'ทหารเกณฑ์ vs สมัครใจ' เทียบ 8 ประเด็น ข้อเสนอโดนใจ...ทำได้จริงหรือ?
การที่ "เสี่ยเอก" ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ลงพื้นที่ย่านสยามสแควร์แบบปัจจุบันทันด่วน เพื่อรณรงค์เรื่องยกเลิกการเกณฑ์ทหาร หลังจากพ่ายแพ้คดีในศาลรัฐธรรมนูญเพียงไม่กี่ชั่วโมงนั้น
ความเคลื่อนไหวนี้ทำให้ถูกมองอย่างตั้งข้อสงสัยและยากจะปฏิเสธว่า “เสี่ยเอก” กำลังปลุกกระแสคนรุ่นใหม่ เพื่อตอบโต้สิ่งที่เขาคิดว่า “ถูกกระทำ” ในคดีถือครองหุ้นสื่อหรือไม่
เพราะสยามสแควร์คือศูนย์กลางวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ของเมืองไทย และแน่นอนว่าวัยรุ่น วัยแรง วัยใส ไม่ว่าชาติไหนๆ ก็ไม่มีใครอยากเป็นทหาร (ยกเว้นคนที่ชอบเครื่องแบบ ก็จะมุ่งไปสอบนายร้อย ไม่ใช่มุ่งมาสมัครทหารเกณฑ์)
แม้ ธนาธร จะอ้างว่าเป็นการรณรงค์สร้างความเข้าใจ เพราะพรรคอนาคตใหม่เพิ่งจะแถลงเตรียมเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.รับราชการทหาร ซึ่งเป็นกฎหมายที่เปิดทางให้กองทัพมีอำนาจ “เกณฑ์ชายไทยมาเป็นทหาร” มาช้านาน เฉพาะตัวกฎหมายก็มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2497 ก็ตาม
แต่การเลือกจังหวะเวลาการลงพื้นที่สร้างกระแสกับวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ ในวันเดียวกับที่เพิ่งถูกดับฝันทางการเมืองจากศาลรัฐธรรมนูญ ก็ดูจะเป็นการจงใจเกินไปหน่อย
หากมองข้ามเรื่องความพยายามสร้างกระแส แล้วลองไปเพ่งพิจารณาการเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.รับราชการทหาร หรือเรียกง่ายๆ ว่า “กฎหมายเลิกเกณฑ์ทหาร” ของพรรคอนาคตใหม่ จะพบรายละเอียดที่เป็นประเด็นสำคัญๆ สรุปได้ดังนี้
1.ไม่ได้เลิกการเกณฑ์ทหาร แต่จะเกณฑ์ได้เมื่อมีสงครามเท่านั้น
2.แต่การเกณฑ์ทหารในยามสงคราม ก็มีเงื่อนไขกำกับ คือ เกณฑ์ได้เพียง 1 ปี ใน 1 ปีจะแยกเป็นฝึก 3 เดือนเป็นขั้นต้น ฝึกอีก 3 เดือนเป็นขั้นสูง และรอดูสถานการณ์อีก 6 เดือนว่าจะมีสงครามต่อหรือไม่ ถ้ามีก็ดำเนินการต่อไป ถ้าไม่มีก็ยกเลิก
3.ในยามปกติ ไม่มีสงคราม จะไม่มีการเกณฑ์ทหาร แต่จะใช้ระบบสมัครใจ 100%
4.ระบบสมัครใจจะให้สิทธิการสมัครทั้งหญิงและชาย ทุกเพศ ตั้งแต่อายุ 18 ปี จนถึงอายุ 40 ปี มีเงินเดือน สวัสดิการต่างๆ
5.ผู้ที่เข้าระบบสมัครใจเป็นทหาร จะเพิ่มการฝึกและการสร้างความชำนาญ จาก 2 ปี เป็น 5 ปี (ปัจจุบันเกณฑ์ทหารใช้เวลา 2 ปี) ซึ่งเมื่อเปลี่ยนเป็น 5 ปี ก็จะมีระยะเวลาใช้งานยาวขึ้น ไม่ต้องใช้กำลังพลมากเหมือนการเกณฑ์ทุกปี แล้วฝึกเพียง 2 ปี แต่ผลที่ได้คือมีความชำนาญสูง งบประมาณก็จะมีเหลือไปเพิ่มเงินเดือนถึงสิบโทกองประจำการ ให้มีทุนสำหรับศึกษาต่อ และมีสวัสดิการให้แก่ครอบครัว รวมถึงการมีกองทุนให้สำหรับผู้ที่ออกไปประกอบอาชีพอย่างอื่น
6.ผู้ที่เข้าระบบสมัครใจ และเป็นทหารครบ 5 ปีแล้ว สามารถต่อเวลาได้อีก 5 ปี จากนั้นก็สามารถขึ้นเป็นทหารกองประจำการปกติ คือเป็นนายทหารชั้นประทวนและนายทหารชั้นสัญญาบัตรได้ต่อเนื่องไป โดยจะจัดให้มีการสอบทุกๆ 5 ปี และเกษียณที่อายุ 46 ปี ปรับยศได้ถึงพันโท
7.แก้ปัญหาการละเมิดสิทธิ์ ถูกรังแก ถูกเกณฑ์ไปใช้งาน ด้วยการมีข้อห้ามละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
8.ระบบสมัครใจจะแก้ไขปัญหาที่เกิดจากระบบเกณฑ์ทหารที่ใช้อยู่ โดยเฉพาะการถูกพรากจากครอบครัว และขาดไร้แรงงานที่สร้างรายได้ดูแลครอบครัว (เพราะติดภาระต้องไปเป็นทหาร)
ทั้งหมดนี้คือข้อเสนอของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งฟังดูเผินๆ ก็น่าสนใจ และมีเหตุผลรับฟังได้เป็นอย่างดี
จากการพูดคุยกับนายทหารระดับสูงในกองทัพ ซึ่งเคยผ่านการเป็นผู้นำหน่วย และเคยฝึกทหารใหม่ รู้ระบบการเกณฑ์ทหารเป็นอย่างดี ได้ข้อมูลว่า จริงๆ แล้ว “ระบบสมัครใจ” เป็นระบบในฝันที่กองทัพอยากให้เกิดขึ้น แต่ในทางความเป็นจริงเกิดขึ้นได้ยาก จึงต้องมีระบบเกณฑ์
นายทหารหลายคนอธิบายพร้อมตั้งข้อสังเกตแนวทางยกเลิกเกณฑ์ทหารตามที่พรรคอนาคตใหม่เสนอ สรุปได้ดังนี้
1.ปัจจุบันกองทัพก็ใช้ระบบผสมอยู่แล้ว คือมีทั้งสมัครใจ และการเกณฑ์ แต่ยอดผู้สมัครใจมีไม่มากพอเท่ากับจำนวนกำลังพลที่ต้องการจริง ทำให้ยังต้องมีระบบเกณฑ์อยู่
2.แม้ในอนาคตยอดสมัครใจอาจจะสูงขึ้น แต่ก็อาจเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดในบางปี ไม่มีความเสถียร คือไม่แน่ว่าปีนี้ยอดสมัครสูง แล้วปีหน้าจะต้องสูงด้วย ในขณะที่ภารกิจของกองทัพในการใช้กำลังพล มีจำนวนที่ชัดเจนทุกปี
3.การคำนวณกำลังพลที่ต้องการจากการเกณฑ์ทหาร (รวมทั้งสมัครใจ) ไม่ใช่กำหนดตัวเลขขึ้นมาลอยๆ แต่มาจากการคิดคำนวณตามภารกิจ เรียกว่า “ใช้ภารกิจเป็นตัวตั้ง” ยอดเต็มอยู่ที่ปีละราวๆ 1 แสนนาย ตัวเลขนี้ดูเผินๆ อาจจะมองว่ามาก แต่ถ้าลองสมมุติสถานการณ์การใช้กำลังพลในระดับกองร้อย ในพื้นที่ที่มีปัญหาความมั่นคง เช่น พื้นที่ชายแดน จะพบความจริงอีกด้านหนึ่ง
กำลังพล 1 กองร้อย จะมี 150 นาย หักยอดทำงานธุรการ เช่น งานเอกสาร งานประกอบเลี้ยง งานส่งกำลังบำรุง ฯลฯ สมมุติหักไป 30 นาย จะเหลือกำลังราวๆ 120 นาย
กำลังพลทุกนายใน 1 เดือน (30 วัน) ต้องมีผลัดพัก เกณฑ์ที่ใช้กันในหน่วยทหาร คือ ทำงาน 20 วัน พัก 10 วัน เท่ากับแต่ละช่วงเวลา (ทุกๆ 10 วัน) จะมีกำลังพลปฏิบัติงานจริง 80 นายเท่านั้น เพราะหักพักไป 40 นาย
กำลังพล 80 นายต้องแบ่งกันทำงานตลอด 24 ชั่วโมง สมมุติเป็น 3 กะ จะเหลือกะละ 25-27 นายเท่านั้น แต่ภารกิจที่รับผิดชอบมีมาก เช่น ลาดตระเวน, รปภ.สถานที่, รปภ.หน่วย, รปภ.ครู-นักเรียน (อย่างในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้)
สาเหตุที่ต้องพัก และแบ่งการทำงานเป็นกะ ก็เพราะกำลังพลไม่ใช่ “หุ่นยนต์” ที่จะทำงานได้ตลอดเวลา และสาเหตุที่แบ่งการทำงานออกเป็น 20 วัน พัก 10 วัน ก็เพื่อให้มีเวลาเดินทางกลับภูมิลำเนา ไปอยู่กับครอบครัว การทำงานแบบสัปดาห์ละ 5 วัน แล้วให้หยุดเสาร์-อาทิตย์ ใช้กับราชการสนามไม่ได้ เนื่องจากภารกิจแตกต่างกัน
4.แม้ปัจจุบัน “สงครามตามแบบ” (ที่ต้องใช้กำลังพลจำนวนมาก) จะเริ่มลดน้อยลง แต่หน่วยทหารมีมากขึ้น ก็ต้องใช้เวรยาม กองรักษาการณ์ จึงยังมีความจำเป็นต้องใช้กำลังพล นอกจากนั้นยังมีภารกิจป้องกันชายแดน ภารกิจการพัฒนาและช่วยเหลือประชาชน ภารกิจถวายงาน ถวายการอารักขา ซึ่งล้วนมีความจำเป็น นอกจากนั้นเมื่อบ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีความขัดแย้งภายใน ทหารเกณฑ์คือมวลกำลังหลักในการแก้ปัญหา
5.การใช้ระบบเกณฑ์ เฉพาะเมื่อมีสงคราม จะไม่ทันการณ์ แต่การที่มีทหารเกณฑ์อยู่แล้ว เท่ากับมีกำลังพร้อมใช้ทันที นอกเหนือจากภารกิจอื่นที่กำลังพลประจำการรับผิดชอบอยู่แล้ว
6.การใช้ระบบสมัครใจ แล้วขยายเวลาการเป็นทหาร รวมถึงเปิดช่องทางให้สอบเข้าเป็นทหารประจำการได้ สุ่มเสี่ยงที่จะเป็นการเพิ่มกำลังพล เพิ่มค่าใช้จ่าย เป็นภาระงบประมาณมากกว่าระบบเดิม แม้จะคำนวณกำลังพลได้ตามภารกิจ แต่เมื่อกำลังพลรับราชการไปนานๆ ก็ต้องมีเส้นทางการเติบโต และไม่สามารถใช้งานในภารกิจซ้ำเดิมได้ตลอด เช่น ภารกิจลาดตระเวนตามแนวชายแดน ภารกิจในกองรักษาการ ซึ่งภารกิจเหล่านี้ใช้กำลังพลจำนวนมากกว่ากำลังพลชำนาญการ
7.ปัจจุบันกองทัพใช้ระบบ “อาสาสมัคร” สำหรับบางภารกิจอยู่แล้ว เช่น ภารกิจตามแนวชายแดน ใช้อาสาสมัครทหารพราน มีเงินเดือนและมีสวัสดิการระดับหนึ่ง แต่น้อยกว่าทหารประจำการ และมีอายุการทำงานชัดเจน เช่น อายุไม่เกิน 35 ปี แต่ระบบอาสาสมัครแบบนี้ ใช้ได้เฉพาะบางภารกิจเท่านั้น แต่บางภารกิจก็ใช้ไม่ได้ เช่น ภารกิจกองรักษาการ หากใช้ระบบอาสาสมัคร แล้วให้อยู่ยาว ก็จะกลายเป็น รปภ. ไม่ใช่ทหาร
8.การนำทหารไปใช้งานผิดประเภท หรือการละเมิดสิทธิ์ต่างๆ แม้จะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง แต่ถ้าคิดเป็นอัตราส่วน ก็เป็นส่วนน้อยเท่านั้น จึงควรแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ใช่ใช้เป็นสาเหตุหรือข้ออ้างของการล้มระบบเกณฑ์
ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลและข้อสังเกตจากทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายที่อยากให้เลิกการเกณฑ์ทหาร และฝ่ายที่ยังเห็นว่าจำเป็นต้องมีระบบเกณฑ์อยู่ต่อไป