เปิดประวัติ 'มานพ คีรีภูวดล' ส.ส.เลื่อนขึ้นแทน 'ธนาธร'
"มานพ คีรีภูวดล" ส.ส.บัญชีรายชื่ออนาคตใหม่ที่ได้เข้าสภาหลัง "ธนาธร" ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นสภาพ ส.ส. โดยเป็นส.ส.ชาติพันธุ์คนที่ 2 ที่ได้เข้าสภา
มานพ คีรีภูวดล หนึ่งในรายชื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ ลำดับที่ 51 โดยเขาเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) ที่ทำงานร่วมกับพื้นที่เรื่องรักษาป่ามาอย่างยาวนาน ตั้งแต่การเป็นผู้นำเครือข่ายมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) ผู้อํานวยการศูนย์เรียนรู้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วมดอยอินทนนท์ และกรรมการมูลนิธิกองทุนเพื่ออนุรักษ์ดอยอินทนนท์ อีกทั้งเขาเป็นแกนนำในการยื่นหนังสือกับทางพรรคอนาคตใหม่ เพื่อเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการด้านชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง
มานพได้รับการเลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แทนที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ประกาศให้พ้นสภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรณีขาดคุณสมบัติการสมัคร ส.ส. จากกรณีถือหุ้นสื่อ ในช่วงก่อนสมัคร ส.ส.
ย้อนไปในช่วงปราศรัยหาเสียง พรรคอนาคตใหม่ที่ จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 8 มีนาคม 2562 มานพได้ขึ้นปราศัยและพูดถึงเส้นทางการเข้ามาทำงานการเมืองกับอนาคตใหม่ โดยเริ่มมาตั้งแต่เมื่อมานพมาเรียนหนังสือในเมือง ไทยก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้คนที่อาศัยอยู่ในป่าอพยพออกจากพื้นที่เพราะประกาศเป็นพื้นที่ห้ามบุกรุก ซึ่งในขณะนั้น มานพก็ได้เข้ามาร่วมชุมนุมเรียกร้องและขอพบรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในนามเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ
จนกระทั่งได้รับการชักชวนจากผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ทั้งนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ให้มานพเข้ามาร่วมทำงานในพรรคในฐานะคณะทำงานชาติพันธุ์พรรคอนาคตใหม่ และจะผลักดันให้มี ส.ส. ชาติพันธุ์ที่พรรคาอนาคตใหม่มีทั้งหมด 3 คน ให้เข้าไปในสภาอย่างน้อย 1 คน ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้มีนายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ส.ส. ชาติพันธุ์ชาวม้งในนามพรรคอนาคตใหม่ เข้าไปทำหน้าที่ในสภาในฐานะส.ส.บัญชีรายชื่อแล้ว 1 คนตามเป้าหมาย
โดยนโยบายที่อนาคตใหม่ต้องการจะผลักดันในเรื่องของชาติพันธุ์นั้น นายมานพเคยปราศรัยไว้ว่า อยากจะเสนอกฎหมายสภาชนเผ่า เพื่อที่จะทำงานร่วมกันกับชนเผ่าต่างๆ ทั้งประเทศ ผลักดันกฎหมายว่าด้วยเขตวัฒนธรรมพิเศษในเชิงนโยบาย รวมถึงแก้ไขเรื่องพื้นที่ทับซ้อน สิทธิเชิงซ้อน และกระบวนการในการใช้สิทธิ์ร่วมกันระหว่าง รัฐ ประชาชน และเอกชน