'สามารถ-นริศ' ปรบมือหนุนบุคลากรทางการแพทย์ นักสู้มหันตภัยโควิด-19
ส.ส.พัทลุง-ผู้ช่วยรมต.ยธ. ปรบมือหนุนบุคลากรทางการแพทย์ นักสู้มหันตภัยโควิด-19
วันนี้ (30 มี.ค.) นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว "นริศ ขำนุรักษ์" โดยระบุว่า "บุคลากรทางการแพทย์ นักสู้มหันตภัยโควิด-19 ในตอนนี้โลกทั้งใบกำลังอ่อนแอลง จากการถูกทำร้ายจากเชื่อไวรัสโควิด-19 ทำให้สิ่งต่างๆรอบตัวเราเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เกิดความโกลาหลในการแก้ปัญหา ทั้งปัญหาการป้องกันและการแก้ไขความรุนแรงของเชื้อร้าย ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจ ความขาดแคลน และความยากจน พลอยให้มีผลกระทบอย่างรุนแรงเป็นลูกโซ่ตามมา
ถ้าหากมองย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 3 เดือนที่แล้ว โควิด-19 ยังเป็นเพียงแค่ไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ที่เกิดการกลายพันธ์และวิวัฒนาการจนได้รับขนานนามอย่างเป็นทางการว่า COVID-19 ผู้คนทั่วๆไป ก็คิดว่าเป็นไวรัสธรรมดา ระบาดสักพักในวงแคบๆ เดียวก็จางหาย หรือจะสามารถกำจัดวงได้ และก็หายไปในที่สุดเหมือนกับหลายครั้งหลายหนที่ผ่านมา
แต่การณ์ไม่กลับเป็นเช่นนั้น เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสนี้ได้กลายเป็น "การระบาดใหญ่" (pandemic) ลุกลามไปอย่างรวดเร็วในกว่า 142 ประเทศ ทำให้ในขณะนี้ทั่วโลกกำลังหวาดหวั่นและตื่นกลัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสตัวร้ายดังกล่าว ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถหวาดกลัวกับสิ่งนี้ได้ ต้องเผชิญกับสิ่งนี้อย่างเข้มแข็ง มีความเสียสละ มีความกล้าหาญ คือ " บุคลากรทางการแพทย์ "
บุคลากรทางการแพทย์ เป็นกำลังสำคัญ และปราการแรกที่ต้องเผชิญการต่อสู้กับโควิด-19 ในภายใต้สถานการณ์ที่ไม่มีความแน่นอนมากนัก ทั้ง วัคซีน และวิธีการ แต่พวกเขาได้ทุ่มเทโดยใช้หลักทั่วไปทางการแพทย์ จนสามารถป้องกัน และยับยั้งความรุนแรงของโรคร้ายนี้ไปได้มากทีเดียวที่
บุคลากรทางการแพทย์ ส่วนหนึ่งต้องทำงานท่ามกลางการขาดแคลนเครื่องมือป้องกันตัวจากการสัมผัสสารคัดหลั่งและใกล้ชิดผู้ป่วย และทำงานท่ามกลางการขาดแคลนอุปกรณ์ในการรักษาทางการแพทย์ ยา และเวชภัณฑ์ เพราะปรากฏการณ์เกิดขึ้นแบบกระทันทันจนหลายฝ่ายเตรียมการณ์ไม่ทัน " บุคลากรทางการแพทย์ " จึงเป็นผู้ที่น่าเป็นห่วงที่สุด เป็นผู้ที่เสี่ยงอันตรายกับการที่ต้องสัมผัสและรักษาผู้ป่วยโดยตรง ทั้งที่เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อที่ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงที่ไวรัสตัวนี้กำลังแสดงอาการให้เห็น ซึ่งประเทศไทยมียอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นโดยเฉลี่ยวันละกว่า 100 คน จนมีข่าวคราวว่า "บุคลากรทางการแพทย์" จำนวนหนึ่งเกิดติดเชื้อ
รัฐบาลฝ่ายเดียวไม่สามารถรับมือกับภัยนี้ได้ แม้ว่าจะพยายามอย่างไรแล้วก็ตาม ทุกภาคส่วนต้องระดมช่วยกัน ซึ่งก็มีให้เห็นแล้วที่ภาคเอกชน ที่ยื่นมือมาช่วยทั้งมอบเงิน เครื่องมือ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ แต่ไม่อาจหยุดยั้งโรคร้ายนี้ได้ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนคนไทยทั้งประทศอย่างจริงจัง
การให้ความร่วมมือในการทำงานของ "บุคลากรทางการแพทย์ " เป็นสิ่งสำคัญมาก เพียงการที่เราดูแลรักษาความสะอาด รับประทานอาหารปรุงสุก และหมั่นล้างมืออย่างสม่ำเสมอ ดังเช่นวลีที่เราเคยได้ยินแต่ตอนนี้ต้องปรับเปลี่ยนเสียหน่อย กินร้อน ช้อนใครช้อนมัน ล้างมือ การเว้นระยะห่างจากสังคมโดยเปลี่ยนเป็นการอยู่บ้าน อยู่กับครอบครัวและ work from home หรือทำงานที่บ้าน ก็สามารถช่วยลดการแพร่และการรับเชื้อได้ ช่วยให้พวกเขาทำงานได้เบาลง
อีกทางเลือกหนึ่งที่จะสามารถสนับสนุนและเป็นกำลังในการช่วยให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19ได้คือการร่วมบริจาคเงินสมสบทุนให้แก่มูลนิธิ แพทย์และโรงพยาบาลต่างๆที่กำลังเปิดรับบริจาคเพื่อเป็นทุนในการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ หนึ่งคนหนึ่งพลัง แต่หากร่วมกันผนึกกำลังกัน เราก็จะสามารถเอาชนะโควิด-19นี้ไปด้วยกันได้
เราขอยกย่องการกระทำของผู้กล้าอย่าง "บุคลากรทางการแพทย์ " ที่ปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างแข็งขันทุกคนให้เป็นเยี่ยง วีรบุรุษ วีรสตรี ของพวกเรา " ปรบมือ" ให้พวกเขาครับ
ด้วยความห่วงใย เรามาก้าวข้ามผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน Stay healthy and be positive+"
ทั้งนี้ นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ร้องทุกข์พลังประชารัฐ ได้นำโพสต์ดังกล่าวมาแชร์และเห็นด้วยกับสิ่งที่ นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ นำเสนอ ซึ่งทั้ง 2 คนถือว่าเป็นคู่ซี้คู่หูต่างพรรคเวลาประชุมวิปรัฐบาลจะเห็นว่านั่งข้างกันอยู่เสมอ รวมถึง มีความเห็นพ้องต้องกันว่าบุคลากรทางการแพทย์นั้นเป็นสิ่งจำเป็นและถือว่าเป็นนักรบของคนไทยทุกคนควรจะให้กำลังใจ ร่วมมือร่วมใจเป็นพลังให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยพ่อแม่พี่น้องประชาชนสามารถช่วยบุคลากรทางการแพทย์ได้เพียง "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ"