แจงต่อสัญญา "บีทีเอส" หวังล้างหนี้ "กทม."
รมว.มหาดไทย ชี้แจงกระทู้ถามสดต่อสัญญาสัมปทานบีทีเอส หวังล้างหนี้กทม. ที่ต้องจ่ายแทนรฟม.ปีละ 1,000 ล้านบาท “ยุทธพงศ์” ข้องใจเร่งรีบขยายสัมปทาน ทั้งที่เหลือเวลาอีก 10 ปี
วานนี้ (13 พ.ย.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม พิจารณาวาระกระทู้ถามด้วยวาจา นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามสดถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กรณีการต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้า(บีทีเอส)สายสีเขียว ซึ่งควรดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ.2562 หรือ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนนั้น เหตุใด พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคสช. จึงใช้มาตรา 44 ยกเว้น พ.ร.บ.ร่วมลงทุน
รวมถึงเรื่องการขยายสัมปทานที่ยังเหลืออีก 10 ปี นั้น เหตุใดจึงไม่รอให้หมดสัมปทานแล้วจึงเปิดประมูลใหม่อีกครั้ง และส่วนต่อขยายบีทีเอส สายสีเขียว ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) รับโอน ยังไงก็เป็นหนี้ของรัฐบาลที่สามารถหาทางออกด้วยการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้
ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ชี้แจงต่อที่ประชุมถึงความจำเป็นของการออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ว่า เนื่องจากการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุน ติดปัญหาเรื่องระยะเวลาที่ต้องใช้ไม่น้อยกว่า 18 เดือน จะกระทบต่อการใช้บริการของประชาชน อีกทั้งการบริหารหนี้ของกทม.ที่มีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทุกวัน จึงเสนอให้คสช.ออกคำสั่งเร่งรัดให้โครงการเกิดขึ้นจริง
ขณะเดียวกันการตั้งคณะกรรมการ ตามคำสั่ง คสช.ก็มีตัวแทนเป็นไปตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุน ครบถ้วน ซ้ำยังมีเพิ่มเติมด้วยตัวแทนจากกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และผู้สังเกตการณ์ จะเห็นได้ว่า คนออกคำสั่ง มีเจตนาเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน
ส่วนข้อสงสัยในเรื่องความเร่งด่วนของการให้สัมปทาน มาจากการบริหารหนี้ที่เป็นหนี้สาธารณะ เมื่อกทม.รับโอนมาแล้ว จึงเป็นพันธะที่เกิดขึ้นทันทีและเป็นภาระที่ต้องมีคนจ่าย ซึ่งรัฐบาลไม่ต้องการนำเงินของประชาชนมาจ่ายให้กับ กทม. จึงมีข้อเสนอดังกล่าว เพราะหากไม่ทำ ประชาชนจะต้องเสียค่าแรกเข้าทั้งโครงการเดิมและส่วนต่อขยาย
สำหรับเรื่องการตั้งกองทุนนั้น พล.อ.อนุพงษ์ ชี้แจงว่า การให้สัมปทาน ก็ถือเป็นการดึงเงินจากรายได้ในอนาคตมาใช้ ไม่ต่างจากการตั้งกองทุน ซึ่งการตั้งกองทุนนั้น ก็จะรับข้อเสนอนี้ไว้เพื่อนำเรียนให้นายกฯ และคณะรัฐมนตรีรับทราบ ส่วนการให้บริการนอกพื้นที่ ทราบจากทางกทม.ว่า โครงการส่วนต่อขยายนี้ ได้รับความเห็นชอบจากสภากทม. แต่จะขอกลับไปตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวอีกว่า ยืนยันอีกครั้งว่า ที่จำเป็นต้องขยายนั้นเป็นเพราะเรื่องหนี้ที่ กทม. ต้องรับมาจากรฟม. ซึ่งมีดอกเบี้ยสูงถึงปีละ1พันล้านบาท และกทม.ต้องชดใช้เงินต้น ดังนั้นตนถามว่ารัฐบาลจะนำเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศมาชดใช้ให้กับคน กทม.นั้นสมควรหรือไม่ ขณะนี้ ครม.ยังต้องหารายละเอียดก่อนจะพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป
อ่านข่าว-'มหาดไทย' จ่อชง ครม. อนุมัติต่อสัมปทานบีทีเอส 30 ปี