นักโทษบุรีรัมย์ แหกคุกก่อจลาจล! ภัยโควิดวิกฤติล้นคุก แนะเชิงรุกมาตรการอื่น
จากสถานการณ์ที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ คือการพบผู้ต้องขังในเรือนจำติดเชื้อโควิด-19 แม้ล่าสุดจะมีข้อมูลยืนยันเพียง 2 รายจาก 2 เรือนจำก็ตาม
แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ภายในเรือนจำมีนักโทษล้น และต้องอยู่กันอย่างแออัด จึงมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ได้
ที่ผ่านมา มีมาตรการที่กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่น การตั้งวอร์รูมกรมราชทัณฑ์ เพื่อเกาะติดสถานการณ์ทุกวัน การคัดกรอง และแยกกักกันสำหรับผู้ต้องขังรายใหม่ทุกราย การคัดกรองผู้ป่วย และแยกกักกัน มาตรการงดเยี่ยมญาติ และงดการทำงานฝึกอาชีพในสถานประกอบการนอกเรือนจำ เป็นต้น ซึ่งก็สามารถบรรเทาปัญหาไปได้ระดับหนึ่ง
ขณะที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม สั่งใช้กฎเหล็ก “คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า” รวมทั้งให้เร่งสร้างห้องกักโรค และห้องน้ำ ให้เพียงพอ ได้สัดส่วนกับผู้ต้องขัง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาด
ปัญหานี้ เป็นเรื่องใหญ่จริงๆ ถึงขนาดสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ยังออกมาแสดงความกังวล เพราะเกรงจะเกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ ทำให้สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ เสนอมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพราะเห็นว่าปัญหา “นักโทษล้นคุก ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ” ในบ้านเรานั้น วิกฤติจริงๆ
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวว่า ขอให้กำลังใจและสนับสนุนมาตรการของกรมราชทัณฑ์ที่ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่ TIJ อยากเสนอเพิ่มเติมก็คือ การจัดการปัญหา “ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ” อย่างเป็นระบบทั้งระยะเฉพาะหน้าและระยะยาว เพราะปัญหานี้ เป็นปัญหาใหญ่ของเรือนจำในบ้านเราอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเจอกับสถานการณ์โรคระบาด จึงทำให้เห็นว่าเป็นปัญหาที่รอไม่ได้อีกต่อไป
จากข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ มีผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศราว 377,000 คน ขณะที่ความจุของเรือนจำทุกแห่งรวมกันอยู่ที่ 250,000 คนเท่านั้น สะท้อนว่ามีจำนวนผู้ต้องขังเกินกว่าความจุมาถึงกว่า 127,000 คน จนเป็นที่ทราบกันว่าผู้ต้องขังแต่ละคนมีที่นอนคนละไม่ถึง 1 ตารางเมตร ฉะนั้นจะใช้มาตรการ “ระยะห่างทางสังคม” หรือ Social distancing ย่อมเป็นไปไม่ได้
และหากปล่อยไว้แบบนี้ อาจเป็นการเพิ่มความเครียดให้กับผู้ต้องขัง ยิ่งหลายๆ เรือนจำมีมาตรการงดเยี่ยมญาติด้วย ยิ่งเสี่ยงทำให้เกิดความเครียด ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการก่อจลาจลแล้วในเรือนจำบางประเทศ เช่น อิตาลี หรือโคลัมเบีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนไม่น้อย
จากการเก็บข้อมูลของ TIJ มีมาตรการเชิงรุก เสนอเพิ่มเติมจากมาตรการของกรมราชทัณฑ์ คือ พิจารณาให้ปล่อยชั่วคราว หรือปล่อยตัวผู้ต้องขังบางส่วนที่อยู่ในข่ายสมควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ ประกอบด้วย
- นักโทษเด็ดขาด (หมายถึงคดีถึงที่สุดแล้ว) ที่เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี กลุ่มนี้มีจำนวน 72,000 คน
- ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณา ซึ่งหมายถึงผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดี ต้องถูกคุมขังทั้งๆ ที่คดียังไม่ถึงที่สุด เพราะไม่ได้รับประกันตัว รวมทั้งมีบางรายถูกกักขังแทนค่าปรับ เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ กลุ่มนี้มีราวๆ 67,000 คน นับเป็นสถิติที่สูงมากแห่งหนึ่งของโลก
- ผู้ต้องขังสูงอายุ ซึ่งมีความเสี่ยงได้รับอันตรายถึงชีวิต หากโควิดระบาด ทุกเรือนจำมีผู้ต้องขังอายุเกิน 60 ปีที่คดีถึงที่สุดแล้วรวมกันราวๆ 5,800 คน
- กลุ่มผู้ต้องขังคดีลหุโทษ หรือความผิดเล็กๆ น้อยๆ เช่น กระทำผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ กระทำผิด พ.ร.บ.การพนัน หรือเข้าเมืองผิดกฎหมาย กลุ่มนี้มีอีก 9,000 คน
ผู้ต้องขังเหล่านี้ กรมราชทัณฑ์และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมอาจพิจารณาร่วมกัน เพื่อใช้วิธีการปล่อยชั่วคราว (ให้ประกันตัว) หรือปล่อยก่อนกำหนด หรือพักโทษ หรือใช้มาตรการอื่นแทนการคุมขัง เช่น สวมกำไลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขัง ซึ่งจะเป็นการช่วยลดความแออัดในเรือนจำไปในตัว
ที่ผ่านมาหลายประเทศก็เริ่มพิจารณาใช้มาตรการเหล่านี้บ้างแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา อิหร่าน อินเดีย เป็นต้น บางประเทศนำระบบเยี่ยมญาติออนไลน์มาใช้ เพื่อลดความเครียดของผู้ต้องขังด้วย
ดร.กิตติพงษ์ บอกด้วยว่า ทั้งหมดนี้เป็นมาตรการที่สามารถดำเนินการได้ทันที ถือเป็นมาตรการระยะสั้นเพื่อแก้วิกฤติไปก่อน และต้องพิจารณาเพิ่มเติมไปถึงห้องกักของ ตม. (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) รวมถึงสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนด้วย
สำหรับระยะยาว คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องพูดคุยกันอย่างจริงจัง ถึงการใช้มาตรการอื่นแทนการคุมขัง เพราะจากสภาพที่เป็นอยู่ ชัดเจนว่าเมืองไทยใช้โทษจำคุกฟุ่มเฟือยเกินไป จนมีปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำติดอันดับสูงสุดของโลก