#รัฐบาลขอทาน แฮชแท็กร้อน หลัง 'ประยุทธ์' ขอ 'มหาเศรษฐีไทย' ช่วยโควิด-19

#รัฐบาลขอทาน แฮชแท็กร้อน หลัง 'ประยุทธ์' ขอ 'มหาเศรษฐีไทย' ช่วยโควิด-19

ประมวลความเห็นของบุคคลสำคัญ กรณีแฮชแท็กร้อน #รัฐบาลขอทาน พุ่งอันดับ 1 ข้ามคืนทะลุ 7 แสนครั้ง

กลายเป็นแฮชแท็กที่กลับมาร้อนแรงในโลกทวิตเตอร์อีกครั้ง สำหรับ #รัฐบาลขอทาน มีผู้ทวิตมากกว่า 7 แสนครั้งในข่วงข้ามคืน ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การ แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง 20 มหาเศรษฐี ที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศ ร่วมฝ่าวิกฤติโควิด-19

โดยเฉพาะสิ่งที่นายกฯ ต้องการสื่อสารไปว่า "วิกฤตโควิดครั้งนี้ ใหญ่และซับซ้อนมาก หน้าที่ของเราจึงต้องต่อสู้ไปด้วยกัน แบบเป็นหนึ่งเดียวทั้งประเทศ เราทุกคนจะต้องเป็นทีมประเทศไทย"

"สิ่งที่ผมจะทำในช่วงสัปดาห์ข้างหน้า ประการแรก คือ ผมจะออกจดหมายเปิดผนึก ถึงมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย 20 ท่าน ขอให้ท่านเหล่านั้นได้บอกผมว่า ในฐานะที่ท่านเป็นผู้อาวุโสของสังคม ท่านจะร่วมมือกันกับเราอย่างไร และท่านจะลงมือช่วยเหลือประเทศไทยของเราให้มากขึ้นได้อย่างไรบ้าง มหาเศรษฐีของประเทศไทยทั้งหลาย"

แต่เป็นช่วงเดียวที่หลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์และเสนอความคิดเห็นหลากหลาย อาทิ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน โพสต์ทวิตเตอร์ระบุว่า "อายบ้างไหม? พลเอกประยุทธ์ ทำจดหมายเปิดผนึกถึง 20 มหาเศรษฐีไทย แปลง่ายๆ คือไปขอให้มาช่วย ไม่ละอายใจบ้างหรือ ทั้งที่บริหารด้วยงบมหาศาลแต่ล้มเหลว และกลับไปไถเศรษฐีออกสื่อ ทำไมไม่กระซิบให้พวกเขาคิดช่วยเอง ห่วงว่าที่ตั้งใจเป็นข่าวก็เพื่อจะเอื้อกันทีหลังโดยอ้างว่าขอเขาช่วย"

158718285145

"เห็นด้วยที่ท่านนายกฯ จะกระตุ้นมหาเศรษฐี ไม่ว่ารัฐบาลจะจัดการอย่างไร มันจะมีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งตกหลักเกณฑ์ หรือมีปัญหาพิเศษ ซึ่งสังคมควรหาทางช่วยให้ปะทังชีวิต"

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง

นอกจากนี้ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง โพสต์เฟซบุ๊คว่า "เห็นด้วยที่ท่านนายกฯ จะกระตุ้นมหาเศรษฐี ไม่ว่ารัฐบาลจะจัดการอย่างไร มันจะมีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งตกหลักเกณฑ์ หรือมีปัญหาพิเศษ ซึ่งสังคมควรหาทางช่วยให้ปะทังชีวิต ผมจึงได้สื่อสารไปที่พลตำรวจเอกอัศวิน ผู้ว่า กทม. หารือไอเดียว่า ท่านน่าจะเอาเงินสะสมของ กทม. ออกมาให้เขตจัดศูนย์อาหาร สำหรับครอบครัวที่เดือดร้อนสุดๆ และถ้ากังวลว่า คนจะมาชุมนุม หรือเกรงจะเกิดปัญหาท้องเสีย ก็ลองใช้วิธีแจกเป็นคูปอง ให้ไปเบิกอาหารจากซูเปอร์สโตร์ โดยขอให้เจ้าสัวช่วยสนับสนุนบางส่วน แต่เดาว่าท่านผู้ว่าอาจจะไม่ได้ความร่วมมือจากเจ้าสัวซูเปอร์สโตร์ เพราะยังไม่เห็นว่าสามารถเริ่มโครงการทำนองนี้ผมหวังว่าจดหมายจากท่านนายกฯ จะช่วยกระตุ้นมหาเศรษฐีเพื่อการนี้ได้"

"ถึงตรงนี้ลุงตู่คงมองออกแล้วว่า ลำพังแค่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลคงเอาไม่อยู่แน่นอน"

ดร.สุวินัย ภรณวลัย
ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย

ขณะเดียวกัน ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค ว่า "เศรษฐกิจน้ำใจ : อีกรูปแบบหนึ่งของเศรษฐกิจพอเพียงที่ผู้ให้รู้จักพอ โดยส่วนตัวผมเข้าใจว่าลุงตู่มองข้ามวิกฤตโควิดไปแล้ว ตัวผมเองก็มองข้ามวิกฤตโควิดไปแล้ว โดยแลไปข้างหน้า หลังโควิดคงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง หรือภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่สุดทั่วโลกอย่างแน่นอนและหลายปีด้วย อันนี้ผมฟันธงล่วงหน้าตั้งแต่ตอนนี้ได้เลย ทุกคนจะได้เตรียมตัวเตรียมใจพร้อมกันทั้งประเทศ รับมือได้ถูก เพราะไม่มีความหวังลมๆแล้งเกี่ยวกับอนาคตอันใกล้

"ผมเข้าใจว่าพอถึงตรงนี้ลุงตู่คงมองออกแล้วว่า ลำพังแค่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลคงเอาไม่อยู่แน่นอน ดูวิธีคิดวิธีการที่ผ่านมาของกระทรวงการคลังในการรับมือก็เห็นได้ชัดแจ้งแล้ว ดังนั้นลุงตู่จึงคิดที่จะระดมกำลังทั้งประเทศเข้าสู้ เรื่องส่งจดหมายเปิดผนึกถึง 20 มหาเศรษฐีที่อยู่ในเมืองไทย จึงเป็นเพียงห่วงโซ่ข้อต่อหนึ่งที่สำคัญยิ่งในแผนสู้รบแบบบูรณาการของลุงตู่เท่านั้น หลังจากนี้คงมีการคุยตกลง ยอมรับ ร่วมมือกัน เพื่อเป็นการแสดงถึงความจริงใจในการให้มาช่วยประเทศ แน่นอนว่าในอนาคตกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ย่อมมีอิทธิพลในการบริหารประเทศในวันข้างหน้ายิ่งกว่าตอนนี้ วิกฤตจะที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่แค่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว สิ่งที่ลุงตู่คิดคือต้องการระดมสมองในภาคธุรกิจจริงๆ ให้สามารถนำพาขับเคลื่อนฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้"

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ครั้งแรกที่ #รัฐบาลขอทาน ก่อนหน้านี้วันที่ 6 มี.ค.2563 ชาวทวิตเตอร์ได้ติดแฮชแท็กดังกล่าวมาแล้ว กรณีหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง ออกมาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนร่วมแก้ปัญหาโควิด-19 ด้วยการเปิดบัญชีกองทุนสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019