให้ ผอ.ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจออกคำสั่งดังกล่าวได้พิจารณาและออกคำสั่งตามอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้อง คำสั่งดังกล่าวที่ออกโดยคณะกรรมการฯ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากออกโดยคณะกรรมการฯ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ไม่มีอำนาจออกคำสั่ง ศาลปกครองกลาง จึงพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้อง โดยคณะกรรมการฯ ที่ปฏิเสธ ไม่รับสมัครผู้ฟ้องคดีเข้าศึกษาต่อในระดับชั้น ม.1 ประเภทพื้นที่บริการ ปีการศึกษา 2562 โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีคำสั่งดังกล่าว และศาลยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาด้วยว่า ในระหว่างพิจารณาคดี เมื่อผู้ฟ้องได้สอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับชั้น ม.1 ปีการศึกษา 2562 ของ ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย ประเภทพื้นที่บริการ และตามประกาศผลการสอบคัดเลือกปรากฏว่าผู้ฟ้องสอบผ่านการคัดเลือก ผู้ถูกฟ้องจึงชอบที่จะรับผู้ฟ้องเข้าศึกษาต่อในระดับชั้น ม.1 ปีการศึกษา 2562 ของ ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัยต่อไป
ผู้สื่อช่าวรายงานว่า ขณะที่ในวันที่ 25 เม.ย.62 ที่ผ่านมา "ศาลปกครองกลาง" ยังได้มีคำพิพากษากลุ่มคดีที่มีข้อเท็จจริงเดียวกันนี้อีก 10 คดีด้วย โดยในส่วนของ 9 คดีนั้น มีผลของคำพิพากษาในทำนองเดียวกันกับคดีที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดง 440/2562 ส่วนอีก 1 สำนวน คดีหมายเลขดำ 589/2562 ที่ศาลพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดง 450/2562 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง เนื่องจากผู้ฟ้อง ไม่ได้พักอยู่จริง ในบ้านซึ่งมีทะเบียนบ้านในเขตพื้นที่บริการของ ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย จึงไม่ใช่ผู้มีคุณสมบัติที่จะสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับ ชั้นม.1 ปีการศึกษา 2562 ประเภทพื้นที่บริการ
ทั้งนี้ คดี 11 สำนวนดังกล่าว "นายณัฐ รัฐอมฤติ" อธิบดีศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยเร่งด่วน ตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมตามระเบียบฯ (ฉบับที่ 7 ) พ.ศ.2562 เพื่อให้ศาล สามารถพิจารณาพิพากษาคดีให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็ว ตามลักษณะคดีที่มีความจำเป็นต้องพิจารณาโดยเร่งด่วน