ชงขยายเวลา เปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัสอีก 180 วัน จัดทำเวิร์คช็อป-ประชาพิจารณ์
"รมว.คมนาคม" ชงขยายเวลา เปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัสอีก 180 วัน จัดทำเวิร์คช็อป-ประชาพิจารณ์ วอนทุกฝ่ายหาทางออกร่วมกัน
เเหล่งข่าวจากคณะทำงานรมว.คมนาคมกล่าวว่า ภายหลังที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มีข้อสรุปแนวทางเกี่ยวกับรถตู้สาธารณะ 2 ประเด็นหลักคือ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงรถตู้เป็นรถไมโครบัสในทันที แต่เปลี่ยนเป็นภาคสมัครใจ และขยายการบังคับใช้รถตู้ที่หมดอายุการใช้งาน 10 ปี ขยายเวลาเป็น 12 ปี โดยรับมาจากข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการรถตู้ที่ขอขยายเวลาสิบห้าปี เเต่ตอนนี้มีการนำเรื่องนี้มาเผยเเพร่เเละวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบต่อรมว.คมนาคมในสังคมออนไลน์ในตอนนี้นั้น
เเหล่งข่าวกล่าวว่า ขอชี้เเจงเหตุผลที่รมว.คมนาคมมีเเนวคิดในกรณีดังกล่าวดังต่อไปนี้
1. หลังจากที่รมว.คมนาคม นำเสนอให้มีการเปลี่ยนรถตู้โดยสารประจำทาง เป็นรถไมโครบัส ด้วยระบบสมัครใจ ไม่ใช้มาตรการบังคับ เปลี่ยนพร้อมกันทั้งหมด ซึ่งต้องมีการจัดซื้อรถไมโครบัส คราวเดียว มากกว่า 10,000 คัน มูลค่ามากกว่า 20,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดประเด็นถกเถียงกันโดยมีการนำประเด็น มาตรฐานความปลอดภัยของรถตู้ มาเปรียบเทียบกับรถไมโครบัส และวิจารณ์รมว.คมนาคมว่า ไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพของประชาชน
ในขณะที่ รมว.คมนาคม ให้เหตุผลว่าการบังคับเปลี่ยนพร้อมกันในคราวเดียว อาจจะทำให้รถในระบบไม่พอให้บริการประชาชน เพราะผู้ประกอบการไม่มีกำลังซื้อรถไมโครบัส จำนวนหนึ่ง ต้องเลิกอาชีพ หรือ ออกไปขับนอกระบบ กลับไปสู่ระบบรถเถื่อน เหมือนในอดีต การจัดหารถไมโครบัส 10,000 คัน ในเวลาอันจำกัด เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาระบบริหารจัดการ โดยเฉพาะระบบซ่อมบำรุง อุปกรณ์ และอะไหล่ มารองรับให้พร้อม เพื่อให้การเดินรถบริการประชาชน ไม่สะดุดหรือติดขัด
2. บนความขัดแย้งทางความคิด ที่สวนทางกันเช่นนี้ โดยมีเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน และ ความปลอดภัยของประชาชน เป็นเครื่องต่อรอง และมีผลประโยชน์มากกว่า 2 หมื่นล้านบาท เป็นเดิมพัน จึงทำให้ แนวคิดการเปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัส ได้รับความสนใจอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อรมว.คมนาคม จนกระทั่งนำมาสู่การพิจารณา และนำเสนอให้มีการศึกษาผลกระทบทุกๆ มิติ เช่นให้บริการประชาชน มาตรฐานความปลอดภัย และ ความคุ้มค่าทางการลงทุนของผู้ประกอบการอีกครั้ง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำตอนนี้ เป็นตัวแปรที่ทำให้การศึกษาการเปลี่ยนแปลงรถตู้เป็นไมโครบัส ต้องนำมาพิจารณาเพราะการลงทุนเพิ่มของผู้ประกอบการ อาจจะส่งผลให้อัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้น และอาจจะทำให้จำนวนรถให้บริการลดลง ได้ในระยะยาว
3. ข้อเสนอต่อนายศักดิ์สยาม ในขณะนี้คือ น่าจะมีการศึกษาความเป็นไปได้ กรณีการเปลี่ยนรถตู้เป็นไมโครบัส ด้วยรูปแบบที่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ และควรให้กรมขนส่งทางบก จัดทำในรูปของเวิร์คช็อป หรือประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการ ภาควิชาการ และภาครัฐ เพื่อให้ได้แนวทางที่เหมาะสมที่สุด เพราะเรื่องนี้กระทบต่อประชาชนมากกว่า 1 ล้านคน ในระหว่างที่ทำการศึกษา ก็ให้ชะลอเวลาการบังคับให้เปลี่ยนรถออกไปอีก 180 วัน
“สำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อม และต้องยอมรับสภาพหากประชาชนไม่ใช้บริการ เพราะไม่เชื่อถือรถตู้ แต่เชื่อไมโครบัส มากกว่า ซึ่งข้อเสนอของรมว.คมนาคม เป็นเพียงมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการบางส่วนเท่านั้น แต่สำหรับผู้ประกอบการที่มีความพร้อมแล้ว และต้องการเปลี่ยน เพื่อยกระดับการบริการก็เปลี่ยนได้เลย”
แหล่งข่าวกล่าวและว่า 4. ไม่ว่าจะต้องเปลี่ยนรถ ด้วยระบบสมัครใจ หรือระบบบังคับก็ตาม สิ่งที่ต้องใช้มาตรการบังคับให้เปลี่ยน โดยไม่ละเว้นคือ พฤติกรรมของคนขับรถสาธารณะ ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หรือกฎแห่งความปลอดภัย อย่างเคร่งครัด การขับเร็ว การทำรอบ การดื่มแอลกอออล์ การพักผ่อนน้อย ไม่เพียงพอ ต้องไม่มี และ พฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ต้องตรวจสอบรถทุกคัน และคนขับรถทุกคน อย่างเข้มงวด ไม่มีการละเว้น และต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารทุกคน (ภาพ - fb/sod.mot)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-รมว.คมนาคม พอใจมาตรการคนพร้อม รถพร้อม ถนนพร้อม ลดยอดผู้เสียชีวิต
-เช็คชื่อด่วน! ครม.เห็นชอบแต่งตั้งขรก.การเมืองล็อต 2