ปธ.ศาลฎีกา เชื่อประชุม กม. ALA ช่วยการค้าขายกลุ่มอาเซียน
"ปธ.ศาลฎีกา" มั่นใจประชุม ส.กฎหมายอาเซียน ช่วยการค้าขายกลุ่มอาเซียน-จัดตั้งเป็นองค์กรระดับโลก
เมื่อวันที่ 21 พ.ย.62 ที่โรงแรมภูเก็ต แมริออท รีสอร์ทแอนด์สปา เมอร์ลินบีช จ.ภูเก็ต ภายหลังการประชุม คณะกรรมการบริหารและคณะกรรมาธิการถาวรของสมาคมกฎหมายอาเซียน ครั้งที่ 41 (41th ASEAN Law Association Governing Council Meeting) ซึ่งปีนี้ประเทศไทย ได้รับเกียรติในการเป็นเจ้าภาพ
นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติสมาคมกฎหมายอาเซียนประจำประเทศไทย ได้ตอบคำถามสื่อมวลชน เกี่ยวกับบทบาท ALA การระงับข้อพิพาทเรื่องการค้า ตัวอย่างกฎหมายบางฉบับทำในประเทศหนึ่งไม่ผิดอีกประเทศ เช่น ฟิลลิป มอร์ริส จะช่วยไกล่เกลี่ยได้หรือไม่ว่า ทำอย่างไรเมื่อเกิดข้อพิพาทแล้วระงับข้อพิพาทด้วยการเจรจาหรืออนุญาโตตุลาการ จะเน้นเรื่องการเจรจามากกว่าและสร้างทางเลือก นอกจากเอาเข้าสู่ระบบศาลยุติธรรมของแต่ละประเทศแล้วยังสร้างระบบการเจรจาไกล่เกลี่ยมากขึ้น แต่รูปแบบที่จะเจรจาไกล่เกลี่ยยังเป็นการบ้านที่จะต้องทำต่อ เชื่อว่าวิธีนี้จะทำให้ข้อพิพาทได้รับการระงับและหาข้อยุติได้รวดเร็ว เป็นที่ยอมรับและพอใจของคู่กรณี
เมื่อถามว่า ตรงนี้จะเป็นการปรับกฎหมายแต่ละประเทศ ให้สอดคล้องตามแนวคิดของ ALA หรือไม่ นายไสลเกษ กล่าวว่า เป็นความพยายามแต่ไม่ง่าย ที่น่าดีใจคือทุกประเทศสมาชิก มีความพยายามหาข้อยุติเรื่องนี้
เมื่อถามว่า เรื่องการค้าขายของกลุ่มประเทศอาเซียนกับกลุ่มอื่น ALA จะเข้าไปช่วยดูกฎหมายการค้าด้วยหรือไม่ นายไสลเกษ กล่าวว่า คิดว่ามีส่วนแน่นอน แต่ในเบื้องต้นเราเน้นในกลุ่มระหว่างอาเซียนก่อน ถ้ากลุ่มอาเซียนเรามีความเป็นเอกภาพ ตนเชื่อมั่นว่าทุกประเทศเข้าใจดีว่า อำนาจต่อรองของ 10 ประเทศอาเซียนซึ่งมีลำดับเศรษฐกิจลำดับที่ 5 ของโลกจะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่เราจะต้องมีการเจรจากับกลุ่มประเทศอื่นๆ ทุกทวีป ถ้าเราใช้แนวทางแบบเดียวกัน
เมื่อถามว่า การประชุมครั้งนี้ประเทศไทยสนับสนุนประเด็นใดสำคัญที่สุด นายไสลเกษ ตอบว่า เราฟังเขา ทุกประเด็นที่เสนอมา ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องงานวิชาการซึ่งจุดนี้ยังไม่เป็นข้อผูกพันผูกมัดอะไรกับประเทศเรา เรื่องการศึกษาวิชาการกฎหมายประเทศต่างๆ เราสมควรให้การสนับสนุน แต่ขณะเดียวกันถ้าเราต้องไปเซ็นสัญญาข้อผูกพันระหว่างประเทศ เราจะต้องคุยกันมากกว่านี้จะต้องเป็นกระทรวงการต่างประเทศและส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง มีรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม ALA ครั้งที่ 41 มีวัตถุประสงค์ (1) ส่งเสริมความร่วมมือและความเข้าใจกันของนักกฎหมายในประเทศสมาชิกอาเซียน (2) เพื่อสร้างกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคในการศึกษาวิจัยกฎหมายของประเทศสมาชิกอาเซียน (2.1) เพื่อส่งเสริมการสร้างความสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกันของกฎหมาย ตามจุดมุ่งหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของอาเซียน (2.2) เพื่อส่งเสริมและอำนวยการให้เกิดกิจกรรมความร่วมมือในระดับสถาบันทางกฎหมายหรือองค์กรวิชาชีพด้านกฎหมายภายในภูมิภาค
(2.3) เพื่อส่งเสริม และแลกเปลี่ยน ข้อมูลด้านกฎหมาย ระบบกฎหมาย และการพัฒนากฎหมาย ในระดับภูมิภาค (2.4) เพื่อจัดทำวารสาร จัดกิจกรรมทางวิชาการ การประชุม สัมมนา หรือเวทีอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อวัตถุประสงค์ตามข้างต้น (3) เพื่อสร้างองค์กรความร่วมมือในระดับอาเซียนสำหรับการขจัดความขัดแย้ง การอนุญาโตตุลาการ หรือการระงับข้อพิพาททางกฎหมายในสัญญาหรือข้อตกลงต่างๆที่มีลักษณะข้ามชาติภายในภูมิภาค และ (4) เพื่อสร้างความร่วมมือกับองค์กรในระดับนานาชาติ ระดับภูมิภาค และระดับชาติ หรือองค์กรอื่น เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่กล่าวข้างต้น