ดาบสองฝ่ายค้าน หวังเชือด 'บิ๊กตู่' กลางสภา

ดาบสองฝ่ายค้าน หวังเชือด 'บิ๊กตู่' กลางสภา

สภาผู้แทนราษฎรนัดประชุมเป็นพิเศษ วันที่ 4 มิ.ย.2563 เพื่อพิจารณาเรื่องในวาระ คือ “ร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.... วงเงิน 8.8 หมื่นล้านบาท" 

ตามที่รัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่กำหนดให้โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ของหน่วยรับงบประมาณเป็นบางรายการ ตั้งไว้เป็น “งบกลาง” ส่วนของ “รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น"

ทั้งนี้ ถือเป็น ร่างกฎหมายว่าด้วยการเงิน ฉบับสำคัญของรัฐบาล นอกจาก 3 พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ที่รัฐบาลออกมาก่อนหน้านั้น และสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ให้ความเห็นชอบและอนุมัติ ไปแล้ว โดยมีเหตุผลสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกัน คือ เป็นผลมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้เงิน "ก้อนใหญ่” เพื่อแก้ไข

สำหรับการพิจารณาในสภาฯ จากความตกลงของ ฝ่ายค้าน และ ฝ่ายรัฐบาล ผ่าน “คณะกรรมการประสานงาน” กำหนดให้ใช้เวลารวม 10 ชั่วโมง ก่อนจะลงมติรับหลักการวาระหนึ่ง และให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาภายใน 7 วัน และให้นำเข้าสู่สภาฯ พิจารณาวาระ 2 และวาระ 3 วันที่ 11 มิ.ย.2563

การจัดระเบียบเวลาวาระแรก นั้น เป็นที่ตกลงร่วมกัน แต่สาระสำคัญที่ต้องไปตกลงกันอย่างเข้มข้นจากนี้ คือ การทำงานของคณะกมธ.

 

กล่าวคือ การพิจารณา ร่างพ.ร.บ.โอนงบฯ 8.8 หมื่นล้านบาท จะใช้สูตรเดียวกับการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่ ส.ส.ไม่สามารถปรับแก้ไขหลักการได้ ปรับเพิ่มไม่ได้ แต่สามารถลดวงเงินได้

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อธิบายว่า ตามกฎหมายที่กำกับ การโอนงบประมาณ สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปภายใต้ หน่วยงานระหว่างหน่วยงาน แต่นี่ คือการ โอนงบของหน่วยงาน ไปไว้ให้อยู่ภายใต้อำนาจของ “นายกรัฐมนตรี” ถือว่าไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด 

นอกจากนี้ สิ่งที่ฝ่ายค้านต้องการตรวจสอบ คือ เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน9.6 หมื่นล้าน ปี 2563 ที่ใช้จ่าย และคงเหลือยอด 5,000 ล้านบาท และต้องมาเติมอีก 8.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญจะสามารถเรียกเอกสารตรวจสอบได้

แม้การชี้แจงจากหน่วยงาน ทั้งกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ ระหว่างการประชุมเตรียมพร้อมของฝ่ายค้าน ระบุว่าเงื่อนไขนั้นสามารถยกเว้นได้ “หากสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติ” แต่หากเปิดช่องแบบนั้น ฝ่ายบริหาร จะให้ ฝ่ายนิติบัญญัติ ที่มีเสียงข้างมากของ สภาฯ แสตมป์ความชอบในเรื่องใดก็ได้ และฝ่ายบริหารเองออกมติเพื่อขยายกรอบใดๆ ก็ได้ด้วย

กฎหมายโอนงบประมาณถือเป็นเครื่องสำคัญของรัฐบาล เพราะเดิมที่กฎหมายงบประมาณ 2563 ได้กำหนดกรอบการใช้เงินและวงเงินมาชัดเจนแล้ว และถ้าไม่มีการออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติแล้วย่อมไม่มีทางที่จะเอางบประมาณของหน่วยงานอื่นๆ มาใส่ไว้ที่ "งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อ กรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น” ที่เป็นอำนาจเบิกจ่ายอยู่ในมือนายกรัฐมนตรี

การทำเช่นนี้อาจจะง่ายถ้าเป็นในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งคณะรัฐมนตรีในเวลานั้นที่มีนายกฯหน้าเดิมคนปัจจุบันเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ฝ่ายนิติบัญญัติที่คสช.เลือกมาเองกับมือ แต่มาตอนนี้สถานการณ์อาจจะไม่ได้ง่ายเช่นนั้นในทำนองที่รัฐบาลจะขอให้ฝ่ายนิติบัญญัติผ่านกฎหมายลักษณะนี้ได้ง่ายๆ

ทั้งนี้เป็นเพราะแม้ "ฝ่ายค้าน” จะเห็นด้วยกับการโอนงบฯ เพื่อใช้จ่ายเพื่อแก้ปัญหาฉุกเฉินหรือเรื่องเร่งด่วน เนื่องจากเป็นการใช้เงินเพื่อสู้กับโควิด แต่อีกด้านหนึ่งฝ่ายค้านย่อมไม่มีทางที่จะปล่อยให้เลยผ่านไป

ในมุมมองของฝ่ายค้านแล้ววงเงินของการโอนงบประมาณยังน้อยเกินไป จนกลายเป็นภาระของประเทศที่ต้องไปออกพระราชกำหนดกู้เงิน ทั้งๆ ที่ หากรัฐบาลสามารถโยกงบประมาณที่ไม่มีความจำเป็นเช่น งบประมาณจัดซื้ออาวุธ หรือ งบประมาณสำหรับการจัดสัมมนา ย่อมจะช่วยให้ประเทศไม่ต้องออกกฎหมายกู้เงินจำนวนมหาศาลดังกล่าว

ดังนั้น สถานการณ์นี้จึงเป็นอีกความท้าทายหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กำลังเผชิญ ท่ามกลางศึกภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่ยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด