มหากาพย์ ‘รัฐสภาใหม่’ สู่ ‘ค่าโง่’ 1,590 ล้าน
ตามติด มหากาพย์ "รัฐสภาใหม่" ที่นอกจากประเด็นความ(ไม่)คืบหน้าที่เกิดขึ้น ซึ่งยืดเยื้อมากว่า 7 ปีแล้ว ล่าสุด โครงการดังกล่าว ยังถูกตั้งคำถามถึง “ค่าโง่” จำนวน 1,590 ล้านบาท ที่อาจจะต้องเสียไป
“สัปปายะสภาสถาน” อันหมายถึง “สภาที่มีแต่ความสงบร่มเย็นสบาย” เป็นชื่อของ “โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่” ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านเกียกกาย เนื้อที่รวม 123 ไร่ 1 งานเศษ
ล่าสุด ดูเหมือนจะไม่สงบ ร่มเย็น ดังคำนิยามเสียแล้ว เพราะนอกจากประเด็นความ(ไม่)คืบหน้าที่เกิดขึ้น ซึ่งยืดเยื้อมากว่า 7 ปี ล่าสุด โครงการดังกล่าว ยังถูกตั้งคำถามถึง “ค่าโง่” จำนวน 1,590 ล้านบาท ที่อาจจะต้องเสียไป
หลังจากที่ บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับจ้างก่อสร้าง มีการฟ้องร้องสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กรณีการส่งมอบพื้นที่เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ ล่าช้า ส่งผลให้มีการขยายสัญญา ถึง 4 ครั้ง พร้อมเรียกร้องค่าเสียหาย เป็นมูลค่าสูงถึง 1,590 ล้านบาท
เนื้อหาในหนังสือของสำนักงานศาลปกครองกลาง ที่ลงนามโดย “ชัชชัย ยอดมาลัย” ตุลาการศาลปกครอง ส่งถึงสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2563 ที่ผ่านมา ยังระบุให้สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ในฐานะผู้ถูกฟ้อง คัดสำเนาภายใน 60 วัน นับจากวันที่รับคำสั่ง ซึ่งคือ วันที่ 22 เม.ย.2563
หากผู้ถูกฟ้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ ศาลจะถือว่าผู้ถูกฟ้องยอมรับข้อเท็จจริงตามข้อหาของผู้ฟ้องคดี
จริงอยู่ ที่คดีนี้ยังมีช่องทางในการต่อสู้กันอีกหลายยก แต่ก็เป็นข้อถกเถียงว่า บริษัทซิโน-ไทยฯ สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวได้หรือไม่? และใครจะต้องรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น?
ในมุมของ สรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาฯ ซึ่งรับผิดชอบโดยตรงในเรื่องนี้ มองว่า ในสัญญาได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ผู้รับจ้างไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ ได้”
ประกอบกับปัญหาล่าช้าที่เกิดขึ้น สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้ชดเชย โดยการขยายเวลาก่อสร้างให้แล้วถึง 4 ครั้ง
และการที่บริษัท ซิโน-ไทยฯ ฟ้องต่อศาลปกครองกลาง อ้างว่าสัญญาดังกล่าวไม่เป็นธรรม ทางฝั่งสภาฯ ก็ได้ให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการแก้ไขคำฟ้องตามกระบวนการแล้ว
สรศักดิ์ เพียรเวช
แต่ในมุมของ วิลาศ จันทร์พิทักษ์ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ และอดีตประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) ของสภาฯ ซึ่งเกาะติดเรื่องนี้มาโดยตลอด มองว่า ในทางธุรกิจแม้แต่ 1 วัน ก็ถือว่าเป็นเงินเป็นทองทั้งสิ้น ดังนั้น จึงไม่แปลกที่บริษัทซิโน-ไทยฯ จะเลือกใช้วิธีการฟ้องร้อง เรียกค่าเสียหาย แทนการขยายสัญญารอบที่ 5
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงตั้งคำถามกลับมายังฝั่งสภาฯ โดยเฉพาะ ตัวเลขาธิการสภาฯ สรศักดิ์ เพียรเวช ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ที่มาจากการขยายสัญญาที่ยืดเยื้อถึง 4 ครั้ง เป็นจำนวน 6,864 วัน มากกว่าสัญญาหลักถึงเท่าตัวว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ใคร หรือคนกลุ่มใดหรือไม่?
วิลาศ จันทร์พิทักษ์
ไล่เรียงไทม์ไลน์ ตั้งแต่ ครั้งที่ 1 ซึ่งคณะกรรมการตรวจจ้าง (มีเลขาธิการสภาฯ คนปัจจุบันเป็นประธาน) มีการขยายสัญญา 387 วัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ มีการอนุมัติขยายแค่ 287 วัน ซึ่งเรื่องนี้เคยมีการเสนอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ตรวจสอบ
ต่อมา มีการขยายสัญญาครั้งที่ 2 อีก จำนวน 421 วัน ขยายครั้งที่ 3 จำนวน 674 วัน และครั้งล่าสุดคือครั้งที่ 4 มีการขยายสัญญาอีกจำนวน 382 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 31 ธ.ค.ปี 2563 นี้
ที่ส่อแววว่า อาจมีการขยายสัญญาอีกครั้ง หลังจากที่ มีวิศวกรอาวุโส ซึ่งเกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ทำหนังสือถึงประธานสภารัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร “ชวน หลีกภัย” บอกว่า ที่ทำมา 4 เดือนนี้ วันนี้ช้าไปแล้ว 30 กว่าวัน
อดีตมือปราบประจำสภา ยังตั้งข้อสังเกตไปถึง “ค่าโง่” จำนวน 1.5 พันล้านว่า ไม่เคยเห็นสัญญาที่ไปเขียนลงรายละเอียดว่า ผู้รับจ้างไม่อาจเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากผู้ว่าจ้าง ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด
เห็นได้จากการขยายสัญญา 4 ครั้งที่ผ่านมา ไม่เห็นบริษัทผู้รับจ้างเขียนตรงไหนว่า จะเรียกค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
ภภาพจากเฟซบุ๊คเพจ โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่
ถึงนาทีนี้ แม้ตัว “สรศักดิ์” เอง จะดูเหมือนมั่นอกมั่นใจว่าบริษัทซิโน-ไทยฯ ไม่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวได้ และหากบริษัท ซิโน-ไทย จะขอขยายเวลาก่อสร้างเป็นรอบที่ 5 ไปถึงปี 2564 โดยอ้างเหตุเดิมอีก ยืนยันว่าจะไม่ขยายเพิ่มเติมอีก
แต่ก็ยังไม่มีอะไรที่จะมาการันตีได้ 100% ว่า ท้ายที่สุดแล้ว ฝ่ายสภาฯจะเป็นฝ่ายชนะคดี และไม่ต้องเสียค่าโง่จำนวนดังกล่าว เพราะหากดูจากคำให้สัมภาษณ์ของ “สรศักดิ์” แล้ว ดูเหมือนว่า จะเป็นเพียงการโยน “เผือกร้อน”ให้เลขาธิการสภาฯ คนใหม่ เป็นผู้พิจารณาเท่านั้น
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่วันเริ่มต้นก่อสร้างอาคารรัฐสภา ในวันที่ 8 มิ.ย.2556 ไปจนถึงวันขยายสัญญาครั้งที่ 4 ซึ่งล่วงเลยมาถึง 7 ปี ตามมาด้วยข้อเคลือบแคลงสงสัย ในเรื่องความโปร่งใส ในการดำเนินโครงการ
ล่าสุด “วิลาศ” ออกมาเปิดข้อมูลอีกชุดว่า มีเรื่องที่เกี่ยวกับสภาฯ ไม่น้อยกว่า 10 เรื่อง ที่รอการเปิดเผย ซึ่งทุกเรื่องส่อว่า เป็นไปในทางทุจริต
ทั้งกรณีการประชุม กมธ.ตรวจสอบการก่อสร้างอาคารรัฐสภา ที่ไม่ยอมให้เอกสารติดตามข้อเท็จจริง หรือกรณีการก่อสร้างอาคารรัฐสภาไม่ตรงตามแบบ
ซึ่งเจ้าตัวมั่นใจว่า ท้ายที่สุดแล้ว จะต้องมีผู้ที่ “ติดคุก”ในคดีนี้อย่างแน่นอน
สำหรับโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2536 สมัยที่ “ชวน หลีกภัย”เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเริ่มต้นที่การหาที่ตั้ง ไปจนถึงการก่อสร้าง ซึ่งนับจนถึงขณะนี้ ได้ล่วงเลยมาแล้ว 26 ปี
จากปัญหาความล่าช้าที่เกิดขึ้น บวกกับจำนวนงบประมาณมหาศาลที่เสียไป จนกลายเป็น “มหากาพย์รัฐสภาใหม่” ที่กำลังลาม มาถึง “ค่าโง่” ที่อาจจะต้องเสียให้เอกชนถึง 1,590 พันล้าน
ยังคงเป็นคำถามที่ค้างคาใจของคนในสังคมว่า ใครต้องรับผิดชอบ?