'กรมประมง' ประกาศปิดอ่าวไทย 3 เดือนช่วงปลาวางไข่
"กรมประมง" ประกาศปิดอ่าวไทย 3 เดือนตั้งแต่ 15 ก.พ.- 15 พ.ค. ช่วงฤดูปลาวางไข่ หวังเพิ่มทรัพยากรสัตว์น้ำ
เมื่อวันที่ 5 ก.พ.63 นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง เตรียมประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ทะเลอ่าวไทยตอนกลาง ประจำปี 2563 ในเขตพื้นที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 พฤษภาคม 2563 ต่อด้วยเขตพื้นที่พิเศษ 7 ไมล์ทะเล และพื้นที่อ่าวประจวบ-หัวหิน อีก 30 วัน เผยผลการศึกษาพบมาตรการฯ ที่บังคับใช้ สอดคล้องกับวงจรชีวิตปลาทู สามารถฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืน โดยมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ทะเลอ่าวไทย หรือที่เรียกว่า ปิดอ่าวไทย คือ แนวทางการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีใช้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นนโยบายที่กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญอย่างมาก และเป็นภารกิจหลักของกรมประมงที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีสถิติการตรวจสอบเก็บข้อมูลทางวิชาการ ทั้งในเรื่องของจำนวน และความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์น้ำ พบว่า จำนวนสัตว์น้ำในกลุ่มปลาทูลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับห้วงเวลาเดียวกันในอดีต ซึ่งมาจากหลายเหตุปัจจัย ทั้งเรื่องของความเสื่อมโทรมของทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม ความต้องการของผู้บริโภค และมีเรือประมงบางส่วนที่ใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิดที่มีประสิทธิภาพสูงเข้ามาทำการประมงในพื้นที่ ประกอบกับเมื่อมีการติดตามสภาวะทรัพยากรสัตว์น้ำในแต่ละปีหลังจากมาตรการปิดอ่าว พบว่าลูกพันธุ์สัตว์น้ำที่เกิดขึ้นในช่วงมาตรการและอาศัยอยู่ในแนวชายฝั่งถูกจับขึ้นมาจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นต้นเหตุของปริมาณสัตว์น้ำที่ลดจำนวนลงทั้งสิ้น
แต่เมื่อหลังจากที่ได้มีการปรับปรุงกฎหมายพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พร้อมทั้งมีมาตรการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ทำให้จำนวนประชากรสัตว์น้ำเริ่มฟื้นฟูกลับคืนมาจำนวนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการใช้มาตรการอนุรักษ์อย่างเหมาะสมและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวประมงมากนัก เมื่อปี พ.ศ. 2561 กรมประมงได้มีการออกประกาศ ลงวันที่ 31 มกราคม 2561 เพื่อกำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูปิดอ่าวไทยให้ชัดเจนยิ่งขึ้น พื้นที่ปิดอ่าวไทยตอนกลาง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 27,000 ตารางกิโลเมตร บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี (เขต 1) ระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 15 ก.พ. – 15 พ.ค.ของทุกปี และได้กำหนดให้เครื่องมือประมงบางชนิดของกลุ่มประมงขนาดเล็กซึ่งไม่กระทบกับมาตรการปิดอ่าวให้สามารถใช้ทำการประมงได้ ดังนี้
เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่างที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 16 เมตร ต้องทำการประมงในเวลากลางคืน และต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง เครื่องมืออวนติดตาปลาที่ใช้ประกอบเรือกลที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส และต้องใช้ช่องตาอวนตั้งแต่สองนิ้วขึ้นไป กรณีที่ชาวประมงต้องการใช้เครื่องมืออวนติดตาปลาที่มีความยาวอวนเกิน 2,500 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ จะต้องใช้นอกเขตทะเลชายฝั่ง เท่านั้น เครื่องมืออวนปู อวนลอยกุ้ง เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง ลอบปู ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนด ลอบหมึกทุกชนิด ซั้งทุกชนิดที่ใช้ประกอบทำการประมงพื้นบ้าน
สามารถทำการประมงได้ในเขตทะเลชายฝั่ง คราดหอย ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนด อวนรุนเคย ต้องทำการประมงตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยประกาศกระทรวงฯ จั่น ยอ แร้ว สวิง แห เบ็ด สับปะนก ขอ ลอบ ฉมวก และเครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าไม่ถึง 280 แรงม้า ประกอบเครื่องมือทำการประมงที่มิใช่เครื่องมือตามประเภท วิธีการทำการประมงที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนดให้เป็นประมงพาณิชย์ทำการประมง ยกเว้นอวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตัก ที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) และที่ห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง วิธีการทำการประมง และพื้นที่ทำการประมงที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560
นอกจากนี้ ยังได้มีการกำหนดให้หลังเปิดอ่าวตอนกลางแล้ว ให้ปิดอ่าวต่อที่เขตพื้นที่พิเศษ 7 ไมล์ทะเล และพื้นที่อ่าวประจวบฯ อีก 30 วัน เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ สอดคล้องกับวงจรชีวิตปลาทู ทำให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และจากการสุ่มเก็บตัวอย่างประชากรปลาทูช่วงมาตรการปิดอ่าวไทยปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าจำนวน อายุ และขนาดความยาวของปลาทู สามารถบ่งชี้ถึงความหมาะสมของการใช้มาตรการปิดอ่าวไทยฯ ดังนี้ ช่วงการประกาศใช้มาตรการปิดอ่าว 15 ก.พ. – 15 พ.ค. ระยะเวลา 90 วัน ประจวบฯ ชุมพร สุราษฎร์ฯ พ่อแม่ปลาทูมีความสมบูรณ์เพศ ผสมพันธุ์ และมีการแพร่กระจายของลูกปลาทู-ปลาลัง และปลาเศรษฐกิจขนาดเล็ก ซึ่งสอดคล้องกับการประกาศใช้มาตรการฯ ช่วงต่อเนื่องระยะ 7 ไมล์ทะเล 16 พ.ค. – 14 มิ.ย. ระยะเวลา 30 วัน ในอ่าวตอนกลาง : ลูกปลาวัยอ่อนที่เกิดบริเวณพื้นที่มาตรการมีโอกาสเลี้ยงตัวบริเวณชายฝั่ง ช่วงพื้นที่อ่าวประจวบฯ จากเขาตาม่องไล่ ถึง อ.หัวหิน 16 พ.ค. – 14 มิ.ย. ระยะเวลา 30 วัน : ลูกปลาขนาดเล็ก เดินทางเคลื่อนเข้าสู่อ่าวไทยรูปตัว ก
เมื่อถึงวันที่ 15 มิ.ย. – 30 ก.ย. กรมประมงก็จะมีการประกาศปิดอ่าวตัว ก เพื่อรักษาปลาทูสาวให้เจริญเติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์ และพร้อมเดินทางลงไปผสมพันธุ์วางไข่ในช่วง ก.พ. (ปิดอ่าวไทย)
ทั้งนี้ ปริมาณสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นพบว่าปี 62 หลังจากเปิดอ่าว เรืออวนล้อม จับสัตว์น้ำได้เพิ่มขึ้น 114,056 ตัน แบ่งเป็นชนิดพันธุ์ปลาทู จับได้ในเดือนมิ.ย.จาก 578 ตัน เป็น 1,880 ตันในเดือนก.ค.
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่ากรมประมง แจ้งผู้ประสงค์ทำการประมงพาณิชย์ กว่า 1 หมื่นลำ ในน่านน้ำไทย รอบปีการประมง 63-64 สำหรับเรือประมง-ขนาด 10 ตันกรอสขึ้นไป หรือเรือประมงที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้า 280 แรงม้าขึ้นไป หรือเป็นเรือที่มีหรือใช้เครื่องมือทำรมว.เกษตรฯกำหนดให้มายื่นคำขอรับใบอนุญาตทำประมงพาณิชย์ และยื่นคำขอรับหนังสือรับรองเพื่อประกอบการยื่นขอออกใบอนุญาตใช้เรือ ณ สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานประมงอำเภอแห่งท้องที่ที่มีอาณาเขตติดทะเล หรือสถานที่อื่นตามที่อธิบดีกำหนด ภายในวันที่ 5-29 ก.พ.นี้เท่านั้น หากไม่มีใบอนุญาตฯจะไม่มีสิทธิทำประมงพาณิชย์ได้ในรอบปีการประมง 63– 64
สำหรับ ขั้นตอนและระยะเวลาขอรับใบอนุญาตฯ สำหรับปีการประมง 63-64 กรมประมงกำหนดให้ผู้ประสงค์ทำประมงพาณิชย์ยื่นคำขอรับใบอนุญาต และยื่นขอรับหนังสือรับรองประกอบการขอต่ออายุใบอนุญาตใช้เรือ ณ สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานประมงอำเภอแห่งท้องที่ที่มีอาณาเขตติดทะเล หรือสถานที่อื่นตามที่อธิบดีกำหนด ภายในวันที่ 5-29 กุมภาพันธ์ โดยกรมประมงจะพิจารณาจัดสรรใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ ภายในวันที่ 1-15 มีนาคม 63 ในส่วนเรือประมงพื้นบ้าน มาขึ้นทะเบียนแล้ว กว่า 5.3 หมื่นลำ ที่สามารถออกจับสัตว์ได้ โดยไม่ต้องแจ้งขอใบอนุญาตทำการประมงเนื่องจากเป็นการประมงเพื่อยังชีพ