เรือ 'สตม.' 348 ล้านฉาว
สตม. ยามนี้ กำลังกลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” เพราะมีเรื่องฉาวโฉ่เกี่ยวกับการจัดซื้อที่ไม่ชอบมาพากลโผล่ขึ้นมาให้ได้ตรวจสอบอยู่เป็นระยะๆ
นอกจากจะถูกตรวจสอบเรื่องการจัดซื้อระบบตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลเทคโนโลยีไบโอเมทริกซ์ มูลค่า 2,100 ล้านบาท ที่นำมาใช้ในท่าอากาศยานนานาชาติ และด่านชายแดนต่างๆ ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยมี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ถูกกล่าวหาด้วยแล้ว
ยังตามด้วยรถสายตรวจไฟฟ้าอัจฉริยะ มูลค่า 900 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 โครงการถูกแฉว่าจัดซื้อแพงเกินจริง ใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และอาจมีรายการ “ฮั้ว” ในการจัดซื้อ
แต่โครงการจัดซื้ออื้อฉาวใน สตม.ไม่ได้หมดแค่นี้ ยังมีอีก 1 โครงการที่ต้องจับตา นั่นก็คือ “โครงการจัดซื้อเรือตรวจการณ์” สตม. จำนวน 27 ลำ งบประมาณรวมถึง 348 ล้านบาท (348,100,500 บาท)
สำหรับเรือตรวจการณ์ที่จัดซื้อ เป็นเรือยนต์ 2 ประเภท 2 ขนาด คือ เรือยนต์ขนาด 21 ฟุต ติดเครื่องยนต์ท้าย 1 เครื่องยนต์ จำนวน 8 ลำ ราคาลำละ 7,437,500 บาท รวม 59,500,000 บาท และเรือยนต์ขนาด 32 ฟุต ติดเครื่องยนต์ท้าย 2 เครื่องยนต์ จำนวน 19 ลำ ราคาลำละ 15,189,500 บาท รวม 288,600,500 บาท มูลค่าในการจัดซื้อเรือยนต์ทั้ง 2 ประเภท 348,100,500 บาท
วัตถุประสงค์ที่อ้างเป็นเหตุผลในการจัดซื้อ คือเพื่อใช้ตรวจการณ์บริเวณชายแดน เน้นชายแดนด้านที่ติดนํ้า โดยเรือขนาด 21 ฟุต 8 ลำ ส่งมอบแล้ว 3 งวด แบ่งเป็น งวดที่ 1 จำนวน 2 ลำ มอบให้ ตม.จังหวัดมุกดาหาร และจ.อุบลราชธานี งวดที่ 2 จำนวน 3 ลำ ส่งมอบให้กับ ตม.จังหวัดสตูล, ฉะเชิงเทรา, หนองคาย และงวดที่ 3 จำนวน 3 ลำ ส่งมอบให้ ตม.นครพนม, บึงกาฬและด่าน ตม.ท่าเรือกรุงเทพ
ขณะที่เรือยนต์ขนาด 32 ฟุต 19 ลำ ทยอยส่งมอบเป็น 5 งวด โดยงวดที่ 1 จำนวน 2 ลำ ส่งมอบให้ ตม. นครศรีธรรมราช และตรัง งวดที่ 2 จำนวน 4 ลำ ส่งมอบให้ ตม.สตูล, ตราด, สมุทรสาคร, สมุทรปราการ งวดที่ 3 จำนวน 4 ลำ ส่งมอบให้ ตม.ภูเก็ต, สงขลา 2 ลำ และกระบี่
สำหรับงวดที่ 4 จำนวน 4 ลำ ส่งมอบให้ด่าน ตม.เชียงแสน, ระนอง, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร และงวดที่ 5 จำนวน 5 ลำ ส่งมอบให้ ตม.จันทบุรี, ระยอง, ชลบุรี, ปัตตานี, สุราษฎร์ธานี
การจัดซื้อเรือตรวจการณ์ ให้กับหน่วยงานอย่าง สตม. ทำ ให้เกิดคำถามเรื่องความเหมาะสมและตรงตามภารกิจจริงหรือไม่ เพราะหากจะอ้างเรื่องการตรวจลำนํ้า หรือผลักดันคนเข้าเมืองผิดกฎหมายทางนํ้า ก็สามารถประสานกับกองบังคับการตำรวจนํ้า ซึ่งมีเรือและยุทโธปกรณ์ครบถ้วนกว่าได้
นอกจากนั้น เฉพาะในลำนํ้าโขง ยังมีหน่วยปฏิบัติการพิเศษตามลำแม่นํ้าโขง หรือ นปข. คอยลาดตระเวน สอด แนม และดูแลด้านความมั่นคงทุกจังหวัดริมแม่นํ้าโขงด้วย
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า โครงการจัดซื้อเรือยนต์ตรวจการณ์ของ สตม. ดำเนินการโดยสำนักงานส่งกําลังบํารุง (สกบ.) สํานักงานตํารวจแห่งชาติ แต่ใช้งบประมาณจากเงินค่าธรรมเนียมที่เก็บตามด่านตรวจคนเข้าเมือง มาใช้ในการจัดซื้อ
เริ่มโครงการในยุค พล.ต.ท.ณัฐธร เพราะสุนทร เป็นผู้บัญชาการ สตม. โดยเรือยนต์ตรวจการณ์ต่อเสร็จและมีการส่งมอบกันช่วงปี 2561 ซึ่งเป็นช่วงที่ พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น หรือ “บิ๊กบัว” เพื่อนร่วมรุ่น นรต.36 ของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มานั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการ สตม. ต่อ จาก พล.ต.ท.ณัฐธร ขณะที่ พล.ต.ท.ณัฐธร เป็นสายตรง นายกฯลุงตู่ เข้ามารับหน้าที่หลังเกิดเหตุวิกฤติอุยกูร์ลอบวาง ระเบิดบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ปี 2559 (จากนั้นก็มีการเสนอจัดซื้อระบบไบโอเมทริกซ์)
นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลว่า ในช่วงที่มีการส่งมอบเรือยนต์ตรวจการณ์ไปประจำตามด่าน ตม.ในหลายจังหวัดที่มีพื้นที่ปฏิบัติการทางนํ้า ปรากฏว่า สตม.ไม่มีกำลังพลที่สามารถขับเจ้าเรือยนต์ตรวจการณ์นี้ได้ จนต้องโอนย้ายเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานข้างเคียงที่สามารถขับเรือได้มาเป็นตำรวจ สตม.
จากการตรวจสอบไปยังผู้สื่อข่าวเนชั่นประจำจังหวัดต่างๆ ริมแม่นํ้าโขง ส่วนใหญ่ได้รับการยืนยันว่า แทบไม่เคยเห็นเรือตรวจการณ์ของ สตม.ออกปฏิบัติการในลำนํ้า โดยมากเห็นจอดอยู่บนบก เช่น ในโรงจอดรถของหน่วย จนเกิดคำถามว่ามีการใช้งานคุ้มค่ากับงบประมาณลำละหลายล้านบาท หรือทั้งโครงการ 348 ล้านบาทหรือไม่