'ศาลยุติธรรม' ยกแบบอย่างตรวจอาวุธสนามบินมาใช้ป้องกันเหตุในศาล
จนท.ศาลทั่วประเทศ รับความรู้ผ่านอบรมระบบ Streaming "เลขาฯ ศาลยุติธรรม" ยกแบบอย่างตรวจอาวุธสนามบินมาใช้ป้องกันเหตุในศาล พร้อมเพิ่มคอร์ทมาแชลเป็น 1180 อัตราดูแลความปลอดภัยสถานที่-ตัวบุคคลศาลทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 30 พ.ย.62 ที่ห้องประชุมศูนย์วิทยบริการศาลยุติธรรม ชั้น 6 อาคารศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เวลา 13.20 น. "นายสราวุธ เบญจกุล" เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นประธาน เปิดการบรรยายเพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะในการรักษาความปลอดภัย ที่สำนักงานศาลยุติธรรมจัดขึ้นภายหลังจากที่ช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลาใช้อาวุธปืนยิงตัวเองในห้องพิจารณาคดี, เหตุ 3 ผู้ต้องขังหลบหนีที่ศาลจังหวัดพัทยาโดยใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำศาล รวมถึงเหตุยิงกันของคู่ความคดีในศาลจังหวัดจันทบุรี
โดยเชิญ "พล.ต.อ.สุเทพ เดชรักษา" อดีต รอง ผบ.ตร. ซึ่งปัจจุบันเป็นกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.) และ "น.ส.ทิพย์ธิดา กสิวัตร" ผอ.ส่วนมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย ฝ่ายมาตรฐานและควบคุมคุณภาพการรักษาความปลอดภัยกิจการการบิน บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นวิทยากรให้ความรู้ ซึ่งการบรรยายวันนี้ จัดผ่านระบบ Streaming ถ่ายทอดภาพและเสียงด้วยระบบอินเตอร์เน็ตออนไลน์ เพื่อศาลทั่วประเทศ เข้าร่วมระบฟังการบรรยายได้อย่างพร้อมเพรียงในวันนี้ โดยมีหน่วยงานที่ร่วมรับฟังผ่านระบบดังกล่าว 277 หน่วย จำนวนบุคลากร ที่ร่วมรับฟังการบรรยายไม่น้อยกว่า 2,000 คน
ทั้งนี้ "นายสราวุธ" เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ประธานเปิดการบรรยาย กล่าวว่า วันนี้เป็นการอบรมให้ความรู้และทักษะในการดูแลรักษาความปลอดภัย กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ที่เป็นตัวแทนจากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกฯ (อผศ.) , เจ้าพนักงานตำรวจศาล หรือคอร์ทมาแชล (Court Marshal) , เจ้าหน้าที่ตำรวจ จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่มาประจำที่ศาล และตำรวจตระเวนชายแดนที่ดูแลรักษาความปลอดภัยของศาลในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงผู้อำนวยการศาลทั่วประเทศและหัวหน้าส่วนที่รับผิดชอบในเรื่องของการดูแลรักษาความปลอดภัย ทั้งนี้ศาลยุติธรรมได้นำมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยในสนามบิน ซึ่งเป็นตัวอย่างแบบอย่างที่ดีในการดูแลความปลอดภัย มาเป็นแบบอย่าง เพราะการตรวจค้น รวมถึงระบบรักษาความปลอดภัยอย่างรอบคอบ เพื่อปัญหาการนำอาวุธเข้ามาในบริเวณศาลก็จะไม่เกิดขึ้น
"นายสราวุธ" เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ยังกล่าวอีกว่า ภายหลังจากที่ตนได้ออกหนังสือเวียน ให้ศาลและเจ้าหน้าที่ต่างๆ มีความเข้มงวด เรื่องการตรวจค้นพบอาวุธทั้งอาวุธปืนและอาวุธมีด ทำให้ศาลในหลายพื้นที่สามารถจับกุมอาวุธได้จำนวนมาก เช่น ที่ จ.บึงกาฬ มีการตรวจค้นพบอาวุธ ซึ่งศาลได้ไต่สวนเป็นคดีละเมิดอำนาจศาล จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งจำคุก 2 เดือนโดยไม่รอการลงโทษ นั่นแสดงให้เห็นว่าคดีละเมิดอำนาจศาลและการดำเนินการที่เข้มงวด ประกอบกับการมีระเบียบวินัยของเจ้าหน้าที่ รปภ.จะทำให้การดูแลความปลอดภัยของประชาชนดีขึ้นและไม่เกิดเหตุซ้ำเหมือนที่ศาลจังหวัดจันทบุรี หรือที่ศาลจังหวัดยะลา เป็นต้น
ทั้งนี้ "เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม" ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงการเพิ่มอัตรากำลัง "เจ้าพนักงานตำรวจศาล หรือคอร์ทมาแชล" ด้วยว่า การเพิ่มอัตรากำลังคอร์ทมาแชล ได้รับการอนุมัติจาก ก.ศ.เรียบร้อย โดย ด.ศ. และประธานศาลฎีกาได้ให้ความเห็นชอบแล้ว พร้อมประกาศกำหนดกรอบอัตราเจ้าพนักงานตำรวจศาลจากปัจจุบัน 309 อัตรา ให้เพิ่มเป็น 1,180 อัตรา "อัตรากำลังที่จะเพิ่มขึ้นมากว่า 1,000 คนสามารถ กระจายไปดูแลความปลอดภัยศาลได้ทั่วประเทศ ซึ่งไม่ได้ใช้จำนวนคนมาก แต่เปรียบเสมือนตัวแทนของหน่วยงานรักษาความปลอดภัยของศาล เพื่อจะกระจายและมีการตรวจสอบได้ว่าแต่ละศาลนั้นรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานที่เรากำหนดหรือไม่" เลขาธิการศาลยุติธรรม กล่าวในตอนท้ายว่า ในปี 2562 นี้ ตนได้ออกหนังสือเวียน 2 ฉบับเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยที่ได้เน้นย้ำแผนฉุกเฉินว่าหากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือเหตุร้ายจะต้องดำเนินการอย่างไร และเมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมาตนได้มีหนังสือเวียนอีกฉบับที่มีข้อสั่งการไปกว่า 30 ข้อ ว่าหากเกิดการปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวกับตำรวจที่มาประจำอยู่ศาล , ในส่วนที่กรมราชทัณฑ์ที่ส่งมาประจำอยู่ที่ศาล รวมทั้งเจ้าหน้าที่ รปภ. จากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกฯ ทั้งหมดนั้นจะต้องมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนว่าต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อความปลอดภัยในการดูแลทั้งสถานที่และตัวบุคคล