'โควิด-19' ถึงเวลาไทยคลายล็อกหรือยัง เปิด 'ร่างข้อเสนอ' กลุ่มอาจารย์แพทย์ผู้ใหญ่

'โควิด-19' ถึงเวลาไทยคลายล็อกหรือยัง เปิด 'ร่างข้อเสนอ' กลุ่มอาจารย์แพทย์ผู้ใหญ่

อัพเดทสถานการณ์ "โควิด-19" ถึงเวลาไทยคลายล็อกหรือยัง เปิด "ร่างข้อเสนอ" ของกลุ่มอาจารย์แพทย์ผู้ใหญ่

นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ได้เปิดเผย ร่างข้อเสนอที่ "อาจารย์แพทย์ผู้ใหญ่" หลายท่านตั้งเป็นสมมติฐานข้อเสนอที่เตรียมเสนอต่อสังคม นายกรัฐมนตรี และศ.บ.ค. น่าสนใจต้องช่วยกันพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า ประเทศไทยเราพร้อมหรือยังที่จะคลายล็อคอย่างมีมาตรการ ข้อพึงระมัดระวังคือถ้าคลายล็อคแบบไม่มีมาตรการรัดกุม… เราอาจเกิดปัญหาแบบสิงคโปร์หรือญี่ปุ่นเวลานี้

ลองอ่านและไตร่ตรองช่วยกันพิจารณาอย่างรอบคอบกัน "ประเทศไทยพร้อมคลายล็อคแล้วหรือยัง"

ข้อเสนอเพื่อสังคมไทยช่วยกันพิจารณา

วิกฤติโควิด-19 ในประเทศไทย : การเปลี่ยนผ่านจากมาตรการ “กึ่งล็อคดาวน์” เข้าสู่มาตรการ “ สร้างเสถียรภาพ”

คณะผู้จัดทำข้อเสนอ

นักวิชาการ : น.พ. คำนวณ อึ้งชูศักดิ์, น.พ. ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ , น.พ. ยง ภู่วรวรรณ, น.พ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา , น.พ. ทวี โชติพิทยสุนนท์, น.พ. ครรชิต ลิมปกาญจนารัตน์, น.พ. ธนรักษ์ ผลิพัฒน์,

\'โควิด-19\' ถึงเวลาไทยคลายล็อกหรือยัง เปิด \'ร่างข้อเสนอ\' กลุ่มอาจารย์แพทย์ผู้ใหญ่

อดีตผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข : น.พ. หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ , น.พ. ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์, น.พ. ไพจิตร์ วราชิต, น.พ. โสภณ เมฆธน, น.พ. เจษฎา โชคดำรงสุข, น.พ. ธวัช สุนทราจารย์, น.พ. มานิต ธีระตันติกานนท์, น.พ. ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล,

\'โควิด-19\' ถึงเวลาไทยคลายล็อกหรือยัง เปิด \'ร่างข้อเสนอ\' กลุ่มอาจารย์แพทย์ผู้ใหญ่

บทสรุปย่อ

โรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่แพร่จากคนสู่คนผ่านการได้รับฝอยละอองที่ออกมาจากปากและจมูกของผู้ติดเชื้อไปสู่คนใกล้ชิด เนื่องจากเป็นโรคที่คนไม่มีภูมิคุ้มกันจึงแพร่ระบาดได้รวดเร็วและมีความรุนแรงมากเป็นพิเศษในผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็นโรคระบาดทั่วโลก (Pandemic) ซึ่งไม่สามารถกำจัดให้หมดไปได้ในระยะเวลาอันสั้น มาตรการที่ใช้ในการควบคุมโรคระบาดโควิดประกอบด้วยสามกลุ่มใหญ่ๆ

กลุ่มแรกคือมาตรการทางด้านสาธารณสุขและการแพทย์ กลุ่มที่สองคือมาตรการด้านสังคมโดยการเพิ่มระยะห่างของผู้คนและยกเลิกกิจกรรมทางสังคมที่รวมกลุ่มคนมากๆ กลุ่มที่สามเป็นมาตรการที่บังคับให้ทุกคนอยู่ในบ้านและปิดกิจการต่างๆ ที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ที่เราคุ้นเคยกับศัพท์ว่า Lockdown หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าปิดบ้านปิดเมือง โดยมีการกำหนดเคอร์ฟิวตลอดวัน มาตรการกลุ่มที่สามมักใช้ในสถานการณ์ที่พบว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และระบบการรักษาพยาบาลผู้ป่วยหนักไม่สามารถรองรับได้ทัน ตัวอย่างที่พบเห็นเช่นในเมืองอู่ฮั่นและหลายเมืองหลายรัฐในยุโรป

สำหรับประเทศไทยได้นำมาใช้ทั้งสามกลุ่มมาตรการ โดยมาตรการกลุ่มที่สามหรือ”ล๊อคดาวน์” นั้นกำลังใช้อยู่ในระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ถึงกับการปิดประเทศปิดเมืองอย่างเต็มที่ น่าจะจัดเป็น”กึ่งล๊อคดาวน์” โดยมีการออกข้อกำหนดตาม พรก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และเคอร์ฟิวบางช่วงเวลา แต่ครอบคลุมทุกจังหวัด

ในขณะนี้สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยไทยมีแนวโน้มดีขึ้น โดยจังหวัดต่างๆมีสถานการณ์และบริบทแตกต่างกัน จากข้อมูลวันที่ 14 เมษายน (ภาคผนวก1) มี 32 จังหวัด ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มี 38 จังหวัดมีผู้ป่วยประปรายในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา และ 7 จังหวัดมีผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่ต่อเนื่อง จากสาเหตุต่างๆที่สำคัญได้แก่ การติดเชื้อจากสถานบันเทิง สนามพนันในรูปแบบต่างๆ การติดเชื้อในผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ และการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยไปยังคนใกล้ชิด

มาตรการกึ่งล็อคดาวน์ ที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบันมีส่วนสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีสถานการณ์รุนแรง อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการนี้โดยครอบคลุมทุกจังหวัดทั้งประเทศ มีต้นทุนสูงทางเศรษฐกิจและสังคม ควรดำเนิการเพียงชั่วคราวในระยะเวลาจำกัดเท่าที่เป็นประโยชน์ หากเนิ่นนานโดยไม่จำเป็นจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชากรที่มีรายได้น้อย มีหนี้สินครัวเรือนสูง ทำให้เกิดการตกงานห้าถึงเจ็ดล้านคน สร้างความกดดันทางจิตใจ และอาจกระทบกับเสถียรภาพของครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวม รัฐบาลจำเป็นต้องใช้งบประมาณสูงมาก ในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ

หลายประเทศที่กำลังใช้มาตรการล็อคดาวน์ ในการแก้ไขวิกฤตโควิด-19 ต่างเริ่มหาทางออกที่จะดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อไปอย่างได้ผล พร้อมกับการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและผ่อนคลายความตึงเครียดในสังคม โดยตระหนักว่าการแพร่เชื้อจะยังไม่ยุติโดยสิ้นเชิง ยังมีโอกาสจะเกิดการติดเชื้อต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรคมาใช้อย่างเพียงพอ ในการพิจารณาดังกล่าว มีฉากทัศน์ทางเลือกที่สำคัญสองฉากทัศน์ สำหรับประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ได้แก่

ฉากทัศน์ที่หนึ่ง คือการทำให้ประเทศปลอดจากเขื้อโควิด-19 โดยการปิดเมืองหรือล๊อคดาวน์เป็นระยะยาว เช่น สองหรือสามเดือน และทำการค้นหาผู้ติดเชื้อทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการแบบเคาะประตูบ้าน มาแยกรักษา แต่การทำแบบนี้ได้ต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล และต้องใช้บริบททางสังคมการเมืองที่สามารถบังคับใช้กฎระเบียบอย่างเข้มแข็งได้ ในขณะเดียวกันก็จะมีต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจที่สูงมาก ทางเลือกนี้ไม่เหมาะที่จะทำทั้งประเทศ แต่อาจนำมาใช้ในพื้นที่หรือชุมชนเล็กๆที่มีการติดเชื้อสูง ดังนั้น ความคิดที่ว่าคนไทยทั้งประเทศควรยอมทนเจ็บครั้งเดียว เป็นเวลาสักสามเดือน ให้จบปัญหาโควิด-19 แล้วกลับไปมีชีวิตปกติ จึงไม่อาจเป็นจริงได้

ฉากทัศน์ที่สอง คือการยอมรับว่าเราไม่สามารถหยุดการแพร่ของเชื้อโควิด-19 ได้ แต่เราสามารถควบคุมให้มีการแพร่ในระดับที่ต่ำ ( low transmission) มีการสูญเสียชีวิตน้อย เพราะโรงพยาบาลรองรับได้ทัน ในขณะเดียวกันก็เริ่มเปิดให้ผู้คนทำมาหาเลี้ยงชีพ ทำธุรกิจ ทำการผลิด นักเรียนได้เรียนหนังสือ คนได้ทำงาน และสังคมไม่หยุดนิ่ง มีการพัฒนาที่สมดุลย์ทั้งการควบคุมโรคและการประกอบกิจการและกิจกรรมต่างๆ เป็นการกลับสู่ชีวิตปกติแต่ด้วยวิถีแบบใหม่ (New Normal)

ฉากทัศน์นี้จะสามารถทำให้เป็นจริงและเกิดขึ้นได้ โดยอาศัยองค์ประกอบที่สำคัญ 5 ประการคือ
1) เพิ่มความเข้มข้นในมาตรการทางสาธารณสุขและการแพทย์ ประกอบด้วยการขยายการตรวจให้ครอบคลุมทุกจังหวัด มีการตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็ว แยกรักษา เฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในบางกลุ่มประขากร ที่เสี่ยงต่อการระบาด เช่นกลุ่มที่อยู่กันแออัด เรือนจำ บ้านคนชรา ชุมชนแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น มีการติดตามผู้สัมผัสอย่างรวดเร็ว มีสถานที่รองรับการแยกกัก และหอพักผู้ป่วยโควิด ที่เพียงพอ สะดวกได้มาตรฐานในทุกจังหวัด (ภาคผนวก 2)

2) ทำให้ทุกคน ทุกสังคม และทุกพื้นที่ เข้าใจและปฎิบัติตามมาตรการสุขลักษณะ ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน การมีระยะห่างทางกาย งดการชุมนุม งดงานสังคมที่จัดใหญ่โตมีคนมากๆเปลี่ยนเป็นงานขนาดเล็กภายในหมู่ญาติสนิทและครอบครัว เป็นต้น

3) เปิดให้ธุรกิจเริ่มเดินหน้า โดยมีการประเมินความเสี่ยงของการดำเนินงานโดยองค์กร ธุรกิจ อุตสหกรรม หากมีความเสี่ยงต้องปรับให้เข้ามาสู่ความเสี่ยงต่ำที่จัดการได้ เช่นใช้มาตรการตรวจวัดไข้ เว้นระยะห่างทางกาย ลดการใช้เสียง เพิ่มการระบายอากาศ การลดจำนวนผู้คนที่มาติดต่อใช้บริการ และการใช้เท็คโนโลยี่ให้ทำงาน ประชุม ติดต่อบริการ โดยไม่ต้องมีการพบปะกันมากๆ (ภาคผนวก 3)

4) การปิดแหล่งแพร่โรคที่สำคัญ บริการหรือกิจการที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งถูกสอบสวนพบว่าเป็นแหล่งแพร่ระบาดให้เกิดผู้ติดเชื้อมากๆ อันได้แก่สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานบริการทางเพศทั้งตรงและแฝง สนามการพนันในรูปแบบต่างๆ ต้องปิดในระยะยาว สำหรับการปิดกิจการอื่นๆ ในอนาคต ควรใช้วิธีปิดแบบจำเพาะ Selective measures แทนการปิดแบบครอบจักรวาล

5) มีระบบเฝ้าระวังตรวจจับและคาดการณ์ความรวดเร็วของการแพร่ระบาดในระดับพื้นที่และระดับประเทศ เพื่อเป็นการจัดระดับสถานการณ์ เป็นการเตือนและเพิ่มมาตรการหรือผ่อนคลายมาตรการตามบริบทของแต่ละจังหวัดหรือหากเป๋นไปได้ย่อยลงไประดับอำเภอ (ภาคผนวก 4) และมีการเฝ้าระวังโดยภาคประชาชน

การเปลี่ยนผ่านจากมาตรการกึ่งล็อคดาวน์ ไปสู่มาตรการสร้างเสถียรภาพควรต้องเตรียมตัวและให้มั่นใจว่ามาตรการที่สำคัญยังคงอยู่ ไม่เปลี่ยนผ่านแบบรวดเร็ว ควรดำเนินการโดยเริ่มจากจังหวัดกลุ่มแรกที่ไม่พบผู้ป่วยในสองสัปดาห์ที่ผ่านมา (ประมาณ 32 จังหวัด) สามารถเริ่มได้ในต้นเดือนพฤษภาคม หรืออาจนำร่องทดลองปลายเดือนเมษายนสักสามหรือสี่จังหวัด หลังจากนั้นจึงเริ่มในกลุ่มที่สองคือจังหวัดที่พบผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่แบบประปราย (ประมาณ 38 จังหวัด) ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม สำหรับกลุ่มที่สามคือจังหวัดที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่องเป็นกลุ่มก้อน (ประมาณ ๗ จังหวัด) หากจังหวัดเหล่านี้สามารถลดการระบาดลงมาได้ในระดับต่ำตามเกณฑ์ และไม่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ ก็ควรให้เริ่มเปลี่ยนผ่านได้ในต้นเดือนมิถุนายน หรืออาจเริ่มก่อนหน้านั้นได้ หากควบคุมสถานการณ์ได้ดี

หากศูนน์บริหารโควิด (ศบค) และรัฐบาลเห็นชอบกับข้อเสนอดังกล่าวนี้ ก็สามารถให้นโยบายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทุกจังหวัดเพื่อเตรียมการ สำหรับรายละเอียดแผนการเปลี่ยนผ่านในภาคธุรกิจ และภาคสังคม ควรให้แต่ละภาคส่วนร่วมปรึกษาหารือจัดทำรายละเอียด เพื่อให้ดำเนินการได้ด้วยความปลอดภัย เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด โดยหน่วยงานรัฐและมหาวิทยาลัยในแต่ละภูมิภาคหรือจังหวัด ให้การสนับสนุนด้านเทคนิควิชาการ เป็นการร่วมมือของคนทั้งสังคม

ผลที่คาดว่าจะได้รับคือ ก่อนจะถึงเวลาที่มีวัคซีนป้องกันโรคโควิค-19 ประเทศไทยจะสามารถควบคุมให้มีการติดเชื้อโควิด-19 ในระดับต่ำ มีผู้เสียชีวิต จำนวนไม่มาก ในขณะที่ประชาชนสามารถเริ่มทำงานประกอบอาชีพได้ ประเทศไทยมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมและประชาชนเกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบใหม่

ภาคผนวกที่ 1
ระดับการระบาดของจังหวัด ณ วันที่ 14 เมเมษายน พ.ศ. 2563 (จะมีการ update ทุกวันและพิจารณารายชื่อจังหวัดก่อนสิ้นเดือนเมษายนอีกครั้ง)
กลุ่ม 1 จังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยในช่วง 14 วันล่าสุด หรือ พบผู้ป่วยนาเข้าเท่านั้นแต่ไม่มีการแพร่โรคต่อในพื้นที่ รวม 32 จังหวัด น่าน กาแพงเพชร พิจิตร สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท บึงกาฬ ตราด ระนอง จันทบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด สุโขทัย อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครนายก นครพนม พังงา สกลนคร สตูล หนองบัวลาภู อานาจเจริญ อุดรธานี พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน ลพบุรี สระบุรี

กลุ่ม 2 พบผู้ป่วยในช่วง 14 วันล่าสุด แบบมีการแพร่เชื้อในวงจำกัด และพบผู้ป่วยประปรายไม่เกิน 5 รายต่อสัปดาห์และสามารถหาความเชื่อมโยงของผู้ป่วยแต่ละรายได้ (limited local transmission) รวม 38 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี เชียงใหม่ นราธิวาส กระบี่ กาญจนบุรี ขอนแก่น ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พะเยา พัทลุง เพชรบุรี ระยอง ราชบุรี ลาปาง ลาพูน เลย ศรีสะเกษ สงขลา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระแก้ว สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ หนองคาย อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี

กลุ่ม 3 จังหวัดที่พบผู้ป่วยในช่วง 14 วันย้อนหลัง แบบมีการแพร่เชื้อต่อเนื่องในพื้นที่ มากกว่า 5 รายต่อสัปดาห์และไม่สามารถหาความเชื่อมโยงของผู้ป่วยได้ (sustained local transmission) รวม 7 จังหวัด กทม. ชลบุรี นนทบุรี ภูเก็ต สมุทรปราการ ปัตตานี ยะลา

ภาคผนวก 2
ความสามารถด้านสาธารณสุขและการแพทย์เพื่อควบคุมโรคโควิดในระดับจังหวัด
วัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานสาธารณสุขของทุกจังหวัดพัฒนาขีดความสามารถที่จะควบคุมสถานการณ์ของโรคโควิดได้เมื่อเกิดการเปลี่ยนผ่านความสามารถที่จำเป็น

องค์ประกอบที่สำคัญประกอบด้วย
ด้านห้องปฎิบัติการ
• สามารถทำการตรวจหา PCR ในจังหวัดเอง รวมถึงชุดตรวจหาแอนติบอดี้ ที่รู้ผลในวันเดียวกันด้านการเฝ้าระวัง
• รายงานจำนวนผู้ป่วยเป็นรายวัน หากไม่มีต้องรายงาน Zero Report
• สุ่มตรวจการติดเชื้อโควิดในผู้ป่วยที่มาด้วยเรื่อง Influenza like illness และอาการปอดบวม เป็นรายสัปดาห์อย่างน้อย 50 ราย
• สุ่มตรวจการติดเชื้อโควิดในประชากรกลุ่มเปราะบางเช่น เรือนจำ แรงงานอพยพ คนงาน บ้านพักคนชรา คนไร้บ้าน ฯฃฯ เป็นระยะๆ
• ตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันในประชากรทั่วไปและเฉพาะกลุ่มแบบต่อเนื่อง (Cohort) ทุกสามเดือน ด้วยชุดตรวจแอนติบอดี เช่นกลุ่มพนักงานเทศบาล บุคลากรทางการแพทย์ ...
ด้านการสอบสวนโรคและติดตามผู้สัมผัส
• มีทีมสอบสวนโรคทุกอำเภอพร้อมออกสอบสวน ติดตามผู้สัมผัส (ร่วมกับเทคโนโลยี่สมัยใหม่) และการค้นหาผู้ป่วยอาการน้อยจำนวนมากในกลุ่มเสี่ยงต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการระบาด
ด้านการแยกกัก (quarantine)
• มีหอพักเฝ้าสังเกต (Quarantine+Hotel) เพื่อแยกกักผู้สัมผัส

...

ที่มา - เฟซบุ๊ค : สมชาย-แสวงการ