แนะตั้ง 'กรรมการร่วม' สางปมยืดแบนสารพิษ
"หมอระวี" แนะหาทางออก ปมยืดแบนสารพิษ โดยการตั้งกรรมการร่วม 2 ฝ่าย ชูเกษตรอินทรีย์ต้องเป็นวาระแห่งชาติ
นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความขัดแย้งทางการเมืองในซีกพรรคร่วมรัฐบาล หลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเลื่อนแบนสารเคมี 2 ชนิดคือพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ส่วนไกลโฟเซตให้ใช้ได้ตามประกาศควบคุมว่า ความขัดแย้งทางการเมืองช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ต่างจากปัจจุบัน ครั้งที่แล้วเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนข้างหนึ่งกับรัฐบาลอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ครั้งนี้เป็นความเห็นต่างใน 3 พรรคร่วมรัฐบาล คือพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ จึงกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชน 2 ฝ่าย ระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยกับการแบนสารเคมีกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแบนสารเคมี
นายแพทย์ระวี กล่าวว่า สิ่งที่ควรเร่งให้เกิดขึ้นคือ พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 3 พรรคต้องเร่งเดินหน้าพูดคุยกันว่า จะมีมาตรการใดในช่วง 6 เดือนที่เลื่อนแบนสารเคมี ต้องคุยกันให้ชัดเจน เพราะทั้งสองฝ่ายจะไม่หยุด เมื่อชะลอการแบนสารเคมีไป 2 ตัวแล้ว แต่ยังเหลืออีกตัวหนึ่งที่ไม่มีการแบน ฝ่ายที่อยากให้แบนก็ต้องสู้ต่อ ส่วนฝ่ายเกษตรกรที่ไม่อยากให้แบนก็สู้ต่อเช่นกัน เพราะต้องการควบคุมสารเคมีทั้ง 3 ตัว โดยไม่ให้มีการแบน หากฝ่ายการเมืองยังไม่มีข้อสรุปลงตัวชัดเจน สุดท้ายก็จะเกิดความขัดแย้งในภาคประชาชน จึงเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง
นพ.ระวี กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่มีท่าทียอมรับมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายนั้น นายกรัฐมนตรีอาจจะตัดสินใจเรียกทั้ง 3 ฝ่ายมาพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป แต่ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรกลับมติ ควรยืนยันการแบนสารเคมีทั้ง 3 ตัว โดยให้มีบทเฉพาะกาลช่วงเปลี่ยนผ่าน 6 เดือน กำหนดมาตรการผ่อนผันหาทางออกให้เกษตรกรปรับตัว และทุกอย่างก็จะราบรื่นมากขึ้น
นพ.ระวี กล่าวว่า ประเด็นนี้ไม่ใช่ความขัดแย้งทางการเมือง แต่เป็นความเห็นต่างระหว่างพรรคภูมิใจไทยกับพรรคพลังประชารัฐ เกี่ยวกับมุมมองต่องานที่รับผิดชอบ แต่หากยังเป็นแบบนี้ความขัดแย้งทั้งสองฝ่ายจะไม่จบ จึงต้องหาทางออกด้วยการพิสูจน์ความจริงให้ปรากฏ ซึ่งในช่วงที่ตนเองทำงานกรรมาธิการได้ศึกษาข้อมูลงานวิจัยจากทั้งฝ่ายภาคประชาชน ขณะเดียวกันฝ่ายที่สนับสนุนและบริษัทนำเข้าสารเคมีก็มีรายงานวิจัยมาอ้างอิงว่าไม่มีสารตกค้าเช่นเดียวกัน จึงเสนอขอให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วน ตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อศึกษาวิจัยหาความจริง โดยมีตัวแทนจากทั้งสองฝ่ายเก็บตัวอย่างทั้งน้ำและดิน หรือสุ่มตรวจขี้เทาของเด็กแรกเกิดว่ามีสารพิษตกค้างจริงหรือไม่ และให้มีคนกลางอย่างเช่นแพทยสภา ซึ่งน่าจะใช้งบประมาณไม่มาก และควรศึกษาบทเรียนจากต่างประเทศว่าทำไมสามารถแบนสารพิษได้โดยไม่มีการประท้วง เพราะมีกระบวนการทำความจริงให้ปรากฏที่ค่อนข้างชัดเจน
“ส่วนตัวแล้วต้องการให้แบนสารเคมีภาคเกษตรกรรมทุกชนิด และต้องการให้ทำเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบ ซึ่งกรรมาธิการเคยเชิญหน่วยงานทางการเกษตรและผู้ว่าราชการจังหวัดหรือตัวแทนมารายงานข้อมูล พบผลที่น่าตกใจว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์อยู่นิดเดียว โดยมีนาข้าวสูงสุดที่หลักแสนไร่ ส่วนที่เหลือเป็นหลักพันและหลักหมื่นไร่เท่านั้น ถือว่าน้อยหากเทียบกับประเทศไทยที่มีพื้นที่เป็นล้านล้านไร่” นพ.ระวี กล่าว
นพ.ระวี กล่าวต่อว่า ตนขอเสนอให้รัฐบาลต้องตั้งเรื่องเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ กำหนดนโยบายกำหนด งบประมาณและการบูรณาการให้เป็นรูปธรรม 2.) เสนอให้รัฐบาลใช้งบประมาณปี 2563 ตั้งเขตเศรษฐกิจพอเพียงทุกอำเภอ เพื่อกำหนดโซนนิ่งปลูกเกษตรอินทรีย์ให้ชัดเจน มีฝ่ายการตลาดทำการตลาดให้พื้นที่เกษตรอินทรีย์ และคาดว่าจะทำให้พื้นที่เกษตรอินทรีย์มีจำนวนมากขึ้นทุกปี หากทำแบบนี้เกษตรกรจะมีโอกาสปรับตัวและจะไม่ส่งผลกระทบให้เกิดวิกฤตอาหาร แต่หากประกาศแบนทันที ก็ไม่มั่นใจเหมือนกันว่าจะมีข้าวโพดกินไหม จะมีผักกินพอหรือไม่ เพราะเกษตรกรปลูกผักด้วยสารเคมีจากความเคยชิน หากประกาศแบนทันทีอาจกระทบ ไม่ได้ผลิตผล ซึ่งตนเองทำมา 30 ปี การจะทำให้เกษตรอินทรีย์ได้ผลต้องเตรียมดินอยู่ 2-3 ปี ต้องอดทนที่มันจะขาดทุนไปก่อน
ส่วนกรณีสภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์ 423 ต่อ 0 เสียงเห็นชอบผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการ จะเป็นความหวังให้การเดินหน้าเกษตรอินทรีย์เกิดได้จริงหรือไม่นั้น นพ.ระวี กล่าวว่า โอกาสที่เกิดแบบนี้ในสภาผู้แทนราษฎรน้อยมาก แสดงว่า ส.ส.ทั้งสภาเห็นชอบกับการให้เกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติตามที่คณะกรรมาธิการได้เสนอ ดังนั้นจึงคิดว่ากรรมาธิการในสภาก็ต้องไปผลักดันที่รัฐบาลต่อ ส่วนตัวตนเองก็ต้องพยายามไปคุยกับรัฐบาลให้กำหนดเป็นนโยบายแห่งชาติ ทำให้เกิดขึ้นจริงจัง เพื่อสุขภาพของประชาชน