ชำแหละงบปี 63 การบ้าน 'ฝ่ายค้าน' ล็อกเป้างบกลาง-มั่นคง
ผ่านไปแล้วสำหรับการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ซึ่งเป็นครั้งแรกของชุด กมธ.ในระบบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง
โดยใน กมธ.ชุดนี้มาจากการจัดสรรโควตาฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน มาทำหน้าที่พิจารณางบประมาณที่ตั้งไว้ในวงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท
หนึ่งใน 64 กมธ.ชุดนี้ปรากฏชื่อ “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย ได้รับมอบหมายเป็น “เลขานุการ กมธ.” อีกหนึ่งตำแหน่งระหว่างการทำหน้าพิจารณางบในวาระที่ 2 โดยเฉพาะหนึ่งในนักตรวจสอบที่หลายฝ่ายกำลังเฝ้ามองว่าจะมีบทบาทใน กมธ.ได้แค่ไหน
“เรืองไกร” ให้สัมภาษณ์ “เนชั่นสุดสัปดาห์” ถึงภารกิจสำคัญตลอด 3 เดือนนับจากนี้
“เรืองไกร” ระบุโรดแมพการทำงานของ กมธ.ได้กำหนดเวลาพิจารณาแต่ละกระทรวงไว้ประมาณ 30 วัน โดยในแต่ละสัปดาห์จะดูความสะดวกของ กมธ.ส่วนรวม เช่น วันจันทร์ อังคาร จะเริ่มประชุมช่วงบ่าย เพราะต้องรอรัฐมนตรีบางคนที่เป็นกมธ.ให้ประชุมครม.เสร็จสิ้นก่อน หรือวันจันทร์ต้องรอ ส.ส.กลับมาจากการลงพื้นที่
ส่วนตัวเลขที่ต้องพิจารณากันพอสมควรเป็นเรื่องที่มาของเงินในการจัดทำงบประมาณ ซึ่ง กมธ.หลายคนกำลังขอตัวเลขที่หน่วยรับงบประมาณที่ตั้งไว้แล้ว เพราะในงบประมาณมีตัวเลขจำนวนมาก ซึ่งกมธ.หลายคนเห็นด้วยเพื่อจะรู้ที่มาที่ไปของการของงบประมาณ และนำไปคำนวณเปรียบเทียบต่างๆ เพื่อนำใช้ในการพูดคุยกับหน่วยงานที่ของบประมาณหลังจากนี้
สำหรับการพิจารณาหน่วยงานที่รับงบประมาณใน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ที่ได้งบประมาณจำนวนมากนั้น “เรืองไกร” บอกว่า การประชุมของ กมธ.จะเริ่มต้นในวันที่ 28 ต.ค.เป็นต้นไป เพื่อพิจารณาเป็นรายกระทรวง เช่น กระทรวงกลาโหมจะพิจารณาข้อมูลที่เคยชี้แจงว่า การจัดซื้อมีความจำเป็นแค่ไหน ตั้งแต่การของบประมาณในปี 2561 และนำมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่อ้างว่ายุทโธปกรณ์ต่างๆ มีอายุการใช้งานมานานแล้ว แต่จะมีความเหมาะสมหรือไม่หากต้องจัดซื้อในภาวะเศรษฐกิจที่ลำบากแบบนี้
“การบ้านของฝ่ายค้านที่เป็นโจทย์หลัก เพื่อกลั่นกรองงบประมาณจะคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจาการใช้งบประมาณปี 2563 โดยเชื่อว่าฝ่ายรัฐบาลจะเห็นร่วมกัน จึงเป็นเหตุผลที่ฝ่ายค้านต้องซักไซ้ไล่เลียง แต่สิ่งที่ผมเป็นห่วงคือข้อมูลงบประมาณต่างๆ จะได้มาไม่ทัน จึงได้ขอไปว่าหน่วยรับงบประมาณแต่ละหน่วย ให้ส่งข้อมูลมา 3 วันล่วงหน้าก่อนการประชุมแต่ละครั้ง เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ช่วยกันดู"
“เรืองไกร” บอกว่า ขณะที่การตั้งงบประมาณปี 2563 ไปผูกกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น กมธ.จะพิจารณาในรายละเอียดจากตัวเลขหน่วยรับงบประมาณเข้ามาพิจารณาก่อนว่าเป็นอย่างไร ซึ่งสำนักงบประมาณได้อธิบายไว้ว่า ดำเนินการตามแผนนโยบายการคลังระดับกลางคือ 3 ปีที่ ครม.เห็นชอบแล้ว
โดย กมธ.ต้องมาดูว่าช่วงระยะเวลา 3 ปีจะสิ้นสุดในปี 2564 มีความเหมาะสม โดยเฉพาะมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีหรือไม่ ที่สำคัญนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แถลงไว้เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2562 มีความสอดรับกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ด้วยหรือไม่ จึงต้องไล่กลับไปว่าตัวเลขงบประมาณที่รัฐบาลตั้ง มีมาก่อนที่แถลงนโยบายด้วยหรือไม่ ก็จะปรากฏชัดเจนในคำของบประมาณที่ กมธ.จะได้เห็น
“ถ้าตั้งงบประมาณมาก่อนรัฐบาลก็ต้องรู้ แต่ทำไมถึงไม่ชี้แจงแหล่งที่มาของงบประมาณในวันแถลงนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมีการทวงกันมาตลอด ถ้ารัฐบาลไม่ชี้แจงในครั้งนั้น แต่วันนี้ทำตัวเลขงบประมาณขึ้นมาแสดงว่าทำ หลังจากวันชี้แจงงบประมาณหรือไม่ หรือถ้าพบตัวเลขคำขอที่มาจากหน่วยรับงบประมาณ ที่ส่งเข้ามายังสำนักงบประมาณก่อนหน้านั้น ตรงนี้จะจับได้ว่าเหตุผลที่รัฐบาลไม่ชี้แจงแหล่งที่มาของงบประมาณมาจากเหตุผลอะไร แล้วทำไมต้องไม่ตอบกับสภาฯ”
“เรืองไกร” ย้ำว่าที่สำคัญต้องพิจารณาลงไปลึกกว่านี้จากคำของบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้มีคำของบประมาณตัวเลขเดิมที่ขอไว้ที่ 5 ล้านล้านบาทนั้น จะถามว่าตัวเลข 1.8 ล้านล้านบาทที่ถูกตัดออกไปมีเหตุผลและหลักเกณฑ์ที่ถูกตัดออกไปด้วย เพื่อที่เราจะรู้ว่านโยบายการคลังระดับกลาง 3 ปีได้สอดคล้องอีกหรือไม่
“เรืองไกร” วิเคราะห์ไปถึงวิธีการคิดการตั้งงบประมาณปี 2563 ของรัฐบาล ถึงแม้จะได้รับการอธิบายว่าเป็นไปตามกฎหมายวินัยการเงินการคลัง เช่น งบกลางที่เป็นรายจ่ายฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนให้ตั้งได้ไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ ของงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาทอยู่ที่ประมาณ 9.6 หมื่นล้านบาท
“แต่ในปีนี้ตั้งงบกลางอยู่ที่ 9 หมื่นบ้านก็ไม่เกินจากกรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดไว้ แต่สิ่งที่ตั้งคำถามอยู่ที่งบกลาง 9.6 หมื่นล้านบาทของปีงบประมาณ 2562 ที่ใช้ไปแล้ว รัฐบาลได้ใช้ไปตามที่ตั้งไว้และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เป็นคำถามที่ขอให้สำนักงบประมาณชี้แจงเข้ามา”
“เรื่องไกร” ทิ้งท้ายว่า ในฐานะที่เป็นฝ่ายค้านที่กลับมาทำหน้าที่ตรวจสอบในระบบสภาฯในรอบ 5 ปี แต่เสียงที่ ส.ส.น้อยกว่าฝ่ายรัฐบาลนั้น มองว่าฝ่ายค้านจะตั้งหลักในการทำหน้าที่ตามกฎหมาย ถ้าสิ่งใดเป็นประโยชน์กับประชาชนและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่ถึงงบประมาณที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้