มาตรฐานสรรหา 'ป.ป.ช.' สะเทือน 'วุฒิสภา'
หากไม่มีประเด็นความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่กำลังเป็นกระแสความสนใจในเวลานี้ ต้องยอมรับว่า ปัญหาเกี่ยวกับการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ที่วุฒิสภาลงมติเลือก ‘สุชาติ ตระกูลเกษมสุข’ เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ถือเป็นอีกเรื่องที่น่าจับตาไม่น้อยเช่นกัน
เรื่องนี้ จะไม่เป็นปัญหาเลย หากไม่มีกรณีที่ ‘สุชาติ’ เคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาก่อน ซึ่งเป็นหนึ่งในลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะเป็นกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวคือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 11 บัญญัติว่า "กรรมการต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้... (18) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา”
จากมาตรา 11 เคยทำให้เกิดการขบคิดที่ว่า ที่สุดแล้วสมาชิก สนช.ถือเป็น ส.ส.หรือ ส.ว.อันเป็นลักษณะต้องห้าม ที่จะทำให้บุคคลมาดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.หรือไม่
โดยมีการตีความออกเป็น 2 ทาง ประกอบด้วย
ทางที่ 1 เป็น ส.ส.และส.ว. โดยอ้างอิงจากรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า “ให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกจํานวนไม่เกินสองร้อยยี่สิบคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดและมีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปี ตามที่คณะรักษา ความสงบแห่งชาติถวายคําแนะนํา ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทําหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา”
ไม่เพียงแต่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่รับรอง แต่ลักษณะทางพฤตินัยที่ผ่านมาก็ทำให้สนช.เสมือนหนึ่งเป็น ส.ส.และ ส.ว.โดยปริยายเช่นกัน อาทิ การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง การให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ ไปจนถึงการอื่นๆ ในทางนิติบัญญัติที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นต้น
ทางที่ 2 ไม่เป็น ส.ส.และ ส.ว. โดยพยายามอธิบายว่า สนช.เป็นเพียงองค์กรที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติชั่วคราว และมีหน้าที่เฉพาะเจาะจงเท่านั้น ไม่ได้มีนิติฐานะที่มั่นคงเหมือนกับสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จึงเป็นที่มาของการกำหนดให้การพิจารณาร่างกฎหมาย กระทำโดยสภาฯเดียวเท่านั้น เพราะหากต้องการให้ สนช.มีสถานะเทียบเท่ากับสภาฯ และวุฒิสภาจริง การพิจารณากฎหมายก็ควรกระทำโดยสองสภาฯ เหมือนกัน
ประกอบกับก่อนหน้านี้ เคยมีกรณีที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีความเห็นว่าสมาชิกสนช.ไม่เป็นผู้มีสิทธิตามกองทุน เพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาด้วย เนื่องจากการตีความคำว่า สมาชิกรัฐสภาจะต้องตีความอย่างเคร่งครัด เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้เฉพาะ ส.ส.และ ส.ว.โดยแท้เท่านั้นที่เป็นสมาชิกรัฐสภา
เท่ากับว่า สมาชิก สนช.ย่อมไม่มีสถานะความเป็นสมาชิกรัฐสภา แม้ว่าจะมีอำนาจหน้าที่เหมือนกับสมาชิกสภาฯ และวุฒิสภา ก็ตาม อันเป็นหลักการที่ทางสภาฯ ยึดมาตลอด จึงทำให้สมาชิก สนช.ไม่เคยได้รับสิทธิตามกองทุนดังกล่าว
ขณะเดียวกัน ปัญหาทางรัฐธรรมนูญได้ลามมาถึงมาตรฐานของคณะกรรมการสรรหาและวุฒิสภาด้วย โดยก่อนหน้านี้ มีการสรรหาบุคคลดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ปรากฏว่าที่ประชุมคณะกรรมการสรรหา มีมติเสียงข้างมากเห็นว่า พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ยังพ้นจากตำแหน่งสมาชิก สนช.ไม่ถึง 10 ปี ตามมาตรา 10 (18) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 ที่มีถ้อยคำไม่ต่างจากกรณีของกฎหมาย ป.ป.ช.
ต่างกับกรณีของการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการสรรหา มีความเห็นว่าสมาชิกสนช.ถือว่าไม่เป็น ส.ส.และ ส.ว. ทำให้ ‘สุชาติ’ ผ่านการสรรหา และส่งชื่อมายังวุฒิสภา ก่อนที่วุฒิสภาจะมีมติให้ความเห็นชอบในเวลาต่อมา
ด้วยเหตุนี้เอง จึงกลายเป็นปัญหาว่า ที่สุดแล้วมาตรฐานของการสรรหาองค์กรอิสระอยู่ตรงไหน
ทั้งนี้ ที่ประชุมวุฒิสภาที่ได้ดำเนินการพิจารณาสรรหากรรมการ ป.ป.ช.ก็ได้พิจารณาเช่นกัน โดยในระหว่างการประชุมลับ ก็ได้มีการอภิปรายประเด็นนี้ และมีความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า สมาชิกสนช.ไม่เป็น ส.ส.และ ส.ว. โดยอาศัยกรณีของการไม่ได้รับสิทธิตามกองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภามาเทียบเคียง
พร้อมกับยกมาตรา 16 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2561 มาตรา 16 ที่ระบุว่า “ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครหรือผู้ได้รับการสรรหา ให้เป็นหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คําวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด” จึงทำให้เกิดความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เมื่อคณะกรรมการสรรหามีความเห็นมาแล้ว วุฒิสภาย่อมเปลี่ยนแปลงไม่ได้ วุฒิสภามีเพียงอำนาจชี้ขาดว่า จะให้ความเห็นชอบในการให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.หรือไม่เท่านั้น
ในประเด็นเรื่องแนวทางการวินิจฉัยความเป็น ส.ส.และ ส.ว.ของสมาชิก สนช.นั้น ‘เจษฎ์ โทณะวณิก’ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีความเห็นว่า เรื่องนี้มีทางออกสองทาง ซึ่งขึ้นอยู่ว่าจะตีความสถานะของ สนช.อย่างไร ได้แก่
1.ถ้าจะตีความว่า สนช.เป็น ส.ส.และ ส.ว.จากนั้นให้การสรรหากรรมการ ป.ป.ช.ที่ผ่านมา สิ้นสุดไป หรือ 2.ถ้าตีความว่า สนช.ไม่เป็น ส.ส.และ ส.ว. กระบวนการสรรหา ป.ป.ช.สามารถดำเนินต่อไปให้จบ แต่ต้องคืนสิทธิให้กับ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก
อาจารย์เจษฎ์ กล่าวอีกว่า การดำเนินการของคณะกรรมการสรรหา ควรจะต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน จะมาอ้างว่า การวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาเป็นที่สุดแล้วไม่ได้ มิเช่นนั้นจะไม่เกิดบรรทัดฐานในการสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งกรรมการองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ ยังมีปัญหาอยู่ที่ รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าให้องค์กรไหนเป็นผู้ชี้ขาดสุดท้าย
แต่ส่วนตัวแล้วคิดว่า สนช.ย่อมเป็น ส.ส.และ ส.ว.เพราะรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ สนช.ทำหน้าที่สภาฯ และวุฒิสภา อีกทั้งที่ผ่านมา สนช.ได้ปฏิบัติหน้าที่ เฉกเช่นเดียวกับสภาฯ และวุฒิสภาด้วย
ที่สุดแล้ว เรื่องนี้คงต้องรอดูว่า บทสรุปสุดท้ายจะจบลงอย่างไร แต่ที่แน่ๆ เวลานี้กลายเป็นเรื่องแล้ว มิเช่นนั้น ‘พรเพชร วิชิตชลชัย’ ประธานวุฒิสภา คงไม่ชะลอการทูลเกล้าฯ เอาไว้ก่อน