'อนุดิษฐ์' หวั่น พ.ร.ก.กู้เงิน ลามสู่ 'พ.ร.ก.ล้มละลาย'

'อนุดิษฐ์' หวั่น พ.ร.ก.กู้เงิน ลามสู่ 'พ.ร.ก.ล้มละลาย'

"อนุดิษฐ์" หวั่นพ.ร.ก.กู้เงินลามสู่ "พ.ร.ก.ล้มละลาย" ตั้ง 3 เงื่อนไขฝ่ายค้านโหวตผ่าน พร้อมเตือนอย่าใช้โควิดเป็นแพะรับบาป

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 63 น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวอภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงินจำนวน 3 ฉบับ ว่า นายกรัฐมนตรีบอกว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน เป็น พ.ร.ก.ที่เรียกชื่อเล่นว่าเป็น "พ.ร.ก.เราไม่ทิ้งกัน" แต่หากถามประชาชนจะเรียกชื่อ พ.ร.ก.นี้ว่าเป็น "พ.ร.ก.เราเป็นหนี้ด้วยกัน 2020" ซึ่งพรรคเพื่อไทยเห็นด้วยกับการจัดสรรงบประมาณเพื่อประชาชน แต่พรรคขอตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนที่จะมีการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านรัฐบาลมีการข้ามขั้นตอนหลายขั้นตอน โดยไม่ดูเงินที่มีอยู่ในกระเป๋า ไม่ทราบว่ารัฐบาลมีความตั้งใจจะกู้เงินมาไปโดยมีวัตถุประสงค์แอบแฝงหรือไม่ การออก พ.ร.ก.ดังกล่าวทั้งที่ยังไม่มีแผนรายละเอียดโครงการที่ชัดเจน ซ้ำยังเปิดกรอบให้มีการกู้ยาวไปถึงเดือนก.ค.ปี 2564 แทนที่รัฐบาลจะชะลอโครงการที่ไม่จำเป็นในงบปี63 เช่นการจัดซื้อเรือดำน้ำแล้วเอาเงินดังกล่าวมาเยียวยาประชาชน

“นายกฯและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต้องชี้แจงเรื่องนี้ให้กระจ่างไม่เช่นนั้นเมื่อจบการอภิปรายประชาชนก็อาจเรียกพ.ร.ก.ฉบับนี้ว่าเป็นพ.ร.ก.ล้มละลายในท้ายที่สุด”

ขณะเดียวกันรัฐบาลได้ก่อหนี้ด้วยงาน “กู้ยืมเงิน” มาชดเชยการขาดดุลงบประมาณรวม2.62 ล้านล้านบาทซึ่งเป็นการก่อหนี้เพิ่มขึ้นทุกปีแต่เศรษฐกิจกลับแย่ลง ธนาคารแห่งประเทไทยมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2563เศรษฐกิจจะหดตัวร้อยละ5.3 ขณะที่ไอเอ็มเอ็ฟคาดการณ์จะหดกว่าร้อยละ 6.นอกจากนี้ การประมาณการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า หากจีดีพีก่อตัวร้อยละ6 หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะเป็นร้อยละ 44 ประเทศไทยจะก่อหนี้ได้ไม่เกินร้อยละ 16 ของจีดีพีเพื่ออยู่ในกรอบไม่เกินร้อยละ 60 ตามกฎหมาย

นั่นหมายถึง ไทยจะก่อหนี้ได้ไม่เกิน 2.5ล้านล้านบาท เท่ากับว่าตามพ.ร.ก.ฉบับนี้เราเหลือเพดานก่อหนี้ไม่เกิน 1.5ล้านบาท ที่อาจเป็นเงินหน้าตักก้อนสุดท้ายของประเทศ หากรัฐบาลไม่สามารถทำให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ประเทศเราก็จะเจ๊งในท้ายที่สุด เพราะรัฐบาลจะต้องใช้หนี้นานถึง 90 ปี

นายกฯ กำลังจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้ประเทศไทยในการสร้างหนี้จำนวนมหาศาล โอกาสของประเทศไทยที่เราจะฟื้นฟูเศรษฐกิจก่อนประเทศอื่น โดยเริ่มต้นนับหนึ่งได้ก่อนหลายๆประเทศ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลว่าจะมองออกหรือไม่ 

ต่อให้มีเงินแค่ไหนแต่ใช่ไม่เป็นมันก็ไม่สามารถแก้ไขวิกฤติได้ จึงขอเรียกร้องว่า อย่าปล่อยให้การออกพ.ร.ก.ไปเอื้อเจ้าสัวเพียงอย่างเดียว รัฐบาลต้องตอบให้ได้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวท่านจะนำไปฟื้นฟูผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอีอย่างไร รัฐบาลมีหน้าที่สร้างความเชื่อมั่นไม่ใช่ฉวยโอกาสทางการเมือง

"ผมและพรรคฝ่ายค้านจะลงมติพ.ร.ก.เราเป็นหนี้ด้วยกันอย่างไรอยู่ที่ความชัดเจนของท่าน"

ทั้งนี้ ยังมีโอกาสที่พวกเราจะให้ความเห็นชอบโดยรัฐบาลจะต้องดำเนินการ 3ข้อคือ  1.สนับสนุนให้ตัวแทนพี่น้องประชาชนมีโอกาสตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณโดนผ่าน กมธ.วิสามัญ 2.ต้องรายงานให้สภารับทราบและมีการตรวจสอบร่วมกันทุกๆ2 เดือน 3.มีการออกพ.ร.บ.เพื่อแก้ไขพ.ร.ก.ในส่วนของสาระสำคัญที่มีการใช้งบประมาณที่ไม่เป็นประโยชน์

“อย่าใช้โควิดเป็นแพะรัฐบาปแทนการบริหารด้านเศรษฐกิจที่ผิดพลาด”

น.อ.อนุดิษฐ์ ยังกล่าวว่า งบประมาณที่รัฐบาลเลือกใช้อาจไม่ได้สัดส่วนกับกรณีที่เกิดขึ้น ทั้งนี้มองว่า รัฐบาลควรเร่งยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อเร่งฟื้นฟูเศษฐกิจให้เร็วที่สุด แต่กลับมีการต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไป1เดือน และที่ตลกร้ายไปกว่านั้นผู้ที่เสนอต่อพ.ร.ก.กลับเป็นเลขาสมช.ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการป้องกัน