สถาบันเพื่อการยุติธรรม ขยายโครงการเรือนจำต้นแบบสู่อาเซียน นำร่องเรือนจำ CC2 คุกหญิงใหญ่ที่สุดในกัมพูชา
เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 62 นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประชากรผู้ต้องขังหญิงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก โดยจากรายงานสถานการณ์เรือนจำโลกล่าสุดของสถาบัน Penal Reform International (PRI) ระบุว่าระหว่างปี 2543-2560 มีผู้ต้องขังหญิงและเด็กเพิ่มจำนวนสูงขึ้น 53% ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเรือนจำจำเป็นต้องมีกระบวนการและการปฏิบัติงานที่ได้มาตรฐาน โดยคำนึงถึงความอ่อนไหวทางเพศภาวะของผู้ต้องขังหญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำข้อกำหนดกรุงเทพ หรือ ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังมาปรับใช้ เพื่อเปลี่ยนวิธีปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง ตลอดจนสร้างและรักษามาตรฐานการเป็นเรือนจำที่ดี สถาบันเพื่อการยุติธรรมจึงได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ ประเทศกัมพูชา ใน “โครงการเรือนจำต้นแบบเพื่อนำร่องการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพในประเทศกัมพูชา” ด้วยความมุ่งหวังให้มีการยกระดับกระบวนการยุติธรรมในประเทศกัมพูชาให้คำนึงถึงความอ่อนไหวทางเพศภาวะของผู้ต้องขังหญิงและเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยปัจจุบันเรือนจำ CC2 ที่กรุงพนมเปญ ซึ่งเป็นเรือนจำหญิงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศกัมพูชา มีจำนวนผู้ต้องขังหญิงทั่วประเทศ ประมาณ 2,443 คน
“การดำเนินโครงการนำร่องครั้งนี้ เป็นการสร้างภาคีความร่วมมือข้ามพรมแดน และเป็นการทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของประชากรกลุ่มเปราะบางในสังคม คือผู้ต้องขังหญิงที่เป็นประชากรกลุ่มน้อยในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มักจะถูกละเลยหรือมองข้าม สอดคล้องกับแนวคิดหลักของอาเซียนในปี พ.ศ. 2562 คือการร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง”นายกิตติพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ TIJ และกรมราชทัณฑ์ ประเทศไทย ได้ร่วมกันผลักดันการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย นับตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยได้ดำเนินโครงการเรือนจำต้นแบบ 12 แห่งที่มีการจัดอบรมหลักสูตรผู้ประเมินเรือนจำตามข้อกำหนดกรุงเทพ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้สามารถเข้าใจหลักการในการประเมินเรือนจำต้นแบบ และการใช้แบบประเมินการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพได้อย่างถูกต้องและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากหน่วยงานราชทัณฑ์ราชทัณฑ์ทั้งในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน และที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ของกัมพูชาได้เข้าร่วมการฝึกอบรม มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการเข้าเยี่ยมชมเรือนจำต้นแบบ และเรือนจำที่นำข้อกำหนดกรุงเทพไปปรับใช้