“พุทธิพงษ์” รมว.ดีอีฯ เสนอตั้งกองบัญชาการฯ เร่งสกัดจับโจรไซเบอร์-Fake News ทั่วประเทศ
รองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เยี่ยมศูนย์ต่อต้านข่าวกรอง “Anti-Fake News Center” ขณะที่ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เสนอขอตั้งกองบัญชาการฯ เร่งปราบ-สกัดจับ โจรไซเบอร์ และข่าวปลอมทั่วประเทศ เพื่อให้ทันสถานการณ์กับผู้กระทำความผิด
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเข้าเยี่ยมติดตามความคืบหน้าศูนย์ต่อต้านข่าวกรอง Anti-Fake News Center ซึ่งได้รายงานเรื่องข้อมูลขั้นตอน วิธีติดตามข้อมูลข่าวกรอง โดยเฉพาะข่าวกรองเรื่องไวรัสโควิด 19 ซึ่งได้รายงานที่มาที่ไป กระบวนการติดตาม และการชี้แจงข้อมูลให้ประชาชน ผ่านทาง ช่องทางเฟซบุ๊ค ไลน์กรุ๊ป และเว็บไซต์ซึ่งมีผู้ติดตามกว่าล้านคน ทั้งนี้ ได้รายงานว่ามีปัญหาและขั้นตอนในการดำเนินการอย่างไรบ้าง และการดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งนอกจากกฎหมายปกติในช่วงนี้ จะมีพระราชกำหนดเพิ่มเติม ซึ่งทำงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความคืบหน้าไปพอสมควร
นอกจากนี้ยังได้รายงาน พลเอกประวิตร ในเรื่องต่างๆ อีกด้วย อาทิ เรื่องแรกปัญหาในการปฏิบัติงาน ในการตรวจสอบข่าวว่า เป็นความจริงหรือไม่ โดยทางศูนย์ไม่สามารถดำเนินการเองได้ ต้องประสานหน่วยงานอื่นๆที่รับผิดชอบ ซึ่งบางครั้งมีขั้นตอนทำให้ไม่สามารถรายงานได้ภายใน 2 ชั่วโมง จึงต้องไปปรับปรุงกระบวนการให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
เรื่องที่สอง เรื่องการติดตามของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งมีการดำเนินคดีอย่างเคร่งครัดทั้ง ตาม พรบ. คอมพิวเตอร์ และพระราชกำหนด ซึ่งมีการประกาศใช้ในปัจจุบัน แต่ก่อนที่ตำรวจจะดำเนินการให้ครบ ต้องให้ต้นสังกัดที่ได้รับความเสียหาย ต้องส่งเจ้าหน้าที่มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อรวบรวมข้อมูลในการดำเนินคดี ดังนั้น จึงต้องขอความร่วมมือ พลเอกประวิตร ให้ช่วยกำชับในเรื่องนี้ ซึ่งท่านรองนายกฯ จะนำเรื่องนี้ไปหารือใน ครม. เพื่อดำเนินการให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงฯ กำชับกับทุกหน่วยงานว่า หากมีข่าวกรองในเรื่องโควิด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาร้องทุกข์กล่าวโทษภายในสามวัน เพื่อให้ครบองค์ประกอบในการดำเนินคดีต่อไป
เรื่องที่สาม ได้มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการเรื่องปัญหาข่าวปลอมในภาพรวม ว่ามีจำนวนมาก ไม่ใช่ประเทศไทย แต่ทั่วโลก ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ได้มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเร่งแก้ไขปัญหา ดังนั้น จึงได้เสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งกองบัญชาการในการ ที่ดูแลในเรื่องเกี่ยวกับไซเบอร์และภัยต่างๆ ที่เกิดจากคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่แต่เรื่อง Fake News อย่างเดียว อาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับไซเบอร์ การติดตาม เนื่องจากวันนี้เรามีเจ้าหน้าที่สำนักงานของ ปอท. ที่ดำเนินการอยู่แล้ว แต่เราเห็นปัญหาที่ผ่านมาว่า ปัญหา Fake News มันเกิดขึ้นทั่วทุกจังหวัด และผู้ที่กระทำผิดกระจายไปอยู่ในทั่วทุกอำเภอ ทุกจังหวัด การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท. หรือหน่วยงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บางครั้งก็อาจยังไม่ครอบคลุม รวมไปถึงการแจ้งความกล่าวโทษ ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเช่น มีบุคลากรบางคนที่ถูก bully ถูกโพสต์หมิ่นประมาท ซึ่งที่ผ่านมาเป็นประชาชนธรรมดา ถ้าจะต้องมาร้อง พ.ร.บ.คอมฯ ก็ต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาร้องทุกข์กล่าวโทษที่ ปอท. ที่กรุงเทพฯ ทำให้ไม่สะดวก
ดังนั้น ถ้าเรามีเป็นกองบัญชาการฯ ก็จะสามารถจะมีผู้บัญชาการ และก็ตัวผู้บังคับใช้ที่อยู่ภายใต้กองบัญชาการในอนาคต กระจายอยู่ตามภาคต่างๆ ก็สามารถจะมีความเชี่ยวชาญสามารถในเรื่องของไอที. แล้วก็รับเรื่องราวร้องทุกข์กล่าวโทษได้ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น ในประเด็นที่สองก็คือประเด็นของการติดตามตรวจสอบ ตรวจจับ สืบสวน ถ้าเป็นกองบัญชาการ ก็จะมีเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในแต่ละภูมิภาค ในแต่ละจังหวัด ก็สามารถจะไปติดตามผู้ที่กระทำผิดต่างๆ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศได้รวดเร็วและก็ลงลึก และก็อาจจะเป็นการป้องปรามไปในระดับหนึ่ง
ไม่ว่าใครอยู่ที่ไหนอำเภออะไร ถ้าท่านมีประสงค์ที่ไม่ดีในการทำ Fake News เราสามารถเข้าไปถึงพื้นที่ได้ทันท่วงที เพราะว่าวันนี้กว่าเราจะติดตามตรวจสอบส่งให้ตำรวจ บางที platform ต่าง ๆ ที่เราตรวจสอบได้ก็ปิดไปแล้ว ปิดเว็บไซต์หนีบ้าง ย้ายพวกระบบต่างๆ ปิดแล้วก็หนีไป ทำลายหลักฐานไปหมดแล้ว ดังนั้นปัญหาในเรื่องของ Fake News ปัญหาในเรื่องของไซเบอร์ รวมถึงการบุกเจาะของคนที่ไม่ได้มีความประสงค์ดี อย่างเช่น เข้าไปบุกเจาะขององค์กรต่างๆ เพื่อเข้าไป hack ข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะของรัฐหรือของเอกชน ก็เป็นปัญหาของโลก ซึ่งเกิดขึ้นอย่างมากทั่วทุกประเทศ และประเทศไทยก็เห็นว่าเรื่องที่มีความสำคัญนอกจาก Fake News ก็ยังมีเรื่องของปัญหาไซเบอร์ต่างๆ หากทางตำรวจตั้งโครงสร้างให้เป็นกองบัญชาการมาได้ มีความครอบคลุมในการทำงานทั้งการสืบสวนและตรวจจับ จะรัดกุมและรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งท่านรองนายกพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ให้นโยบายในเรื่องนี้ และเห็นชอบให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้เร่งตั้งกองบัญชาการหรือในต่างประเทศอาจเรียกว่าตำรวจไซเบอร์ ที่ดูการติดตามทั้งหมดในระบบที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้รวบรวมข้อมูล เพื่อจะส่งต่อและแก้ปัญหาได้ทันเหตุการณ์
นี่เป็นเรื่องทั้งหมดที่ได้รายงาน ท่านรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านได้ให้ความร่วมมืออย่างดี และได้ให้กำลังใจ ให้ความสำคัญในเรื่องนี้