กลางศึกสงคราม 'โควิด-19' มันใช่เวลา 'เล่นการเมือง' ไหม?
จับประเด็นร้อน! กลางศึกสงคราม "โควิด-19" มันใช่เวลา "เล่นการเมือง" ไหม?
ช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน สถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด-19 กำลังแพร่ระบาดในประเทศรุนแรงขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มอย่างน่าวิตก ทำให้คนไทยกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว กำลังแพร่กระจายจากกรุงเทพฯและปริมณฑลไปยังต่างจังหวัด
ท่ามกลางมาตรการของรัฐบาลที่เพิ่มระดับความเข้มข้น สั่งปิดสถานที่เสี่ยงของการรวมของผู้คนจำนวนมาก อาทิ เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง สถานศึกษา สนามมวย ด่านเข้า-ออก ส่งผลกระทบแรงงานในภาคบริการ บันเทิง และท่องเที่ยว ต้องหยุดและตกงาน เพื่อสกัดกั้นแพร่ระบาดโควิด-19
แน่นอนว่า เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อมาตรการของรัฐบาล ซึ่งเป็นธรรมดาในสังคมประชาธิปไตย แต่ไม่ใช่การฉวยโอกาสจากวิกฤติ ออกมา "ผสมโรงการเมือง" ในการปลุกเร้าประชาชนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในภาวะบ้านเมืองกำลังทำสงครามต่อกับเชื้อไวรัสโคโรน่า
ดูเหมือนการแถลงเปิดตัว "คณะก้าวหน้า" วานนี้ (21 มี.ค.) ภายใต้การนำของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ , ปิยบุตร แสงกนกกุล และ พรรณิการ์ วาณิช อดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ได้ฉวยโอกาสดังกล่าว เสนอโรดแมพแก้วิกฤตโควิด-19 ของคณะก้าวหน้า
1. นายกฯ ต้องเสียสละลาออก เปิดทางให้คนอื่นเข้ามาเป็นผู้นำแก้ปัญหาชาติ ให้สภาฯแต่งตั้งนายกฯคนใหม่
2. ดำเนินภารกิจเฉพาะหน้า ในเวลา 1 ปี คือแก้ปัญหาโควิด-19 ฟื้นฟูประเทศ และเป็นเจ้าภาพแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ วุฒิสภาจากการแต่งตั้ง
3. ยกเลิกมาตรา 279 รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ยกเลิกการนิรโทษกรรมให้ คสช. , แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ กำหนดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาจากประชาชน
กล่าวคือ ขณะนี้ในโซเชียลเกิดคำถามและกระแสตีกลับไปยัง "คณะก้าวหน้า" อยู่เหมือนกันว่า ในช่วงเวลาประเทศชาติกำลังต่อสู้กับเชื้อไวรัสโคโรน่า มันใช่เวลาปลุกเร้าประชาชนเพื่อหวังผลทางการเมืองหรือไม่
หากจะใช้ข้ออ้างว่าบริหารสถานการณ์ โควิด-19 ล้มเหลว แต่ข้อมูลเปรียบเทียบจากการแพร่ระบาดทั่วโลก และเสียงจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับจากระดับโลก และเป็นคณะทีมงานให้รัฐบาลเพื่อออกมาตรฐานตามลำดับนั้นแล้ว ย่อมสะท้อนการตัดสินใจของรัฐบาลอยู่บนพื้นฐานอะไรไม่ใช่หรือ
ดังนั้น สถานการณ์ขณะนี้ คือหยุดการแพร่ระบาดไปทั่วประทศ ยับยั้งระยะที่ 3 และจำกัดวงการแพร่เชื้อและดูแลรักษาไปพร้อมๆ กัน ย่อมต้องใช้ "ความร่วมมือภาครัฐ เอกชน และประชาชน" เพื่อสู้โควิด-19ให้สัมฤทธิ์ผล หาใช่เวลาของนักการเมืองไม่!!