ศาลในอนาคต : จุดเริ่มต้นของ 'Virtual Court'
เมื่อการอำนวยความยุติธรรมของ “ศาล” ไม่สามารถสะดุดหยุดลงได้จากภาวะวิกฤติโควิด-19 จึงทำให้หลายประเทศที่เริ่มนำระบบ Online Conference รวมถึงเทคโนโลยีในแบบต่าง ๆ มาปรับใช้กับกระบวนการยุติธรรม หรือที่เรียกว่า "Virtual Court" แล้วในไทยเป็นอย่างไรบ้าง?
ผู้เขียนเชื่อว่า จากสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน ทุกสาขาอาชีพมีการปรับตัวเพื่อใช้เทคโนโลยีในการทำงานมากขึ้น และเมื่อกิจกรรมหน้าร้านในไม่สามารถกระทำได้ การปิดทำการชั่วคราวจึงเป็นเรื่องปกติในช่วงที่มีการระบาด
แต่จะทำอย่างไร เมื่อการอำนวยความยุติธรรมของ “ศาล” ก็ไม่อาจสะดุดหยุดลงได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของแนวทางในหลายประเทศที่เริ่มนำระบบ Online Conference รวมถึงเทคโนโลยีในแบบต่าง ๆ มาปรับใช้กับกระบวนการยุติธรรม หรือที่เรียกว่า “ระบบ Virtual Court”
- Virtual Court ในต่างประเทศ
ในสหราชอาณาจักร ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ Covid-19 ติดอันดับหนึ่งในห้าของโลก จึงส่งผลให้รัฐบาลสั่งให้กิจกรรมที่ต้องทำในศาลหยุดลงชั่วคราว และอนุญาตให้ใช้ Video Conference แทนการพิพากษาคดีในศาลแบบปกติ ซึ่ง UK Supreme Court กำหนดให้ผู้พิพาษา ทนาย และคู่ความสามารถ Video Conference จากที่พักเพื่อเข้าร่วมพิจารณาคดีได้โดยผ่านทางเว็ปไซต์ของศาล นั้นแปลว่า อาจเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ ที่ผู้พิพากษาได้ “พิจารณาคดีแบบไลฟ์สด” หรือ “Live Judgments” โดยตัวท่านเองไม่ได้ขึ้นบัลลังก์จากในศาล ซึ่งแนวทางทำนองเดียวกันนี้เป็นที่ยอมรับในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ และอินเดีย
ในจีน ก่อนการระบาดของ Covid-19 จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการใช้เทคโนโลยีกับระบบศาลมากที่สุดประเทศหนึ่ง ประกอบกับ จีนได้สร้างระบบศาลเฉพาะทาง หรือ “ศาลอินเทอร์เน็ต” (Internet Court) ที่ทำหน้าที่พิพากษาคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทของธุรกรรมออนไลน์ เช่น คดีฉ้อโกงผ่าน e-Commerce นอกจากนี้ Internet Court ของจีนยังยอมรับให้ Blockchain เป็นพยานหลักฐานที่ศาลรับฟังได้
หากข้อมูลนั้นได้ถูกบันทึกไว้ในระบบ Blockchain ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการลงเวลา, มีการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ และข้อมูลได้ผ่านกระบวนการ Hash Function หรือ การย่อข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต้นฉบับให้สั้นลงแล้ว
สำหรับโลกหลังโควิดของจีน ยิ่งเป็นตัวเร่งให้มีการผลักดันนโยบายศาลอัจฉริยะ (Smart Court Campaign) เพื่อส่งเสริมให้การดำเนินงานของศาลทุกประเภทสามารถให้บริการประชาชนผ่านระบบ “Online trail systems” ได้
โดยในเดือน ก.พ 63 จีนได้นำร่องโดยการให้ Internet Court รวบรวมข้อมูลจากประสบการณ์ในการตัดสินคดีออนไลน์เพื่อทำเป็นบทเรียนตัวอย่างให้ศาลอื่นๆ ในประเทศได้ศึกษาและปรับเปลี่ยนรูปแบบตาม จนปัจจุบันการปรับใช้กระบวนการอิเล็กทรอนิกส์กับคดีความในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินคดี การสืบพยาน หรือการไกล่เกลี่ยได้ทำบนช่องทางออนไลน์แล้วกว่าหกแสนคดี (ข้อมูล ณ เดือน เม.ย 63)
ในสหรัฐอเมริกา ประเทศที่ในปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อ Covid-19 มากที่สุดในโลก ก็มีระบบ Virtual Court ไม่ต่างจากประเทศในข้างต้น โดยแต่ละมลรัฐได้ประกาศใช้นโยบายในการจัดทำ Virtual court ของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น มลรัฐนิวยอร์ก ศาลอาญา ได้กำหนดให้คู่ความในคดีอาญา เช่น ผู้พิพาษา อัยการ และพยานที่ต้องแสดงตนในศาลทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีผ่านระบบ Video Conference
- ความท้ายทายของ Virtual Court
สำหรับผู้เขียน Virtual Court กับคดีแพ่งนั้น มีปัญหาน้อยกว่า Virtual Court ในกรณีของคดีอาญา โดยผู้เขียนเห็นว่า การพิจารณาคดีอาญาผ่านระบบ Video Conference มีความท้าทายต่อศาลเป็นอย่างมาก เนื่องจากหลักการที่ระบบยุติธรรมทั่วโลกยอมรับในการพิพาษาคดีอาญา คือ การกำหนดให้ศาลมีหน้าที่ “พิสูจน์จนสิ้นสงสัย” (Beyond a Reasonable Doubt) ก่อนการลงโทษจำเลย
ดังนั้นการที่ศาลจะใช้ดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานผ่านช่องทางออนไลน์ ย่อมมีความท้าทายต่อลักษณะการทำงานของวิชาชีพในแบบเดิมที่การพิสูจน์พยานหลักฐานได้ทำแบบ Face-to-Face มาโดยตลอด
นอกจากนี้ ประเด็นในเรื่องการรักษาความลับในการดำเนินคดีก็จะเป็นอีกประเด็นตามมา เมื่อคู่ความสามารถเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้จากที่พักของตน แม้จะมีการบังคับให้การเข้าถึงระบบ Conference ต้องเป็นระบบที่ศาลกำหนด และ Server ที่ศาลใช้ต้องอยู่ในประเทศไทย เพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล
แต่สำหรับการพิจารณาคดีบางประเภทหรือการสืบพยานในบางลักษณะที่ต้องดำเนินการแบบลับ เช่น การสืบพยานแบบลับหลัง (ในคดีที่มีจำเลยหลายคน ศาลอาจกำหนดให้มีการสืบพยานลับหลังจำเลยอีกคนได้) จะมีประสิทธิภาพเท่ากับการพิจารณาในห้องที่ปิดมิดชิดในศาล
ประกอบกับในบางคดี อาจมีผู้ต้องหาที่ถูกกักขังอยู่ในเรือนจำในระหว่างพิจารณาคดีและคดียังไม่ถึงที่สุด คำถามคือ กระบวนการพิจารณาที่เหมาะสมในกรณีนี้ควรเป็นอย่างไร การต่อ Video Conference ไปยังเรือนจำหรือห้องขังเหมาะสมหรือไม่ และช่องทางการสื่อสารระหว่างอัยการและผู้ต้องหา/จำเลยที่ถูกกักขังจะเป็นรูปแบบใด ล้วนแต่เป็นขั้นตอนในทางปฏิบัติที่ต้องวางระบบดำเนินการอย่างรอบคอบทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ผลจากความจำเป็นของนโยบาย Social Distancing โจทย์ใหญ่อีกประการของกระบวนการยุติธรรมคือ “การลดความแออัดในเรือนจำ” ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของมาตรการที่ศาลในหลายประเทศทั่วโลกได้ปรับใช้มาตรการต่างๆ เพื่อลดปัญหาดังกล่าว เช่น ศาลแคนาดามีมาตรการพักการพิจารณาคดีชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลาย, ศาลอินเดียมีมาตรการปล่อยตัวนักโทษบางกลุ่มชั่วคราวโดยให้ใช้ระบบรายงานตัวแทน รวมถึงศาลสหรัฐอเมริกาที่ใช้มาตรการปล่อยตัวนักโทษประเภทที่ก่อคดีไม่ร้ายแรงเป็นการชั่วคราวเช่นกัน
- สำหรับประเทศไทย
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ศาลชั้นต้นทั่วประเทศไทยจำเป็นต้องใช้มาตรการพักการพิจารณาคดีชั่วคราว เพื่อเลื่อนการพิจารณาคดีออกไปก่อน (ปัจจุบันได้เปิดทำการแล้ว) เนื่องจากรูปแบบการทำงานของศาลชั้นต้นจะต้องมีการพิจารณาคดีแบบ Face-to-Face เป็นหลัก (ซึ่งแตกต่างจากการทำงานของศาลอุธรณ์และศาลฎีกาที่พิจารณาคดีโดยผ่านเอกสารเป็นหลัก)
นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษา ติดตามและแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 อีกประการหนึ่งด้วย
ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่า การปรับตัวของศาลและกระบวนการระงับข้อพิพาทในยุค Covid-19 เป็นเรื่องจำเป็นและท้าทายสำหรับศาลทั่วโลก เพราะในอนาคต โรคระบาดจะเป็นอีกปัจจัยที่สร้างความผันผวนให้กับทั้งระบบเศรษฐกิจและความยุติธรรม ซึ่งทั้งสองอย่างไม่อาจ Lockdown ตัวเองไว้นานได้
[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]