ยอดป่วยลด การเมืองขยับ ‘ภท.-ปชป.’ แอ็คชั่น! ทวงอำนาจ
เจาะลึกเกมอำนาจ “ภูมิใจไทย” “ประชาธิปัตย์” ที่พากันออกมาขยับ! หลังถูกริบอำนาจไปชั่วคราว
ตั้งแต่ประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 26 มี.ค.63 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ (ศบค.) ออกคำสั่งโอนอำนาจของ “รัฐมนตรี” ให้มาอยู่ภายใต้การสั่งการเองของ พล.อ.ประยุทธ์ เกือบทั้งหมด
ทำให้ “รัฐมนตรี” จาก “พรรคร่วมรัฐบาล” ไร้อำนาจในการบริหารงานที่ตัวเองเป็นเจ้ากระทรวงอยู่ ทำได้เพียงแค่ควบคุมให้การทำงานเป็นไปตามกลไกการบริหารงานราชการ ไม่มีอำนาจ“สั่งการ” ให้ข้าราชการปฏิบัติตามได้
แถมยังโดน พล.อ.ประยุทธ์ หมางเมินด้วยการแต่งตั้ง “หัวหน้าผู้รับผิดชอบ” เพื่อสั่งการงานในด้านต่างๆ จัดองคาพยพสู้โควิด-19 ด้วยตัวเอง เพราะไม่มั่นใจการทำงานร่วมกับ “พรรคร่วมรัฐบาล” ที่การบริหารงานมักจะเดินกันคนละทิศ ปฏิบัติกันคนละทาง
โดยเฉพาะการบริหารงานของ “2 บิ๊กพรรคร่วม” ทั้ง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีรมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีรมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โดนถล่มจนเละ
“อนุทิน” เคยให้สัมภาษณ์ถึงกรณีบุคลากรทางแพทย์ ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก ว่าเป็นเพราะเกิดความหละหลวม ทั้งที่ต้องปฏิบัติตนเป็นตัวอย่าง จึงต้องขอ “หวด” สิ้นเสียงขู่ของ “เสี่ยหนู” ตามมาด้วยเสียงก่นด่าจากประชาชนที่ออกมาปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ จน“อนุทิน” ต้องออกมาขอโทษ
“จุรินทร์” ก็เคยโดนพิษหน้ากากอนามัยขาดแคลน จนราคาขายในท้องตลาดพุ่งสูง ที่สำคัญมีข่าว “ที่ปรึกษาหญิง” เข้าไปพัวพันกับขบวนการกักตุนหน้ากากอนามัย ประกอบกับ “จุรินทร์” เคยยืนยันว่า มี หน้ากากอนามัยอยู่ในสต็อก 200 ล้านชิ้น แต่เมื่อถึงเวลาจำเป็นต้องใช้ กลับกลายเป็น “สต็อกลม” หายเข้ากลีบเมฆ
หลัง “2 บิ๊กพรรคร่วม” โดนโจมตีอย่างหนัก พล.อ.ประยุทธ์ จึงมีความชอบธรรมในการรวบอำนาจไปบริหารจัดการเสียเอง และเริ่มส่งผลให้เห็นว่า การทำงานของ ศบค. สามารถจำกัดการแพร่เชื้อโควิด-19 ได้ โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ลดลงอยู่ในหลักสิบ ทำให้สถานการณ์เริ่มผ่อนคลาย มีโอกาสสูงที่จะเปิดกิจการต่างๆ ในวันที่ 1 พ.ค.นี้ เพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเดินได้
ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ โกยแต้มในศึกพิชิตโควิด-19 ไปเพียงคนเดียว คะแนนของพล.อ.ประยุทธ์ แม้จะได้ที่ตัวบุคคล แต่จะถูกเติมให้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แตกต่างจากคะแนนของ “อนุทิน-จุรินทร์” ที่ก่อนหน้านี้ติดลบลงไป ถูกแย่งชิง คะแนนทิ้งห่าง
เมื่อวันที่ 20 เม.ย.63 ที่ผ่านมา จึงเห็น "แอ็คชั่นการเมือง" ของ "อนุทิน" นั่งหัวโต๊ะเรียกผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขร่วมวงประชุม ทั้งที่นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับสาธารณสุข นั่งประชุมร่วมโต๊ะอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์
“อนุทิน” เล่นเกมข้ามช็อต ชงข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข ให้ปลดล็อกดาวน์ 3 ระยะ โดยเริ่มจาก 32 จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14 วัน โดยให้ ศบค. พิจารณา แต่อย่าลืมว่าข้อมูลทุกอย่าง นายแพทย์สุขุม รายงานตรงต่อ พล.อ.ประยุทธ์ มาโดยตลอด การออกแอ็คชั่นของ“อนุทิน” จึงถูกมองว่าตีกินกระแสโควิด-19
ขณะที่ "จุรินทร์" หลังเปิดศึกกับภาคประชาชน ฟ้องร้องคดีหน้ากากอนามัยกันหลายคดี และการแจกจ่าย หน้ากากอนามัย ถูก พล.อ.ประยุทธ์ ส่งไม้ต่อให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดารมว.มหาดไทย เป็นผู้ดูแล
เมื่อฤกษ์งามยามดี "จุรินทร์" ฉวยจังหวะกระแสโควิด-19 เริ่มดีขึ้น จึงอาสาเป็นคนกลางหารือเอกชน ขอปรับลดราคาสินค้าลง 72 รายการ เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย.-30 มิ.ย.63 โดยลดจาก 5- 58% โดยให้กรมการค้าภายใน ประสานเอกชน ปรับลดราคาสินค้า อาทิ หมวดอาหาร เครื่องดื่ม หมวดอาหารปรุงสำเร็จรูป แช่แข็ง หมวดซอสปรุงรส หมวดของใช้ในชีวิตประจำวัน หมวดผลิตภัณฑ์ซักล้าง และหมวดผลิตภัณฑ์ชำระร่างกาย
ความเคลื่อนไหวของ “2 บิ๊กพรรคร่วม” ต้องการรักษาฐานที่มั่นของตัวเองเอาไว้ แม้พล.อ.ประยุทธ์ จะรวบอำนาจไปสั่งการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จนไม่สามารถคอนโทรลงานของตัวเองได้ จึงจำเป็นที่จะต้องเคลื่อนไปตามสภาพที่ถูกจำกัดเอาไว้
แถมยังมี ข่าวลือ-ข่าวปล่อย เขย่าขวัญ “พรรคร่วมรัฐบาล” ว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะถือโอกาสที่คะแนนนิยมเริ่มพุ่งสูง รีเซ็ตการเมืองชิงจังหวะยุบสภา จัดการเลือกตั้งใหม่ เพราะหากดันทุรังให้ ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ คุมกระทรวงสำคัญเอาไว้ ก็อาจจะขับเคลื่อนงานด้านเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่
ทว่า “โมเดลยุบสภา” อาจจะเสี่ยงไป เพราะหาก พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ลงสนามเลือกตั้งอีกครั้ง ไม่แน่... กระแสอาจดีกว่าเดิม
จึงมีอีกโมเดลที่มีความเป็นไปได้คือ พล.อ.ประยุทธ์ ชิงจังหวะลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้มีการจัดสรรหาโควตา “รัฐมนตรี” ใหม่ทั้งหมด เนื่องจาก พรรคภูมิใจไทย มีจำนวนเก้าอี้ส.ส. เพิ่มมากขึ้น หลังจากดูด อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เข้าร่วมพรรคกว่า 10 คน
ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งถือเป็นหนามยอกอกของ พล.อ.ประยุทธ์-บิ๊ก คสช. อาจจำเป็นต้องให้ “จุรินทร์” คัดกรอง ส.ส. ที่สามารถคอนโทรลได้ว่า มีจำนวนเท่าไร เพราะมี ส.ส.ประชาธิปัตย์หลายคน ยังเทใจให้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรค จนเดินเกมการเมืองในสภาฯ คนละคีย์กับมติของ “วิปรัฐบาล” จนมีปัญหามาหลายครั้ง
หลังเสร็จศึก“โควิด-19” ต้องจับตาทุกความเคลื่อนไหวของ “บิ๊กการเมือง” ที่จะกลับมาต่อรองกันอีกระลอก รอบนี้ก็อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะเลือกเดินเกมไหน เพื่อให้ตัวเองอยู่ในอำนาจต่อไปและมั่นคงกว่าที่ผ่านมา