'สหรัฐ' ส่งหนังสือถึงประยุทธ์ แจงปมไม่เห็นด้วยแบน 3 สาร

'สหรัฐ' ส่งหนังสือถึงประยุทธ์ แจงปมไม่เห็นด้วยแบน 3 สาร

สหรัฐฯร่อนหนังสือคัดค้าน แบนสารไกลโฟเชต พร้อมแจงผลกระทบแบน3สาร กระทบตลาดถั่วเหลือง ข้าวสาลี อุตสาหกรรมเบเกอรี่ ไทย กว่า 4 หมื่นล้านบาท ทำต้นทุนเกษตรกรเพิ่มขึ้น 75,000-125,000 ล้านบาท สูญเสียผลผลิตพืช1.28แสนล้านบาท “อนุทิน” ชี้ยึดสุขภาพปชช.เป็นหลัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน          นายดอน ปรมัติวินัย รมว.ต่างประเทศ และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เนื้อหาสำคัญว่า กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา(ยูเอสดีเอ) ได้ตรวจสอบผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยในการห้ามสารเคมีเกษตร 3 ชนิดที่อยู่ในระหว่างการพิจารณา

โดยยูเอสดีเอ คาดการณ์ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแบน 3 สาร ดังนี้ 1.เกษตรกรไทยจะต้องเผชิญกับต้นทุนสารเคมีทดแทนที่สูงขึ้นที่ 75,000-125,000 ล้านบาท ของราคาตลาดของไทยในปัจจุบัน 2.หากไม่พบสารเคมีทดแทนที่เหมาะสม เนื่องจากกลูโฟซิเนต มีแอมโมเนียมมีพิษมากกว่า ไกลโฟเซท แต่น้อยกว่าพาราควอต ทำให้ต้นทุนแรงงานสูงขึ้นสำหรับการปราบวัชพืช ทำให้การควบคุม รวมกับการสูญเสียผลผลิตพืช คาดว่าจะสูงถึง 128,000 ล้านบาท

สินค้ามาไทยไม่ได้ตามดับเบิลยูทีโอ

3.สิ่งสหรัฐฯกังวลมากที่สุด คือ จะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าสหรัฐฯในตลาดไทย เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี กาแฟ แอปเปิ้ล และองุ่น มูลค่าประมาณ 51,000 ล้านบาทจะต้องหยุดชะงักลงเพราะ ตามกฏองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) หากประเทศคู่ค้ามีการแบนสารเคมีที่สหรัฐฯใช้อยู่ก็ไม่สามารถขายสินค้าหรือส่งออกสินค้านั้นได้ เพราะสหรัฐฯยังใช้สารไกลโฟเซตอยู่

ทั้งนี้ ในค่าใช้จ่ายดังกล่าว ยังไม่ได้รวมไปถึงผลกระทบที่ตามมาของ ผู้ผลิตอาหาร เช่น อุตสาหกรรมเบเกอรี่และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่พึ่งพาข้าวสาลีที่นำเข้า 100% เพื่อมาดำเนินธุรกิจมูลค่า 40,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่านอกจากจดหมายฉบับข้างต้นทางสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยยังได้แนบเอกสารจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐ ที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรีของไทยด้วยว่า การแบนสารไกลโฟเซต โดยไม่พิจารณาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการนำเข้าถั่วเหลือง และข้าวสาลี ของไทยจึงหวังว่าประเทศไทยจะพิจารณาความกังวลนี้ เพราะไกลโฟเซทเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ยาฆ่าแมลงที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและศึกษาอย่างจริงจังในโลก

อีพีเอชี้ไม่ทำสุขภาพคนเสี่ยง 

หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (EPA)ได้ประเมินแล้วว่าไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ สอดคล้องกับความคิดเห็นทางวิทยาศาสตร์ของหน่วยงานอื่นทั้งญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และองค์การเกษตรแห่งสหประชาชาติ จึงขอให้ชะลอการตัดสินใจเกี่ยวกับไกลโฟเซต จนกว่าจะสามารถจัดเตรียมโอกาสสำหรับสหรัฐอเมริกาได้

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันที่ 25 ต.ค.นี้ กระทรวงเกษตรฯ จะจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับฟังความคิดเห็นแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรหลังการแบนสารเคมีทางการเกษตร ที่จังหวัดอุทัยธานี เพื่อเป็นการนำร่องตามมติคณะกรรมการวัตถุอัตรายที่ระบุให้ต้องรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน หลังคณะกรรมการวัตถุอันตราย สั่งการให้กรมวิชาการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อให้ความเห็นในการประชุมครั้งต่อไป

“เตรียมจะต้องมีการเสนอกระทรวงอุตสาหกรรม ออกกฎหมายเพื่อควบคุมกระบวนการผลิต นำเข้า การใช้สารเคมีตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทางด้วย”

อนุทินเมินชี้ดำเนินการตามกฎหมายไทย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า เราใช้กฎหมายไทย โดยคณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นผู้ดำเนินการภายใต้กฎหมายไทยและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยส่วนนี้คือคำตอบ ดังนั้นเมื่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติออกมาแล้วจะต้องทำตามมติดังกล่าว เมื่อมติบอกให้แบนแล้วคนอื่นจะมาบอกไม่ให้แบน จะมาใหญ่กว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้อย่างไร เพราะเขาทำภายใต้กฎหมาย

ส่วนจะต้องส่งหนังสือชี้แจงกลับไปยังสถานทูตสหรัฐอเมริกาหรือไม่นั้น ก็แล้วแต่ เพราะหนังสือไม่ได้ส่งมาที่ตน แต่ขอย้ำว่ากระทรวงสาธารณสุขดูแลในเรื่องสุขภาพของประชาชน ดังนั้นอะไรที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขจะสนับสนุนไม่ได้

ส่วนเรื่องการหาสารทดแทน ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข เพราะเรื่องนั้นเป็นหน้าที่ของกระทรวงอื่นที่จะต้องหาวิธี เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่พยายามอย่างสุดความสามารถที่จะหาสารทดแทน ทั้งนี้ตนไม่ได้พูดคุยน.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ว่ามีตัวไหนมาทดแทนได้บ้าง เพราะต่างคนต่างทำงาน ซึ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะทำอะไรก็มีรมว.เกษตรฯ คอยกำหนดนโยบาย ซึ่งรมช.เกษตรฯจะกำหนดเองไม่ได้

อย่างไรก็ตามชีวิตคนและสุขภาพของคนนั้นหาอะไรมาทดแทนไม่ได้ และหวังว่าสารทดแทนตัวใหม่ จะไม่มีผลที่ร้ายแรงต่อสุขภาพประชาชน เพราะถ้ามีผลร้ายแรงกระทรวงสาธารณสุขก็จะต้องสั่งแบนอีก

ยันสธ.ไม่ฟ้องกลับกลุ่มต้านร้องศาลปกครอง

นายอนุทิน ยังกล่าวถึง กรณีเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลองระบุว่าจะฟ้องศาลปกครองให้มีการคุ้มครองชั่วคราวมติยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายในภาคเกษตร และจะฟ้องรมว.สาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการวัตถุอันตราย รวมถึงเอ็นจีโอที่มีการนำเสนอข้อมูลเท็จด้วย ว่า ตนเห็นจากข่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขจะฟ้องกลับ แต่เชื่อว่าคงไม่ฟ้อง แล้วจะท้าวความทำไม เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่อาจจะถูกดูถูก ดูแคลนก็ว่าไม่ได้ แต่ถ้าจะเอ่ยถึงกระทรวงสาธารณสุข แล้วคงไม่มีการฟ้องร้องกลับแต่อย่างใด

“กระทรวงสาธารณสุข ก็ต้องพยายามชี้แจงก่อน และถ้าเป็นการแอบอ้างของกระทรวงสาธารณสุข ก็อย่าไปเชื่อว่า แต่เรื่องแค่นี้คงไม่ถึงขั้นฟ้องร้อง เพราะไม่ได้มีความเกลียดชัง แต่เป็นเรื่องส่วนบุคคล โดยทุกอย่างต่างคนต่างทำหน้าที่ เพียงแต่ต้องยึดหลักวิชาการ สุขภาพ อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยมีประชาชนเป็นตัวตั้ง ดังนั้นหากจะมีการฟ้องศาลปกครองชั่วคราวเพื่อถอดมติแบนสารเคมี จะต้องไปดูว่าจะมีการคุ้มครองฉุกเฉินหรือไม่ ก็สุดแล้วแต่คำวินิจฉัยของศาลปกครอง”

สำหรับเกษตรกรอาจได้รับผลกระทบเรื่องค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นนั้น ตนมั่นใจว่ากระทรวงเกษตรฯ จะมีมาตรการทดแทนช่วยเหลือ และหากมีความจำเป็นจริงๆ ก็ต้องนำไปหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการแบนสารเคมีพิษทั้ง 3 ชนิด แล้วรัฐบาลจะช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง ก็เป็นเรื่องต้องมีการหารือกันต่อไป