แกนนำเครือข่ายต้านสารพิษเกษตร ชี้ มีความพยายามประนีประนอมการแบนสารฯ หลังสหรัฐฯ กดดัน
คาดจะส่งผลทางการเมืองในอนาคต
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) หนึ่งในองค์กรนำสนับสนุนการแบนสารพิษเกษตร 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งพบว่ามีอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ที่มีมติให้มีการเลื่อนการแบนพาราควอต คลอไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซตในวันนี้ว่า จากความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่สหรัฐฯ ได้ส่งจดหมายถึงรัฐบาลแสดงความกังวลในการแบนสารฯ ของไทย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการค้าและส่งออกผลผลิตของสหรัฐฯ จะเห็นได้ชัดเจนว่า มีความพยายามที่จะประนีประนอมและมีการรับลูกกันของฝ่ายการเมืองระหว่างพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์โดยนายสุริยะ ของพปชร.ที่คุมกระทรวงอุตสาหกรรม และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน จาก ปชป. ที่คุมกระทรวงเกษตรฯ
โดยที่ผ่านมา หลังมีจดหมายจากสหรัฐฯ นายสุริยะแสดงท่าทีในที่สาธารณะผ่านสื่อ เปิดทางที่จะให้มีการพิจารณาทบทวนการแบนสารฯ ของคณะกรรมการฯ ในวันที่ 22 ตุลาคม ที่จะส่งผลในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ และต่อมา ทางกระทรวงเกษตรฯ ก็ได้ชงข้อเสนอให้มีการทบทวนการแบนสารฯ โดยเลื่อนการบังคับใช้ไป 6 เดือน ในที่สุด
นายวิฑูรย์กล่าวว่า อาจมีการพูดคุยปรึกษากันในระดับรัฐบาลมาแล้ว ดังจะเห็นได้จากท่าทีของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งท่าทีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีระกุล จากพรรคภูมิใจไทย ที่มีท่าทีที่อ่อนลงจากครั้งที่ผ่านมา และสุดท้าย เสียงโหวตของตัวแทนในคณะกรรมการฯ ดูเหมือนจะไม่มีการแตกแถวแต่อย่างใดในวันนี้
จะมีก็เพียง รมช.กษ.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ จากภูมิใจไทย ที่หนุนการแบนสารมาโดยตลอดที่อาจถูกบล๊อกจากการพิจารณาในครั้งนี้ ดังจะเห็นจากข้อมูลที่นำมาใช้ประกอบการพิจารณาในการตัดสินใจถูกส่งผ่านไปยังรัฐมนตรีโดยตรง
นายวิฑูรย์มองว่าการตัดสินใจในครั้งนี้ เป็นผลมาจากแรงกดดันของสหรัฐฯ เพราะในเนื้อจดหมายแสดงชัดเจนที่ขอให้มีการทบทวนการแบนสารฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไกลโฟเซต และยังอ้างถึงค่าตกค้างของสารพิษที่ยอมรับได้ในสินค้าส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบหากมีการแบนสารฯ เกิดขึ้น ซึ่งมีการขานรับกันของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
นายวิฑูรย์กล่าวว่า ประเด็นเรื่องสารพิษถูกยกระดับเป็นประเด็นทางการเมือง เพราะเป็นเรื่องการทำนโยบายการเมืองกับประชาชนจำนวนมากที่แสดงการสนับสนุนการแบนสารฯ และจะมีผลทางการเมืองและต้องมีการรับผิดชอบทางการเมือง
แม้จะไม่ถึงขั้นต้องลาออก แต่ประชาชนต้องแสดงให้เห็นว่าจะยังสนับสนุนรัฐมนตรีที่มีจุดยืนแบบนี้หรือไม่, นายวิฑูรย์กล่าว
โดยส่วนตัว นายวิฑูรย์กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับมติในครั้งนี้โดยเฉพาะการไม่แบนสารไกลโฟเซต แต่เป็นการจำกัดการใช้แทน เพราะถือว่าเป็นการผลักภาระความเสี่ยงให้กับเกษตรกรและประชาชนที่ต้องบริโภคผักต่างๆ ซึ่งสารดังกล่าวนี้เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าเป็นสารที่ก่อมะเร็ง
และอีกหนึ่งมติที่ให้เลื่อนการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสออกไปอีก 6 เดือน ตนก็ผิดหวังเหมือนกัน ซึ่งเห็นอยู่แล้วว่าการตัดสินใจครั้งนี้เป็นการผลักภาระความเสี่ยงให้กับเกษตรกร
การมีมติลักษณะนี้จึงเท่ากับเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทมากกว่าประชาชน, นายวิฑูรย์กล่าว
หลังจากนี้ ทางเครือข่ายจะหารือว่าจะออกมาเคลื่อนไหวอย่างไร ซึ่งมองว่าการตัดสินใจครั้งนี้ต้องมีคนออกมารับผิดชอบทางการเมืองและความเสี่ยงของประชาชน