'ประยุทธ์' ปลดล็อกประเทศ! ไฟเขียว 'ทีมลับ' ลุยนิรโทษกรรม คดีการเมืองเว้นทุจริต
เอ็กซ์คลูซีฟ! "ประยุทธ์" ปลดล็อกประเทศ! ไฟเขียว "ทีมลับ" ลุยนิรโทษกรรม คดีการเมืองเว้นทุจริต เปิดเงื่อนไข "นักวิชาการ" ออกกฎหมายสางคดีม็อบ
การสร้างความปรองดอง ถือเป็นพันธกิจหนึ่งของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีการตั้งคณะกรรมการหลายชุดขึ้นมาศึกษาแนวทาง ซึ่งการออกกฎหมายนิรโทษกรรม “คดีชุมนุมทางการเมือง” ที่น่าจับตายิ่ง
แหล่งข่าวระดับสูง จากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้ “ทีมปฏิบัติการลับ” ไปรวบรวมรายชื่อบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีการเมือง ทั้งในชั้นศาล และการดำเนินคดีทั้งหมดเพื่อนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการนิรโทษกรรม
เบื้องต้น จะเป็นการนิรโทษกรรมให้กับคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ที่ไม่รวมถึงคดีทุจริต และคดีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือ ความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ สำหรับช่วงเวลาที่จะนำไปสู่การออกกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า อาจจะดำเนินการในช่วงกลางปี หรือไม่ก็ปลายปีนี้
ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้พูดคุยกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีตแกนนำ กปปส. แล้ว
ด้าน แหล่งข่าวจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ แกนนำรัฐบาลได้พยายามประสานงานและติดต่อเพื่อดึงพรรคเพื่อไทย เข้ามาร่วมทีมรัฐบาลเพื่อเข้าสู่การเป็นรัฐบาลปรองดองมาแล้ว เมื่อ 2-3 เดือนก่อน
นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง ของสปช. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เรื่องแบบนี้ต้องอาศัยความพยามยามทุกภาคส่วน รวมทั้งภาครัฐบาล ถ้ารัฐบาลไม่ขยับตัวในเรื่องนี้ โอกาสให้เป็นไปได้ยากเหมือนกัน
“ผมเข้าใจดีว่า เรื่องแบบนี้ต้องอาศัยเวลา จะเร่งเหมือนมะม่วงบ่มแก๊ซไม่ได้ ต้องให้สังคมเกิดความสุกงอมขึ้นมาพร้อมๆ กันด้วย เราจะไปเร่งเวลามันก็ไม่ได้ จะวางเฉยก็ไม่เหมาะ จะก่อให้เกิดความปรองได้ต้องมีตัวกฎหมายออกมา ถ้าอารมณ์ของผู้คนไม่ต้อนรับกฎหมาย ก็ออกมาไม่ได้”
อย่างไรก็ตาม นายประสาร ชี้ว่า ถ้าจะมีการนิรโทษกรรม สมควรออกเป็น พ.ร.บ เพราะถ้าเป็นพระราชกำหนด (พรก.) จะละเลยบทบาทความสำคัญของ ส.ส. และถ้าออกมาเป็น พ.ร.ก. อาจดูคับแคบไปหน่อยในแง่ของการยอมรับ
“เรื่องการปรองดองควรเป็นความพยายามของทุกภาคส่วน ไม่ว่าภาคการเมืองทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาล ส.ส. ส.ว. ภาคประชาชน หรือบรรดากลุ่มที่เป็นผู้แค้น สีเหล้อง สีแดง กลุ่มสีธงชาติ หรือกลุ่มไหนก็แล้ว เราควรใช้ความพยายามเพื่อนำไปสู่บรรยากาศการปรองดอง สร้างความรู้สึกร่วมกันในการที่จะก่อให้เกิดความปรองดอง”
นายประสาน กล่าวด้วยว่า นักการเมืองควรคำนึงถึงทิศทางที่จะก่อให้เกิดความปรองดองโดยมีเงื่อนไขที่สามารถจะรับกันได้อย่างกว้างขวาง คือ
1.ไม่ยกคดีให้คนที่ผิดด้านคอร์รัปชัน คนไม่ควรได้อานิสงค์คือ คนทุจริต 2.คนที่ผิด มาตรา 112 คือละเมิดสถาบัน และ 3.ผู้ที่ผิดอาญาร้ายแรง ประเภทที่ทำให้ถึงแก่ชีวิต หรือประเภททำให้ถึงแก่ทรัพย์สินและชีวิตรุนแรงถึงเลือดถึงเนื้อ นอกนั้นเป็นความผิดลหุโทษ ความผิดจราจร ผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาชุมนุมและถูกจับไป ต้องได้ยกเว้น
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และอดีตผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) กล่าวว่า เห็นด้วยและเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพื่อจะสร้างความสามัคคีปรองดองในสังคมไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้พยายามผลักดันกันมานานแล้ว
ส่วนความกังวลว่าอาจเป็นชนวนความขัดแย้งขึ้นใหม่นั้น พล.อ.เอกชัย ยํ้าว่า จะไม่เกิดขึ้น เพราะไม่ใช่การนิรโทษกรรมเหมาเข่ง แต่มีการทำอย่างเป็นขั้นตอน มีรายละเอียดที่ชัดเจน
ส่วนกรอบเวลาคือ คดีทางการเมืองที่เกิดขึ้นนับแต่การยึดอำนาจของ คมช. เมื่อ 19 กันยายน 2549 ซึ่งคณะกรรมการเพื่อสร้างความปรองดองในชุด สนช. เสนอให้นิรโทษกรรมถึงปี 2557 แต่เพื่อให้ครอบคลุมถึงความผิดจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังจากนั้น เช่น การเคลื่อนไหวของกลุ่มอยากเลือกตั้ง เป็นต้น เห็นว่าครั้งนี้ควรจะขยายให้ถึงวันยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อจัดการเลือกตั้งครั้งล่าสุด”
พล.อ.เอกชัย ยํ้าว่า “เวลานี้เหมาะสมที่สุดแล้ว เพราะเพื่อไทยก็มีไปอยู่กับพลังประชารัฐ แกนนำทั้งพันธมิตรฯ นปช. หรือ กปปส. ก็ถูกตัดสินไปอยู่ในคุกแล้ว และจะเจอกันอีกหลายคดี ถึงเวลาที่น่าจะทำเรื่องนี้เพื่อให้สังคมคืนสู่ความปรองดองเสียที”
นายโคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นว่า ถ้ามีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเชื่อว่าจะมีผลบวกต่อการเมืองไทย แต่ต้องมีคำอธิบายระดับหนึ่ง ให้ดูด้วยว่า กรณีมีคนค้านด้วยเหตุผลใด ให้แลกเปลี่ยนกันดูว่าอะไรเป็นอะไร และคิดว่าช่วงหลังโควิดไม่ระบาดจะเป็นโอกาสดี ซึ่งตอนนี้หลายคนโดนคดีต่างๆ อยากจะให้พลิกหน้ากระดาษเพื่อตั้งต้นใหม่แล้วเดินหน้าต่อ
“เรื่องนิรโทษกรรมจะสำเร็จไม่ได้ ถ้ารัฐบาลไม่เอาด้วย รัฐบาลต้องเป็นคนตัดสินใจเลย”
ขณะที่นายสติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า มองในแง่ความปรองดองของประเทศ ก็พอได้ ซึ่งต้องดูด้วยว่านิรโทษกรรมใครบ้างที่คนเห็นตรงกันคือควรนิรโทษกรรมคนเข้าร่วมชุมนุมด้วยใจบริสุทธิ์ ไม่ใช่แกนนำหรือผู้ที่ก่อเหตุมีคดีอาญาต้องแยกแยะเป็นเรื่องๆ และถ้าจะนิรโทษกรรมควรเริ่มจากม็อบปี 2548 จนถึงปัจจุบัน”
นายสติธร กล่าวว่า หากดำเนินการควรเป็นรูปแบบของพ.ร.บ.จะได้ผ่านสภาใช้เวทีรัฐสภา เพราะถ้าออกเป็นพ.ร.ก. จะต้องเป็นกรณีฉุกเฉิน และต้องดูให้ชัดว่านิรโทษกรรมแค่ไหน ไม่สุดซอยหรือไม่เหมารวม คนพอจะรับได้