background-default

วันจันทร์ ที่ 23 ธันวาคม 2567

ภูมิใจไทย ชี้ งบ 64 ขาดยุทธศาสตร์ ย้ำงบผลักดันรัฐบาลดิจิทัลเป็นสิ่งจำเป็น

ภูมิใจไทย ชี้ งบ 64 ขาดยุทธศาสตร์ ย้ำงบผลักดันรัฐบาลดิจิทัลเป็นสิ่งจำเป็น

"กรวีร์" ชี้งบผลักดันรัฐบาลดิจิทัลเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูล แต่ในงบ64ยังขาดยุทธศาสตร์ พร้อมย้ำรัฐบาลต้องไม่นำงบไปใช้เพื่อฝ่ายการเมือง

เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 63 นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (พ.ร.บ.งบประมาณ 2564) โดยบอกว่าเรากำลังสร้างประวัติศาสตร์ของการออกกฎหมาย เพราะนี่คือกฎหมายที่สำคัญมากที่สุดที่ไม่ใช่เฉพาะของรัฐบาลชุดนี้ แต่เป็นของกฎหมายที่สำคัญที่สุดฉบับหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งที่บอกแบบนั้นไม่ใช่เพราะว่าเป็นการออกกฎหมายที่มีงบประมาณในการใช้จ่ายมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และก็ไม่ใช่เพราะรู้ว่ามีความท้าทายจากมหาวิกฤติเศรษฐกินที่รอคอยเราอยู่เบื้องหน้า แต่เหตุผลที่มันสำคัญมาก คือความหวัง ที่เราแบกความหวังของประชาชนเอาไว้ ซึ่งเขาต้องการเห็นการจัดการทรัพยากร การจัดสรรงบประมาณเพื่อตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหา และรองรับโลกที่กำลังจะก้าวไปสู่การจัดระเบียบโลกใหม่ เราต้องเตรียมพร้อมกับการปกติใหม่หรือNew Normal ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและความเสี่ยง 

ทั้งนี้ เมื่อวานจากการที่ได้ฟังนายกรัฐมนตรีแถลงเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2564 ก็ทราบว่าจะต้องตั้งงบประมาณถึง 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งมีวงเงินกู้ถึง 623,000 ล้านบาท เพราะเป็นการตั้งงบประมาณแบบขาดดุล ซึ่งก็เห็นถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรีที่นำเอาแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติเข้ามาอยู่ในการจัดสรรงบประมาณ 2564 ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ดีใจและต้องขอบคุณรัฐบาลนั่นคือการพยายามเห็นความสำคัญและพยายามที่จะปรับปรุงการบริหารงานภาครัฐและพยายามที่จะผลักดันไปสู่รัฐบาลดิจิทัล เพราะทุกคนรู้ว่าปัญหาของประชาชนในการไปติดต่อราชการมีอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะผลักดันไปสู่องค์กรดิจิทัลเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลที่รัฐบาลมีอยู่อย่างมากมาย แต่อยู่อย่างกระจัดกระจายมาให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน และเพื่อที่จะสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่เพื่อให้บริการประชาชนให้ดีขึ้นผ่านแนวความคิดดิจิทัล 

นอกจากนั้น เมื่อย้อนกลับไปในช่วงวิกฤติโควิด ซึ่งรัฐบาลได้มีนโยบายต่างๆมากมาย เพื่อที่จะมาช่วยเหลือประชาชน เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน โครงการช่วยเหลือเกษตรกร โครงการช่วยเหลือผู้เปราะบาง แต่สิ่งที่เป็นปัญหาและมีเสียงสะท้อนจากประชาชน คือ เกิดข้อมูลที่ซ้ำซ้อนกันระหว่างกระทรวง เกิดความผิดพลาดในการคัดกรองข้อมูลของประชาชน เกิดความล่าช้า และสุดท้ายนำไปสู่การบริหารจัดการการเยียวยาที่ไม่เป็นธรรม ทุกคนทราบดีว่าในยามวิกฤติเงิน 5,000 บาทให้รอไปอีก 3 วัน หรือ1 สัปดาห์ ประชาชนเขากำลังจะจมน้ำ รอไปขนาดนั้นเขาคงไม่มีชีวิตอยู่เพื่อไปต่อลมหายใจเขาแล้ว นี่คือความเดือดร้อนและคือเสียงสะท้อนจากประชาชนในโครงการต่างๆ และนี่คือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการข้อมูลของภาครัฐ ที่เราต้องยอมรับว่ามันด้อยประสิทธิภาพ สิ่งที่ตนได้เจอและหวังว่ารัฐบาลจะได้เรียนรู้กับสิ่งที่ผ่านมา นั่นคือ ปัญหาของรัฐบาลนั้นไม่ได้อยู่ที่ว่ารัฐบาลไม่มีข้อมูล แต่ปัญหาคือมีข้อมูลที่ซับซ้อน กระจัดกระจายไม่มีการเชื่อมโยง เพราะรัฐบาลมีข้อมูลทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกรทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตร กระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงประชาชนเองก็มีก็คือเลขประจำตัวประชาชน ที่ไม่ว่าจะเปลี่ยนสถานะตัวเองไปอย่างไร เปลี่ยนชื่อ ที่อยู่ แต่เลขปะจำตัวประชาชนไม่เคยเปลี่ยนและจะไม่มีวันเปลี่ยนไปตลอดชีวิต และที่สำคัญบนบัตรประชาชนเรามีซิบ “ซึ่งซิบผมไม่หายไปไหนเลยในตลอดเวลาหลายสิบปี แต่เปลี่ยนบัตรกี่ใบซิบผมก็อยู่ที่เดิม” แต่สิ่งที่ผมสงสัยก็คือเอาไว้ทำอะไร และเมื่อสักครู่ที่ตนบอกว่าเรามีข้อมูลมากมายจากหลายกระทรวง แต่เวลาประชาชนไปที่อำเภอยังต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนไปถ่ายเอกสารอยู่เลย  และนี่หรือคือยุคที่เราจะก้าวข้ามไปสู่ยุคดิจิทัลได้ สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่แค่สิ่งที่บอกว่าเรามียุทธศาสตร์แล้วบอกว่าเราจะพารับไปสู่รัฐดิจิทัล สิ่งที่เราต้องการคือข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ต่างกระทรวงกันนั้นนำมาทำให้เกิด Data Sharing หรือBig Data ที่เชื่อโยงและนำเอาข้อมูลของประชาชนมาแบ่งเบาภาระของประชาชนในยามที่ต้องติดต่อราชการหรือขอรับความช่วยเหลือ

ทั้งนี้ นายกรวีร์ ยืนยันว่ารัฐบาลดิจิทัลเป็นเรื่องที่จำเป็น และขอบคุณที่รัฐบาลมาถูกทางแล้ว ที่จะนำพารัฐที่อยู่ในระบบอนาล็อคมาหลายชั่วอายุคน กำลังจะผลักดันให้ไปสู่รัฐบาลดิจิทัล ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นตนสนับสนุนและเป็นเรื่องที่ควรทำ เพราะโลกใบใหม่ที่อยู่หลังผ่านเหตุการณ์โควิดไป โดยขอยกเอาคำของผู้อาวุโสที่สมาชิกพรรคภูมิใจไทยให้ความเคารพที่บอกว่า “การคิดแบบเดิมทำแบบเดิมมันไม่มีทางสำเร็จ การคิดแบบใหม่ทำแบบใหม่ก็ไม่พอ โลกวันนี้ต้องคิดเร็วทำเร็ว ต้องคิดก่อนและลงมือก่อนถึงจะสำเร็จ” นี่คือสิ่งที่อยากจะฝากไปถึงรัฐบาล และขอย้ำเตือนในวาระที่ 1 ก่อนที่จะลงมติว่ารัฐบาลต้องไม่ลืมว่าการจัดสรรเงินทรัพยากร และการใช้เงินทรัพยากรนั้นต้องไม่ใช่เพื่อฝ่ายการเมือง ไม่ใช่เพื่อฝ่ายราชการ แต่จำเป็นที่ต้องใช้เพื่อประเทศชาติและเพื่อประชาชนทุกคน