ก.ต.ไฟเขียว! ตรวจสุขภาพจิต 'ผู้พิพากษา' ทุก 5 ปี

ก.ต.ไฟเขียว! ตรวจสุขภาพจิต 'ผู้พิพากษา' ทุก 5 ปี

ก.ต.ศาลยุติธรรม ไฟเขียวร่างระเบียบตรวจสุขภาพจิต "ผู้พิพากษา" ทุก 5 ปี

นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ครั้งล่าสุดเมื่อวาน (16 มี.ค.) ที่ผ่านมาว่า หนึ่งในวาระที่ประชุม ก.ต.ได้พิจารณา คือให้เห็นชอบหลักการร่างระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพกายและสุขภาพจิต ของข้าราชการตุลาการ พ.ศ. ... ซึ่งส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพกายสุขภาพจิตของผู้พิพากษา ที่จัดให้มีการตรวจสุขภาพกายและสุขภาพจิตผู้พิพากษาที่มีอายุครบ 35 ปีขึ้นไป ในช่วงเวลาทุก 5 ปี

ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมได้นำร่างระเบียบฯ ดังกล่าวที่บรรจุรายละเอียดเกี่ยวกับคำนิยาม , หลักเกณฑ์และมาตรการบังคับใช้ ไว้ 16 ข้อ เผยแพร่ลงในเว็บไซต์ ก.ต. และแอพพลิคชั่นไลน์ COJ ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.ให้ผู้พิพากษาทั่วประเทศรับทราบ พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทั้งทางเว็บไซต์ ก.ต. และแอพพลิคชั่นไลน์ COJ ตั้งแต่วันที่ 16 -31 มี.ค.นี้ (ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่ http://bit.ly/33ttj4w หรือได้ที่ https://forms.gle/vAr1haah84YqsdJM9 ) เพื่อนำข้อเสนอแนะต่างๆ มาประมวลว่าจะต้องเพิ่มเติมเนื้อหาในร่างระเบียบฯ ที่กำหนดไว้ 16 ข้ออีกหรือไม่ อย่างไรบ้าง

ก่อนที่จะนำร่างระเบียบฯ ดังกล่าวที่ผ่านมารับฟังความคิดเห็นชอบจากผู้พิพากษาทั่วประเทศที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบฯ นี้แล้ว เสนอต่อที่ประชุม ก.ต.พิจารณาอีกครั้งในวันที่ 17 เม.ย.นี้ ซึ่งหากที่ประชุม ก.ต. มีมติเห็นชอบผ่านร่างระเบียบฯ โดยไม่แก้ไขใดๆ ระเบียบดังกล่าวจะสู่ขั้นตอนการประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ถัดจากวันประกาศฯ แล้ว 60 วัน หากเป็นเช่นนั้น สำนักงานศาลยุติธรรมก็จะจัดเตรียมให้เริ่มการจัดให้มีการตรวจสุขภาพกายและสุขภาพจิตผู้พิพากษาที่มีอายุครบ 35 ปีขึ้นไป ในช่วงเวลาทุก 5 ปี ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.63

นายสราวุธ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า สำหรับปัจจุบันผู้พิพากษาศาลยุติธรรมทั่วประเทศมีทั้งสิ้น 5,030 คน โดยจากการสำรวจพบว่าผู้พิพากษาที่มีอายุครบตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปที่เข้าเกณฑ์อายุในการสุขภาพตามระเบียบฯ นั้น ในปี 2563 มีจำนวน 997 คน , ปี 2564 จำนวน 1,017 คน , ปี 2565 จำนวน 908 คน , ปี 2566 จำนวน 933 คน , ปี 2567 จำนวน 945 คน โดยค่าใช้จ่ายการตรวจสุขภาพและสุขภาพจิต เฉลี่ยประมาณ 3,000 บาท/คน

สำหรับการจัดให้มีการตรวจในสถานที่ใดนั้น ตามบทเฉพาะกาลในระเบียบฯ ข้อ 16 ระบุว่าวาระเริ่มแรกให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม จัดทำแผนดำเนินการเสนอต่อ ก.ต. เพื่อขอรับความเห็นชอบ ซึ่งจะพิจารณาอีกครั้งในความสะดวก เช่นส่วนของผู้พิพากษาชั้นศาลฎีกาที่มีจำนวนมากนับ 100 คน ก็อาจจะเป็นวิธีการจัดให้มีแพทย์มาตรวจที่ศาลฎีกา แทนการเดินทางไปโรงพยาบาลที่ครั้งหนึ่งจะมีจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเนื้อหาร่างระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพกายและสุขภาพจิต ของข้าราชการตุลาการ พ.ศ.2563 ที่สำคัญนั้น อาทิ ข้อ 6 กำหนดให้ ข้าราชการตุลาการ ซึ่งมีอายุครบ 35 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณใด ให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมจัดให้เข้ารับการตรวจสุขภาพกาย และสุขภาพจิต จากสำนักการแพทย์ สำนักงานศาลยุติธรรม หรือสถานพยาบาลที่ ก.ต. กำหนดให้แล้วเสร็จไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนเริ่มปีงบประมาณถัดไป และให้ได้รับการตรวจทุก 5 ปี จนกว่าจะพ้นจากราชการ


ข้อ 7 ระบุว่า ภายใต้บังคับของข้อ 6 ข้าราชการตุลาการผู้ใดซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในงานของศาลยุติธรรม ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย ตามที่กำหนดไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มีเหตุอันควรเชื่อว่าข้าราชการตุลาการในสังกัดที่ตนรับผิดชอบอยู่นั้นหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือเจ็บป่วยจนเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการ อันเนื่องมาจากความผิดปกติทางกาย หรือความผิดปกติทางจิต ให้ข้าราชการตุลาการซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดังกล่าว รายงานไปยังเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมในโอกาสแรก เพื่อดำเนินการตามข้อ 6
ขณะที่ผลการตรวจนั้นจะต้องเป็นไปตามข้อ 13 ที่ระบุห้ามมิให้ผู้ใดเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพของข้าราชการตุลาการในประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ข้าราชการตุลาการผู้นั้น เว้นแต่จะเป็นการดำเนินการตามระเบียบนี้ โดยข้อ 14 ให้นำผลการตรวจสุขภาพกายและสุขภาพจิตของข้าราชการตุลาการตามระเบียบนี้ ไปประกอบการพิจารณาการเลื่อนตำแหน่ง , เลื่อนเงินเดือน และโยกย้ายแต่งตั้งตามวาระ

สำหรับลักษณะการตรวจนั้น กำหนดในข้อ 8 การตรวจสุขภาพกายรวมถึงการตรวจเพื่อให้แพทย์ทำความเห็น (1) เป็นผู้ที่มีสุขภาพกาย ปกติสมบูรณ์ แข็งแรง สมวัย (2) เป็นผู้ที่ไม่มีความผิดปกติทางกายที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ (3) ไม่เป็นโรคติดต่ออันตราย หรือที่อยู่ในภาวะที่อาจเกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น และไม่เป็นโรคตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนข้อ 9 กำหนดการตรวจสุขภาพจิตให้รวมถึงการตรวจเพื่อให้แพทย์ทำความเห็น (1) เป็นผู้มีสุขภาพจิตสมบูรณ์ แข็งแรง มีคุณลักษณะ บุคลิกภาพ พฤติกรรม ความประพฤติ และอุปนิสัยที่เหมาะสม (2) เป็นผู้ที่ไม่มีความผิดปกติทางจิต เช่น ไม่เป็นโรคหรือมีปัญหาทางการแพทย์ ไม่เป็นผู้ที่ป่วยหรือเป็นโรคจิต (Psychotic Disorder) โรคอารมณ์ผิดปกติ (Mood Disorders) โรคประสาทรุนแรง (Severe Neurotic Disorders) โรคบุคลิกภาพผิดปกติ (Person lity Disorders) รวมถึงปัญหาทางจิตเวชอื่น ๆ