บทความล่าสุด 'นพ.ประเวศ วะสี' ชี้โควิด ป้องกันการเกิดสงครามโลก สู่ทิศทางใหม่
อ่านรายละเอียด บทความล่าสุด "นพ.ประเวศ วะสี" ชี้โควิด ป้องกันการเกิดสงครามโลก สู่ทิศทางใหม่
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ประเวศ วะสี นักวิชาการด้านสาธารณสุขและการศึกษา เขียนบทความล่าสุด เรื่อง โลกหลังโควิด - โลก 7 N โควิด-19 ป้องกันการเกิดสงครามโลก สู่ทิศทางใหม่
รายละเอียด ดังนี้
เมื่อโลกมีความเครียดจัด จะเกิดสงครามใหญ่
เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) เมื่อต้นทศวรรษ 1930 ตามมาด้วยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีคนตายประมาณ 60 ล้านคน หลังสงครามเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาบูมสุดๆ การทำสงครามถูกใช้เป็นวิธีแก้วิกฤต เพราะส่งคนจนจำนวนหนึ่งไปตาย ลดความกดดันทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันกระตุ้นเศรษฐกิจและการมีงานทำด้วยการผลิตอาวุธ และลดความแตกแยกทางการเมืองในชาติ เพราะในยามสงครามผู้คนรวมตัวกันเพื่อเอาชนะศัตรู แม้ฟังดูร้ายกาจ และน่าสลดหดหู่เพียงใดที่การทำสงครามถูกใช้เป็นเครื่องมือแก้วิกฤต ผลก็ไม่จีรัง
ก่อนโควิด-19 จะมา โลกเครียดจัดอยู่แล้ว
ความเหลื่อมล้ำอย่างสุดๆ ทั้งภายในและระหว่างประเทศ ทำให้โลกเครียดจัด สมทบด้วยความขัดแย้งทางการเมือง เศรษฐกิจ ลัทธิ อุดมการณ์ ศาสนา สีผิว เกิดสภาพขัดแย้งที่รุนแรงยุ่งเหยิงจนไม่มีทางออก ดังที่เห็นได้ในตะวันออกกลาง ระดับความแค้นของโลกมุสลิมที่มีต่อการที่มหาอำนาจตะวันตกผลักดันให้มีการตั้งประเทศอิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์พุ่งสุดขีดปรอท พร้อมที่จะทำให้ทำอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นระเบิดฆ่าตัวตาย สงครามยิฮาร์ด ขับเครื่องบินชนตึก ก่อการร้ายสากล หรือทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ถ้ามี การพยายามสร้างและสะสมอาวุธนิวเคลียร์เป็นภัยที่คุกคามโลกทั้งใบ
ความเครียดในตัวมนุษย์เองก็พุ่งสูง และแสดงอาการในรูปต่างๆ ทางจิตประสาทและสังคม เช่น โรคซึมเศร้า การติดยาเสพติด การฆ่าตัวตาย การฆ่าผู้อื่นตายโดยไม่ปรากฏสาเหตุ เช่น การกราดยิงที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ความกลัว ความวิตกกังวล ความรุนแรง ยิ่งไปกระตุ้นสมองส่วนหลังหรือสมองสัตว์เลื้อยคลานให้กัมมันตะมากขึ้น ทำให้มนุษย์ทำอะไรๆ ตามสัญชาตญาณมากกว่าปรีชาญาณ ยิ่งเพิ่มความรุนแรงให้โลก
ความรุนแรงในโลก นอกจากความรุนแรงอย่างโจ่งแจ้ง เช่น การฆ่ากันตายในสงครามโลกและสงครามอื่นๆ เป็นร้อยล้านคน ยังมีความรุนแรงอย่างเงียบ (Silent violence) ได้แก่ ความยากจนและความอยุติธรรมในสังคม ซึ่งก่อความทุกข์ยากและคร่าชีวิตประชาชนจำนวนมากกว่าจากความรุนแรงชนิดโจ่งแจ้งหลายเท่าตัว
โลกที่เครียดจัดขนาดนี้จะต้องระเบิดไปทางใดทางหนึ่ง เช่น เกิดมิคสัญญีกลียุค หรือสงครามล้างโลกหลายๆ ครั้ง จนกระทั่งโลกลดระดับความเครียดลง
โควิด-19 มาช่วยป้องกันสงครามโลกครั้งใหญ่ สู่ทิศทางใหม่
เพราะวิกฤติโควิด-19 คราวนี้ กระทบหมดทั้งโลกทุกมิติ และไม่มีผู้ชนะ มีแต่ผู้แพ้
โลกยุคใหม่ หลังวิกฤติโควิด-19
ทำไมและอย่างไร
วิกฤติโควิด-19 สั่นสะเทือนโลกทั้งใบ ทุกมิติ ข้ามชาติ ข้ามศาสนา ข้ามลัทธิอุดมการณ์ ข้ามเผ่าพันธุ์ ก่อให้เกิดจิตสำนึกใหม่ระดับโลก เดิมแม้รุนแรงขนาดทิ้งระเบิดปรมาณูที่ประชาชนลูกเด็กเล็กแดงตายทันทีเป็นแสนคน ก็ไม่ก่อให้เกิดการกระตุ้นจิตสำนึกที่ใหญ่พอ เพราะสงครามมีฝ่ายแพ้และฝ่ายชนะ แต่วิกฤตโควิด-19 ทุกฝ่ายแพ้หมด ทำให้เกิดจิตสำนึกใหม่ระดับโลกที่ใหญ่พอที่จะทำให้โลกเปลี่ยน เมื่อจิตสำนึกของโลกเปลี่ยนโลกก็เปลี่ยน โลกใหม่คือโลกที่มีจิตสำนึกใหม่ (New Consciousness World)
โลกยุคใหม่หลังวิกฤตโควิด-19 มีอิทัปปัจจยตาสู่สภาพใหม่ ที่สรุปได้เป็น 7 ใหม่ หรือ 7N ดังต่อไปนี้
1. จิตสำนึกใหม่ (New Consciousness) เป็นจิตสำนึกใหญ่ ที่หลุดออกจากสภาวะเดิมอันเล็กและคับแคบ จากการที่เห็นโลกทั้งโลก ทุกสิ่งทุกอย่างถูกกระทบกระเทือนจากไวรัสตัวเล็กนิดเดียวเพราะสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงกว้างใหญ่ไพศาล จิตสำนึกใหญ่ทำให้หลุดเป็นอิสระจากการถูกบีบคั้นอยู่ในความคับแคบ เหมือนคนที่ออกจากคุกอันจำกัดและบีบบังคับออกมาสู่โลกกว้าง ทำให้เห็นความจริง มีความแจ่มแจ้ง มีความสุข มีศักยภาพ หรือเรียกว่ามีชีวิตจิตใจใหม่ ที่ทำให้สิ่งใหม่อื่นๆเกิดตามมา
2. การรับรู้ใหม่ (New Perception) การรับรู้เป็นฐานการคิด การรับรู้ที่ผิดนำไปสู่การคิดผิดๆ ความจริงคือสรรพสิ่งเชื่อมโยงเป็นทั้งหมดหรือองค์รวม (Wholeness) หนึ่งเดียวกัน การรับรู้แบบแยกส่วน คิดแบบแยกส่วน ทำแบบแยกส่วน คือต้นเหตุของการเสียสมดุล และความรุนแรงในโลกยุคเก่า การรับรู้ใหม่ตามความเป็นจริงของธรรมชาติ ว่าสรรพสิ่งอยู่ในความเป็นทั้งหมดเดียวกัน จะทำให้ตระหนักรู้ว่ามนุษย์ทั้งผองพี่น้องกัน อยู่ในองค์รวมหรือร่างกายเดียวกัน
3. วิธีคิดใหม่ (New Thinking) วิธีคิดเก่าคือคิดแบบแยกส่วน วิธีคิดใหม่คือคิดแบบบูรณาการ(Integration) การแยกส่วนทำให้ขาดบูรณาภาพและเสียสมดุล การบูรณาการทำให้เกิดบูรณภาพและดุลยภาพ
4. การทำใหม่ (New Action) การทำเก่าคือการทำแบบแยกส่วน การทำใหม่คือการพัฒนาอย่างบูรณาการ (Integrated development) การชำแหละออกเป็นส่วนๆ เช่น ชำแหละโค ชำแหละสุกร ทำให้สิ้นชีวิต ชีวิตคือการเชื่อมโยง การพัฒนาคือการเชื่อมโยง หรือบูรณาการทุกองค์ประกอบเข้าด้วยกัน
5. ความมุ่งหมายใหม่ (New Purpose) ความมุ่งหมายใหม่คือ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสมดุล(Living Together) ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแวดล้อม ไม่ใช่การแข่งขัน การสร้างความมั่งคั่ง การเอาชนะแบบเก่าๆ ซึ่งนำไปสู่การแตกสลายทางสังคมและการเสียสมดุล การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสมดุลต้องเป็นสิ่งสูงสุดที่กำหนดระบบต่างๆ ให้สนอง เช่น ระบบเศรษฐกิจ และการเมือง ไม่ใช่เอาระบบเศรษฐกิจที่ผิดๆ เป็นตัวตั้งอย่างที่แล้วมา แล้วไปทำให้การอยู่ร่วมกันแตกสลายหักพัง การอยู่ร่วมกันอย่างสันติจึงสำคัญสูงสุด ต้องถือการอยู่ร่วมกัน (Living Together)
6. ระบบการอยู่ร่วมกันใหม่ (New System of Living) ระบบเศรษฐกิจที่ผิดในยุคสมัยที่ผ่านมา อันเกิดจากการคิดแบบแยกส่วน ขาดความคิดเชิงองค์รวมว่าทั้งหมดเป็นส่วนของร่างกายเดียวกัน จะปล่อยให้ส่วนใดส่วนหนึ่งขาดโลหิตไปหล่อเลี้ยงมิได้ มีความเห็นผิดว่าระบบเศรษฐกิจคือการแข่งขันเสรีเพื่อสร้างความมั่งคั่ง ทำให้สังคมแตกกระจาย (social disintegration) เหลื่อมล้ำ เป็นตะปุ่มตะป่ำ ไม่สมดุล บีบคั้น อย่างชวนเวทนา ลองดูสลัมคนจนในสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่าง
สังคมยุคใหม่หลังโควิด-19 ที่ใช้หลักคิดองค์รวม บูรณาการ และความมุ่งหมายใหม่ ว่าเป็นสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสมดุล (Living Together) จะมีการจัดระบบใหม่ ที่มีชุมชนแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ขนาดต่างๆ ให้เลือก ตั้งแต่ชุมชนเล็กสุดๆ มีคนไม่กี่คน ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ไปจนถึงชุมชนโลก (World Community) โดยแต่ละชุมชนมีความเป็นองค์รวม (Holistic) ของตัวเอง และทั้งหมดสัมพันธ์กันแบบ chaordic
ตรงนี้ ควรทำความเข้าใจเรื่อง ส่วนย่อย (Parts) กับ องค์รวม (Whole) ซึ่งมีหลายระดับ
ส่วนย่อย องค์รวม
สสารต่างๆ เซลล์
เซลล์หลายๆ เซลล์ อวัยวะ
อวัยวะหลายๆ อวัยวะ ความเป็นคน
สสารต่างๆ (ประมาณ ๓๐๐ ล้านอณู) เป็นส่วนย่อยเมื่อรวมอยู่ในเซลล์ เซลล์เป็นองค์รวม แต่เซลล์หลายๆ เซลล์กลับเป็นส่วนย่อยที่รวมอยู่ในอวัยวะ อวัยวะเป็นองค์รวม อวัยวะหลายๆ อวัยวะกลับเป็นส่วนย่อย ที่รวมอยู่ในร่างกายทั้งหมด ร่างกายทั้งหมดเป็นองค์รวม
เมื่อมีความเป็นองค์รวมจะมีคุณสมบัติใหม่ อันมิใช่คุณสมบัติของส่วนย่อยผุดบังเกิด(Emerge) ขึ้น เช่น เซลล์มีคุณสมบัติใหม่คือมีชีวิต ซึ่งไม่ใช่คุณสมบัติของส่วนย่อยคือ สสาร หรืออวัยวะ เช่น สมอง และหัวใจ มีคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์ที่มิใช่คุณสมบัติของส่วนย่อยคือเซลล์ หรือองค์รวมของร่างกายทั้งหมดมีความเป็นคน ซึ่งมีคุณสมบัติอันมหัศจรรย์เหนือส่วนย่อยคืออวัยวะต่างๆ
ชุมชนขนาดเล็ก ก็มีความเป็นองค์รวมของตนเอง (Holistic)
ชุมชนขนาดเล็กหลายๆ ชุมชนอาจรวมเป็นองค์รวมขนาดใหญ่ขึ้น จะเรียกว่าท้องถิ่นหรืออะไรก็แล้วแต่
ท้องถิ่นขนาดเล็กหลายท้องถิ่นรวมเป็นท้องถิ่นขนาดใหญ่ ก็เป็นองค์รวมอีกขนาดหนึ่ง
แต่ละองค์รวมมีคุณสมบัติใหม่ผุดบังเกิดขึ้น
ในความเป็นองค์รวม เหมือนร่างกายของเราเมื่อมีความเป็นองค์รวมหนึ่งเดียวย่อมเกิดความบรรสานสอดคล้อง (Harmony) ความสมดุล ความเป็นปรกติสุข เกิดภูมิคุ้มกัน และเกิดการก้าวข้ามข้อจำกัด (Transcendence) สภาวะก้าวข้ามข้อจำกัดนี้บางทีก็เรียกว่า มิติทางจิตวิญญาณ (Spirituality)
Spirituality เป็นพลังชีวิตที่ทำให้มีปีติสุข และศักยภาพเหนือวัตถุ
ฉะนั้น ในชุมชนทั้งเป็นองค์รวมแต่ละขนาดจึงมีลักษณะ
- Holistic
- Harmony
- สมดุล
- ปรกติสุข
- ภูมิคุ้มกัน
- พลังทางจิตวิญญาณ หรือสภาพก้าวข้ามข้อจำกัด
เป็นระบบการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสมดุล (Living Together) เป็นปรกติสุขและมีศักยภาพอย่างยิ่ง
ชุมชนองค์รวม (Holistic community) ขนาดต่างๆ เหล่านี้สัมพันธ์กันแบบ chaordic
ชุมชนองค์รวมขนาดต่างๆ ต่างเป็นอิสระ ไม่มีใครมีอำนาจเหนือใครเข้ามาสัมพันธ์กันด้วยความสมัครใจ โดยการเรียนรู้ร่วมกัน และเกิดประโยชน์ร่วม
คือแต่ละหน่วยเป็นอิสระ ไม่มีใครมีอำนาจเหนือใคร เข้ามาสัมพันธ์กันด้วยความสมัครใจ โดยอาศัยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เกิดประโยชน์ร่วมกัน
ที่เรียกว่า chaordic เพราะเมื่อไม่มีอำนาจควบคุม เริ่มต้นจะโกลาหลจนวิกฤต ไม่สามารถสลัดออกจากอำนาจของสมองส่วนหลังได้ เพราะคิดเชิงอำนาจ สัมพันธภาพเชิงอำนาจ และโครงสร้างอำนาจ เมื่อโลกวิกฤตมากขึ้นๆ โควิดก็มา กระชากจิตสำนึกอย่างแรงให้เปลี่ยนไปใช้สมองส่วนหน้า หรือสมองแห่งความเป็นมนุษย์
โลกยุคใหม่หลังวิกฤตโควิด-19 จึงเป็นโลกแห่งการใช้สมองส่วนหน้า หรือสมองแห่งความเป็นมนุษย์ มนุษย์ชาติจะใช้ศักยภาพสูงสุดแห่งความเป็นมนุษย์ สร้างระบบแห่งการอยู่ร่วมกันใหม่(chaos) แต่ต่อมาจะจัดระเบียบลงตัวเอง (order) chaos + order = chaordic ความสัมพันธ์แบบนี้ให้ความสุข ความสร้างสรรค์ และสันติอย่างยิ่ง
ต่างจากสัมพันธภาพเชิงอำนาจที่นำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรง เช่น ระหว่างศาสนา ลัทธิ อุดมการณ์ สีผิว อย่างที่เป็นไปในโลกปัจจุบัน
สัมพันธภาพใหม่แบบ chaordic เป็นการถอนตัวจากโครงสร้างอำนาจ ไปเป็นโครงสร้างเชิงธรรม(ชาติ) ที่เคารพความหลากหลาย ทุกชุมชนองค์รวมมีสิทธิ์และศักดิ์ศรีในการอยู่ร่วมกันตามความเชื่อ คุณค่า ลัทธิ อุดมการณ์ของตนๆ ที่แตกต่างหลากหลายกันไป ไม่มีใครมีอำนาจเหนือใคร
สังคมในระบบ chaordic จึงปราศจากความขัดแย้งในระบบความเชื่อ คุณค่า ลัทธิ อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง สีผิว ฯลฯ
ระบบการอยู่ร่วมกันใหม่นี้ จึงสันติสมดุล ท่ามกลางความหลากหลายสุดประมาณ ความเป็นองค์รวมแต่ละระดับจะมีคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์ที่ทำให้ก้าวข้ามข้อจำกัดในตัวเอง(Transcendent)
ธรรมชาติสร้างสมองส่วนหน้า (Prefrontal cortex) อยู่ตรงหลังหน้าผาก ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้มนุษย์มีปรีชาญาณเหนือสัญชาตญาณอย่างสัตว์เลื้อยคลาน ที่ควบคุมโดยสมองส่วนหลัง รอคอยให้มนุษย์ก้าวข้ามข้อจำกัด (Transcending) ในตัวเองมานานแล้ว สมองส่วนหน้าทำให้มนุษย์มีศักยภาพสูงสุด
แต่มนุษย์ชาติก็ติดอยู่ในอำนาจสมองสัตว์เลื้อยคลานมานาน
7. ยุคใหม่ของมนุษย์ชาติ (New Era of Mankind) วิกฤติโควิด-19 ส่งสัญญาณการสิ้นสุดของยุคเก่าที่ผิดธรรมชาติ เริ่มต้นสู่ยุคใหม่ที่มนุษย์หันมาใช้ศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์ เกิดจิตสำนึกใหม่ เข้าถึงความจริงตามธรรมชาติ ตามลำดับ N1 N2 N3 N4 N5 จนกระทั่งถึง N6 สามารถสร้างระบบการอยู่ร่วมกันใหม่ ที่ถือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสมดุลเป็นสิ่งสูงสุด ที่กำหนดระบบเศรษฐกิจ การเมือง และอื่นๆ ให้สนองตอบความมุ่งหมายของสิ่งสูงสุด ไม่ใช่เอาระบบเศรษฐกิจที่ผิดมาเป็นสิ่งสูงสุด แล้วผลักดันสังคมให้แตกกระจายและเสียสมดุลอย่างในยุคที่ผ่านไป
ดั่งนี้ โลกก็จะเกิดบูรณภาพและดุลยภาพ ท่ามกลางความหลากหลาย มีปรกติสุขและความยั่งยืน เป็นอารยธรรมใหม่ที่จะผุดบังเกิดขึ้นหลังวิกฤติโควิด-19
ส่วนยุคใหม่ของมนุษยชาติจะมีชื่อเรียกว่าอะไร ถ้ามนุษย์จำนวนมากได้สัมผัสคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์ของความเป็นองค์รวม นามก็จะปรากฏขึ้นเอง