กกต.เรียก 77 พรรค ประชุมชี้แจงแนวทางการใช้จ่ายเงินอุดหนุนประจำปี 62
กกต. เรียก 77 พรรค ประชุมชี้แจงแนวทางการใช้จ่ายเงินอุดหนุนประจำปี 62 กำชับให้ยึดกฎหมายพรรคการเมือง เลี่ยงนำพรรคไปแสวงหาผลกำไร แนะเลือกตั้งรอบหน้า กม.บังคับใช้เต็มรูปแบบ ให้เร่งจัดตั้งสาขาพรรคเตรียมพร้อมส่งสมัคร
26 ก.ค.62 เวลา 09.30 น. สำนักงาน กกต.ได้จัดการประชุมชี้แจงแนวทางการใช้จ่ายเงินอุดหนุนให้กับ 77 พรรคการเมือง ที่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ประจำปี 2562 เนื่องจากพ.ร.ป.พรรคการเมือง ตามรัฐธรรมนูญมีหลักการและรายละเอียดสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปจากกฎหมายพรรคการเมืองฉบับเดิม การดำเนินงานและแนวทางการปฏิบัติของพรรคการเมือง นายทะเบียนพรรคการเมือง และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็มีการเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นจึงต้องมีการชี้แจงแนวทางใช้จ่ายเงินของพรรคการเมืองที่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง การรายงาน การตรวจสอบ การเรียกคืน การลด และการงดเงินอุดหนุนของพรรคการเมือง รวมทั้งการติดตาม และการประเมินผลการใช้จ่ายเงินอุดหนุนของพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ระเบียบและประกาศต่างๆ เพื่อให้พรรคการเมืองเกิดความเข้าใจและสามารถใช้จ่ายเงินที่ได้รับการอุดหนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ไม่สามารถนำเงินกองทุนฯไปอุดหนุนให้กับพรรคการเมืองได้ แต่การเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดสามารถนำเงินกองทุนฯไปใช้ได้แน่นอน ขณะนี้มีสภาฯแล้ว หากมีปัญหาอะไรขอให้ไปพูดกันในสภาฯ ไม่อยากเห็นประชาชนออกมาเรียกร้องด้วยการเดินถนน อยากให้ทุกปัญหาแบะทุกข้อเรียกร้องถูกนำไปพูดในสภาฯ จะพูดกันหนักบ้าง เบาบ้าง ก็อยู่ในสายตาประชาชน เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในระบบสภาฯ
ด้านนายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.ด้านพรรคการเมือง กล่าวถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฎิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ก่อนและภายหลังการเลือกตั้ง ว่า ที่ผ่านมาการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง มีข้อจำกัด แต่ก็มีคำสั่ง คสช.ที่ช่วยเปิดโอกาสให้ เช่นการทำไพรมารีโหวต เพื่อให้ทันการเลือกตั้ง แต่หลังจากนี้ไปจะเป็นการบังคับใช้กฎหมายเต็มรูปแบบ ในการเลือกตั้งหากเป็นกรณีครบวาระ คือ อีก 3 ปี 8 เดือน พรรคการเมืองทุกพรรคจะต้องมีสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมือง ซึ่งถ้าจะส่งผู้สมัครครบทุกเขต จะต้องมีสาขาพรรคการเมือง 350 สาขา และมีตัวแทนพรรคการเมือง ทั้งนี้ตามขั้นตอนการตั้งสาขาพรรคการเมือง รวมถึงการทำไพรมารีโหวตต้องใช้เวลา 4- 8 เดือน
นายแสวง กล่าวถึงเรื่องการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองว่า ไม่ค่อยพบการร้องเรียนว่ามีการทำผิดกฎหมาย แต่ส่วนใหญ่ที่พบมักเป็นเรื่องความผิดพลาดของเอกสาร เช่น เรื่องการเงิน การระดมทุน การบริจาค ที่กรอกหลักฐานการรายงานไม่ครบ แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นความผิด ส่วนการร้องเรียนพรรคการเมือง ตามกฎหมายพรรคการเมืองนั้น พบว่ามีการร้องเรียนจำนวนมากและมีมากขึ้น โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ พรรคการเมืองทำไม่ถูก กฎหมายปฎิบัติยาก หรือเป็นเรื่องทางการเมือง ซึ่งทุกคำร้องล้วนแต่ขอให้ยุบพรรค ทั้งที่ความผิดไม่ถึงขั้นยุบพรรค และพบว่าประชาชนร้องพรรคการเมือง มากกว่า พรรคการเมืองร้องพรรคการเมือง ทั้งนี้ กกต.ตรวจสอบให้ทุกคำร้อง ขออย่าตำหนิเรื่องเวลาเพราะกกต.เร่งดำเนินการทุกเรื่อง นอกจากนี้ กกต.ขอแนะนำให้ปฏิบัติตามกฎหมายพรรคการเมือง เพื่อไม่ให้เข้าข่ายการนำพรรคการเมืองไปแสวงหาผลกำไร ซึ่งเงินรายได้ของพรรคจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย
“การพิจารณาคำร้องไม่มีเร็วหรือช้า มีแต่ได้ข้อเท็จจริงและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ได้ข้อเท็จจริงจนสิ้นกระแสความ หรือมีข้อเท็จจริงพอให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย” นายแสวงกล่าว
สำหรับการอนุมัติจัดสรรเงินอุดหนุน ให้ 77 พรรค จำนวน 112,413,603.74 บาท พรรคที่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนมากที่สุดคือ พรรคประชาธิปัตย์ 16,838,239.43 บาท รองลงมาคือ พรรคพลังประชารัฐ 12,748,840.16 บาท, พรรคเพื่อไทย 12,654,136.50 บาท, พรรคอนาคตใหม่ 12,427,577.21 บาท, พรรคไทยรักธรรม 11,095,853.90 บาท, พรรคภูมิใจไทย 7,112,093.62 บาท, พรรคเสรีรวมไทย 4,831,645.50 บาท โดยพรรคที่ได้รับเงินกองทุนน้อยที่สุด คือ พรรคพลังเพื่อไทย 15,536.86 บาท