เปิดร่างกฎหมาย 'สุราก้าวหน้า' หวังทลายทุนผูกขาด
พรรคอนาคตใหม่เสนอร่างกฎหมาย “สุราก้าวหน้า” ชู 3 ประเด็น ปลดล็อก มุ่งทลายเศรษฐกิจผูกขาด เปิดโอกาสชุมชนแข่งขัน เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ยังไม่ได้มองแค่น้ำเมา แต่เน้นมิติวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น เภสัชวิทยา ผลลัพธ์เศรษฐกิจ ทรัพย์สินทางปัญญา และภาษี
- เปิดทางรายย่อยแข่งรายใหญ่
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าว มีสาระสำคัญ 3 ประเด็น คือ
แก้ไขมาตรา 153 ของ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ห้ามกำหนดเกณฑ์ กำหนดกำลังการผลิต จำนวนคนงาน เงินทุน เพื่อปลดล็อกทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้ามาอยู่ในธุรกิจสุรา เปิดโอกาส สร้างศักยภาพทางการแข่งขัน
ถัดมา คือ ภาษีขั้นบันไดตามกำลังการผลิต เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดเล็ก สามารถทำธุรกิจ แข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ และสุรานำเข้า อย่างเป็นธรรม เกิดการใช้สินค้าเกษตรในประเทศมากขึ้น
สุดท้าย คือ การปลดล็อกการปรุงแต่งสุรา ให้สามารถแต่งกลิ่น แต่งสี หมักสมุนไพร และเพิ่มใบอนุญาตปรุงแต่งสุรา เนื่องจากประเทศไทยมีความหลากหลายทั้งพืช ผัก ผลไม้ ถือเป็นการส่งเสริมสุราพื้นบ้าน ให้สืบสานต่อยอดต่อไปได้
- สมาคมสุราชุมชนชี้เปิดเสรีไม่จริง
ขณะที่ นายสมบูรณ์ แก้วเกรียงไกร นายกสมาคมสุราชุมชน ซึ่งมีสมาชิกทั่วประเทศกว่า 2,000 ราย ระบุว่า ที่ผ่านมา มีการเปิดเสรีสุรา ตั้งแต่ พ.ศ.2546 แต่เสรีไม่หมด จึงเป็นเรื่องที่ลำบากที่พยายามต่อสู้กันมากว่า 20 ปี
ซึ่งในครั้งแรก อนุญาตให้ทำเพียงสุราแช่ เช่น สาโท ไม่ให้ทำสุรากลั่น หลังจากมีการประท้วง จึงอนุญาตให้ทำสุรากลั่น แต่ก็ไม่ให้ทำสุราแต่งสี และเบียร์ ดังนั้น จึงต้องเรียกร้องไปเรื่อย เพราะหากเป็นสุรากลั่นอย่างเดียว การทำการตลาดก็ยาก ไม่มีการเติบโต เราแข่งกับเขาไม่ได้อยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีเรื่องระบบการจำหน่าย ทั้งนี้ หากเปิดโอกาสให้เราได้ทำเหล้าสี เบียร์ ก็จะมีช่องทางในการทำธุรกิจมากขึ้น
- นโยบายดันภูมิปัญญาชุมชน
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวในหัวข้อ โอกาสและรายละเอียดร่างนโยบาย “สุราก้าวหน้า” โดยระบุว่า ร่างนโยบาย “สุราก้าวหน้า” จะเกิดประโยชน์ต่อธุรกิจรายย่อย สร้างโอกาสในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรไทย
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกข้าวข้าวอินดิกา (Indica) ไปญี่ปุ่น เพื่อผลิตเหล้าอะวาโมริ 2 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 3 พันล้านบาท ญี่ปุ่นส่งออกเหล้าอะวาโมริ กลับมาขายที่ทองหล่อ ราคาราว 2,500 บาทต่อลิตร คิดเป็นมูลค่าเพิ่มประมาณ 170 เท่า นี่คือโอกาสของวัตถุดิบไทยที่ต่างชาติเห็นคุณค่า แต่คนไทยไม่มีโอกาสได้ทำ
ทั้งนี้ ตัวเลขในประเทศที่มีกฎหมายกดทับอยู่ขณะนี้ มีเหล้ากลั่นราว 2,000 โรง เหล้าแช่ 2,000 โรง และคราฟต์เบียร์ 70 ยี่ห้อ เราไม่ได้มองว่าเป็นแค่น้ำเมา แต่มองไปถึงความเป็นวัฒนธรรม เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ สูญความลับทางการค้า รวมไปถึงด้านวิทยาศาสตร์ ทั้งด้านเภสัชวิทยา มาตรฐานคุณภาพ กระบวนการหมัก ต้ม กลั่น การจัดเก็บ เชื่อมโยงไปยังเรื่องของเศรษฐกิจ ทั้งพืชที่ได้ประโยชน์ ผลลัพธ์เศรษฐกิจ ทรัพย์สินทางปัญญา ภาษีควบคุม และภาษีก้าวหน้า
“ทางทีมงานของพรรค ได้มีโอกาสไปที่ จ.แพร่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของสุราชุมชนไทย พบว่ามีการรวมตัวกัน 200 ยี่ห้อ ยอดขาย 1,000 ล้านบาท เสียภาษีให้รัฐ 400 ล้านบาท เหล้าขาวของชาวสะเอียบ เป็นภูมิปัญญาที่มีมากว่า 200 ปี
ขณะที่ ข้อมูลของกรมศุลกากร กรมสรรพสามิต ระบุว่า มูลค่าตลาดของคราฟต์เบียร์ (Craft Beer- การผลิตเบียร์แบบ Handmade ปรุงแต่งให้มีรสชาติและกลิ่นเฉพาะตัว ใช้วิธีหมักเบียร์แบบดั้งเดิม โดยผู้ผลิตขนาดย่อมในโรงเบียร์ขนาดเล็ก) ในปัจจุบัน ประมาณการได้ราว 122-180 ล้านบาทต่อปี และมูลค่าตลาดสุราชุมชน อยู่ที่ 2,800-3,200 ล้านบาทต่อปี"
จึงหวังว่า การปลดล็อกกฎหมายดังกล่าว มีเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งตลาดคราฟต์เบียร์ให้เติบโตขึ้น 11 เท่า และสุราชุมชนให้เติบโตเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่า นอกจากนี้ การปลดล็อกอุตสาหกรรมสุรา จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท
- เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดคราฟต์เบียร์
นายพิธา กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีการปลดล็อกกฎหมายสุราไปแล้ว ได้แก่
- ญี่ปุ่น เมื่อปี 1994 กฎหมายสำคัญ คือ ผลิต Low Malt ขั้นต่ำ 6 พันลิตร ต่อปี (เทียบกับของไทย 1 แสนลิตรต่อปี)
- ฮ่องกง ปี 2000 กฎหมายสำคัญ คือ เหล้าที่มีแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 30% ภาษี 0% เหล้าที่มีแอลกอฮอล์สูงกว่า 30% ภาษี 100%
- ไต้หวัน ปี 2002 กฎหมายสำคัญคือ ภาษีเบียร์ 26 ดอลลาร์ไต้หวันต่อลิตร ต่อแอลกอฮอล์ ภาษีเหล้าหมัก 7 ดอลลาร์ไต้หวันต่อลิตร ภาษีเหล้ากลั่น 2.5 ดอลลาร์ไต้หวันต่อลิตร ต่อแอลกอฮอล์
- สิงคโปร์ เมื่อปี 2004 กฎหมายสำคัญ คือ อนุญาตให้ผลิตเบียร์ในบ้านได้ ไม่เกิน 30 ลิตรต่อเดือน
- เดินสายรับฟังความเห็นชุมชน
หลังจากนี้ ในวันที่ 25-26 มกราคม จะมีงาน Future Fest เกี่ยวกับวัฒนธรรม ดนตรี และสุราชุมชน โดยเปิดเวทีพูดคุย รับฟังความคิดเห็น หลังจากนั้นจะเดินทางไปที่ จ.สุรินทร์ ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ และสุดท้ายคือ 15 กุมภาพันธ์ จะเดินทางไปที่ จ.แพร่ เพื่อดูสุราล้านนาและวัตถุดิบต่าง ๆ และจะทำร่างแก้ไข พ.ร.บ. ต่อไป
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวปิดท้ายว่า ด้วยนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งประกอบด้วย 8 เรื่องหลัก คือ การทลายเศรษฐกิจผู้ขาด ขนส่งสาธารณะเพื่อทุกคน เกษตรก้าวหน้า เศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อประชาชน เปิดข้อมูลรัฐกำจัดทุจริต โอบรับความหลากหลาย เท่าเทียม สิ่งแวดล้อมยั่งยืน และปฏิรูปกองทัพ ทั้งนี้ การเสนอร่างกฎหมายสุราในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการ “ทลายเศรษฐกิจผูกขาด” ล้างระบบเส้นสาย หยุดทุนใหญ่ กินรวบประเทศ