วิเคราะห์จังหวะก้าว เกมยาว 'คณะอนาคตใหม่'

วิเคราะห์จังหวะก้าว เกมยาว 'คณะอนาคตใหม่'

สิ่งที่ทุกฝ่ายสนใจกันมาก หลังจากยุบพรรคอนาคตใหม่ก็คือ ทิศทางการเมืองจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะจังหวะก้าวของ คณะอนาคตใหม่ จะทำอะไรกันต่อ

ที่คนกังวลกันมาก คือจะปลุกม็อบลงถนนกันเลยหรือไม่ ตอนนี้บางฝ่ายถึงขนาดเตรียมการรับมือการชุมนุมยืดเยื้อกันแล้ว เพราะแกนนำพรรคที่ปัจจุบันเป็น “อดีต” ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช และคนอื่นๆ ต่างแสดงท่าทีปลุกระดมมวลชนชัดเจน โดยใช้การเคลื่อนไหวนอกสภาเป็นหลัก (ทั้งๆ ที่ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ก็ยังเหลืออยู่ 65 คน และกำลังจะพากันย้ายไปสังกัดพรรคอื่น)

แต่จากการประเมินของฝ่ายความมั่นคง เชื่อว่าในช่วงแรกๆ จะมีการเคลื่อนไหวแบบ รูทีนยังไม่มีการนัดชุมนุมใหญ่ เพราะเงื่อนไขยังไม่สุกงอม แต่จะมีการเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ ล้อกับสถานการณ์การเมืองและอารมณ์ของผู้คน

เช่น ในช่วงเย็นวันอาทิตย์ที่ 23 ก.พ. และตลอดสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ก.พ. ก็จะมีการอภิปรายนอกสภา แต่ก็ต้องรอดูด้วยว่า เพื่อนๆ พรรคอื่นในฝ่ายค้านจะพึงพอใจหรือไม่ เพราะอาจเท่ากับไปแย่งซีนการอภิปรายในสภาก็เป็นได้

ส่วนการเคลื่อนไหวอื่นๆ ก็จะมีการจัดกิจกรรมประเภท แฟลชม็อบ” และ เวทีสัมมนา โดยคนที่ออกมาเคลื่อนไหวส่วนใหญ่จะยังเป็นกลุ่มเดิมที่เคยต่อต้าน คสช. และนิสิตนักศึกษาในเครือข่ายอนาคตใหม่เดิม รวมถึงคนเสื้อแดงบางส่วน แต่จะยังไม่มีการเกณฑ์หรือนัดชุมนุมใหญ่

การเคลื่อนไหวช่วงนี้ จะเป็นการสมประโยชน์กันระหว่าง “คณะอนาคตใหม่” และกลุ่มต่าง ๆ ที่จะมีพื้นที่ให้เคลื่อนไหวต่อเนื่อง สามารถสร้างประเด็นได้โดยโหนกระแสยุบอนาคตใหม่ การเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียจะรุนแรง หนักข้อ และสุ่มเสี่ยงละเมิดกฎหมายมากขึ้น แต่รัฐบาลก็มีการตั้งทีมไว้รับมือและดำเนินคดีพวกล้ำเส้นมากๆ เช่นกัน

ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นแล้ว และน่ากังวลในสายตาของหลายฝ่ายก็คือ การใช้เทคนิคทางโซเชียลมีเดียในการสร้างกระแสให้สังคมเข้าใจผิด หรือรับรู้ข้อมูลที่อาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมด 

เช่น การแขวนป้ายผ้าที่อาคารเรียนคณะหนึ่งของมหาวิทยาลัยชื่อดัง พร้อมแคปชั่นแรงๆ อาจทำให้คนรู้สึกว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยนี้เป็นแนวร่วมกับ “คณะอนาคตใหม่” และต่อต้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่จริงๆ แล้วเป็นการกระทำของคนเพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

หรือการสร้างเทรนด์ในทวิตเตอร์ เพื่อให้สื่อกระแสหลักในเครือข่ายนำมารายงานซ้ำในวงกว้างอีกที ทั้งที่จริงๆ อาจไม่ใช่เทรนด์จากกระแสความสนใจที่แท้จริงของสังคม แต่เป็นเทรนด์ที่สร้างขึ้นจาก AI หรือผู้ใช้โซเชียลฯ ปกปิดตัวตนที่เรียกว่า “อวตาร”

เป้าหมายสุดท้าย มีการประเมินว่าจะใช้ ฮ่องกงโมเดลแต่ก็ต้องอาศัยปัจจัยแวดล้อมที่จะสร้างกระแสสนับสนุน เช่น การทุจริตอย่างชัดเจนของรัฐบาล ปัญหาเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสจริงๆ ฯลฯ 

ฉะนั้นในช่วงแรก “คณะอนาคตใหม่” จะเคลื่อนไหวเลี้ยงมวลชนรอสถานการณ์ไปพลางๆ ขณะที่ในสภาก็จะใช้ แกนนำแถวสองนำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหอกทำงานต่อไป โดยเน้นการยื่นกระทู้ ยื่นญัตติ ในประเด็นที่จะดิสเครดิตรัฐบาลไปเรื่อยๆ

เมื่อมีเงื่อนไขถึงพร้อม เช่น กระแสประชาชนต้านรัฐบาลมากๆ หรือมีปัญหาในกองทัพ ก็จะหาจังหวะจัดชุมนุมใหญ่เพื่อขับไล่รัฐบาล หรือเจรจาต่อรองให้ยุบสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยใช้บทบาทของชาติตะวันตกกดดันอีกแรง โดยเฉพาะสหรัฐ ซึ่งแสดงท่าทีไม่สนับสนุนรัฐบาล คสช.มาตั้งแต่หลังเข้ายึดอำนาจ

นี่คือทิศทางของ คณะอนาคตใหม่ที่จะเล่นเกมยาวหลังจากนี้...

อ่านข่าว
ยุบพรรคอนาคตใหม่ เพิกถอนสิทธิกรรมการบริหาร 10 ปี