เส้นทางอำนาจ 'บิ๊กบราเธอร์' คนใหญ่ไม่สิ้นสุด
การเมืองไทยจะเป็นอย่างไร หาก "บิ๊กป้อม" ผู้อยู่แต่เบื้องหลัง จะเปิดหน้ามาลุยเอง
“เป็นเรื่องของพรรค จะไปตอบได้อย่างไรว่าจะเป็นหรือเปล่า” เป็นคำพูดจาก ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หลังมีข่าวว่า กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็น “หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ”
หากเป็นเช่นนั้นจริง พล.อ.ประวิตร จะเป็นอดีตผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 4 ในรอบ 2 ทศวรรษ ที่ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ต่อจาก พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อดีตหัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยแตกตัวออกมา และ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ
อย่างไรก็ตาม การขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งในพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประวิตร นั้นแตกต่างจากอดีต ผบ.ทบ.ทั้ง 3 คนอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากการเป็นหัวหน้าพรรคของ 3 อดีต ผบ.ทบ.ที่ว่ามานั้นไม่ได้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากการรัฐประหาร สู่การเป็นประชาธิปไตยแบบในห้วงเวลาของ พล.อ.ประวิตร
การเมืองไทยตลอดทศวรรษมานี้ ปรากฏชื่อของ พล.อ.ประวิตร เข้าไปเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองเป็นระยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ถูกครหาว่าจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ก่อนที่ชื่อของ พล.อ.ประวิตร จะปรากฏเข้ามาในตำแหน่ง รมว.กลาโหม ซึ่งอาจเรียกได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างบารมีในทางการเมือง นอกเหนือไปจากบารมีในกองทัพที่มีอยู่แล้ว
บารมีของ พล.อ.ประวิตร สะท้อนได้จากการเข้าไปมีบทบาทในการจัดโผทหาร และการดันนายทหารจากค่าย “บูรพาพยัคฆ์” เป็นผู้บัญชาการทหารบกมาแล้วหลายคน หนึ่งในนั้น คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่คณะรักษาความแห่งชาติ(คสช.) เรืองอำนาจ ในทางนิตินัย มีชื่อพล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า คสช. แต่ในทางพฤตินัยแล้ว พล.อ.ประวิตร รองหัวหน้า คสช.ในเวลานั้น เป็นคนที่แผ่บารมีมากที่สุด จน พล.อ.ประยุทธ์ เองยังต้องเกรงใจ
หากจะบอกว่า คสช.มีผู้นำถึง 2 คนก็คงไม่แปลกนัก
การเลือกคนเข้ามาใน “แม่น้ำ 5 สาย” โดยเฉพาะสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือแม้แต่วุฒิสภาในช่วงหลัง ล้วนอยู่ภายใต้กระบวนการที่ไม่ต่างจากการจัดโผทหารแบบในอดีต ทุกชื่อล้วนต้องผ่านสายตาของพี่ใหญ่คนนี้ ทั้งที่กระบวนการทุกอย่าง ควรจบลงที่การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์
การมีนายใหญ่ถึง 2 คนในขณะนั้น เกิดเป็นสงครามตัวแทนขึ้น ซึ่งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีทำหน้าที่เขียนรัฐธรรมนูญฉบับแรก ในยุค คสช.รู้ซึ้งถึงสภาวะนี้เป็นอย่างดี เพราะสภาปฏิรูปแห่งชาติที่มีอำนาจลงมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนั้น ได้แตกออกเป็น 2 ขั้ว ก่อนที่สุดท้ายร่างรัฐธรรมนูญจะถูกคว่ำกลางสภา
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความใหญ่ของ พล.อ.ประวิตร หลายปีมานี้ ดูเหมือนว่าจะยังแผ่บารมีและอำนาจ ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะไม่ว่าจะเจอกับกระแส “ไม่แจ้งการถือครองนาฬิกา” ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จนเกิดแรงกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ปรับออกจากรัฐบาล แต่พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะน้องรัก ต้องยอมเป็นหนังหน้าไฟ ออกรับแทน เวลาเจอกับคำถามนี้ของสื่อมวลชน
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเลือกตั้ง และได้พรรคพลังประชารัฐมาเป็นรัฐบาล บารมีของพี่ใหญ่ ‘พล.อ.ประวิตร’ ดูจะถดถอยลง เนื่องจาก ‘บิ๊กตู่’ เข้ามาเป็น รมว.กลาโหม ดูแลงานความมั่นคง ทั้งมิติของทหารและตำรวจด้วยตัวเอง ขณะที่ พล.อ.ประวิตร กำกับเฉพาะงานด้านสังคมเป็นหลักเท่านั้น ซึ่งขัดกับภาพความเป็นนายใหญ่มากบารมีที่สะสมมาอย่างสิ้นเชิง
ตลอด 1 ปีมานี้ พล.อ.ประวิตร ยอมรับสภาพการอยู่เงียบๆ แต่โดยดี ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากกระแสโจมตีเรื่องการถือครองนาฬิกา เพราะหากยังอยู่ในตำแหน่งทางการเมืองแบบเดิม คงเป็นเรื่องยากที่รัฐบาลซึ่งกำลังเผชิญวิกฤตรอบด้าน จะสามารถอยู่ในอำนาจได้นานขนาดนี้
แต่การจะให้ “คนใหญ่” อยู่อย่าง“คนตัวเล็ก”ตลอดไป ก็คงทำไม่ได้ ดังนั้นในมุมมองของคนสนับสนุน พล.อ.ประวิตร จึงคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่ พล.อ.ประวิตร ควรต้องกลับมาใหญ่อีกครั้ง และการเป็นหัวหน้าพรรคนั้น ย่อมเป็นจังหวะที่เหมาะสมที่สุด เพื่อแสดงให้รู้กันไปว่า “ที่นี่ ใครใหญ่”