สายล่อฟ้า..รัฐบาลประยุทธ์ ปมร้อนงบประมาณ 64
ประเด็นความไม่ตอบโจทย์ประเทศใน “ยุคโควิด” ความกระจุกตัวไปที่บางหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานด้านความมั่นคง หรือบางพื้นที่
ถูกนำมาเป็นประเด็นขยายผลพร้อมตั้งคำถามผ่านเวทีสภา ไปยัง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมและรัฐบาล ถึงการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มูลค่า 3.3 ล้านล้านบาท ที่เพิ่งผ่านชั้นรับหลักการในวาระแรก ด้วยมติเสียงข้างมาก 273 ต่อ 200 คะแนน
ไฮไลต์สำคัญที่ถูกพูดถึงมากที่สุดหนีไม่พ้น งบประมาณ กระทรวงกลาโหมมูลค่า 2.2 แสนล้านบาท ที่มีเสียงท้วงติงอย่างหนัก แม้จะมีการปรับลดจากปีที่แล้วกว่า 8,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.6 เพื่อไปเพิ่มให้งบกลาง ที่ตั้งไว้กว่า 600,000 ล้านบาท
แต่ไส้ในของงบกลาโหมจำนวน 2 แสนล้านนั้น ยังทุ่มไปที่กองทัพบก กว่าแสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่ใช้สำหรับแผนงานด้านความมั่นคง หรือเน้นไปที่การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์หลายรายการ ทั้งที่อยู่ในสภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตไวรัสมรณะ
จนได้รับฉายาจากฝ่ายค้านว่าเป็น “งบ ลวง พราง” ที่อาจก่อหนี้ผูกพันข้ามปีถึง 173,144 ล้านบาทหรือ 77.46% ของงบประมาณ
ฟังสุ้มเสียงจากฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะ “2 บิ๊กกลาโหม” ทั้งตัวนายกฯ ในฐานะ รมว.กลาโหม รวมถึง “บิ๊กช้าง” พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม แม้จะยืนยันว่า การจัดซื้อที่เกิดขึ้นเป็นการจัดซื้อทดแทนของเดิมที่มีสภาพเก่าประมาณ 70-80%
รวมทั้ง“เสริมเขี้ยวเล็บ” ให้กองทัพเพื่อเตรียมความพร้อม เพียงระดับ 1 ใน 3 เท่านั้น โดยงบจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ปีนี้ ลดลงจากปี 2563 ถึง 12% ขณะเดียวกัน ยังได้มีการชะลอโครงการที่ไม่จำเป็น เห็นได้จากปี 2563 ที่มีการโอนงบกว่า 1.8 พันล้านล้านบาท เพื่อสู้กับโควิด
แต่ดูเหมือนว่า ฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคก้าวไกล จะไม่ยอมจบเรื่องนี้ง่ายๆ ไม่นับรวมกับเงินนอกงบประมาณ ที่ไม่ได้รับรายงาน จากรายได้ที่เป็นธุรกิจของกองทัพ เช่น ปั๊มน้ำมัน สนามม้า สนามมวย ที่รอจองกฐินซักฟอกต่อในชั้นคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564
เชื่อได้เลยว่า วาระแรกที่ว่าขับเคี่ยวกันดุเดือดแล้ว ในชั้นกรรมาธิการจะเดือดคูณสองแน่นอน
ประเด็นถัดมาดูเหมือนจะถูกโยงไปที่ประเด็นแรก หนีไม่พ้นประเด็น “ความเหลื่อมล้ำ” ที่รุนแรง มีการกระจุกตัวบางหน่วยงาน ในลักษณะความเป็น “รัฐราชการ” แทนการแก้ปัญหาปากท้อง รวมไปถึงการทุ่มงบประมาณการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มุ่งเน้นเพียงบางภูมิภาค
จนทำให้ “บิ๊กตู่” ถูกตั้งฉายาจาก “อนุดิษฐ์ นาครทรรพ” ส.ส.กทม.และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ว่าเป็น “บิดาแห่งความเหลื่อมล้ำ ผู้นำแห่งการก่อหนี้”
ประเด็นนี้ มีคำตอบจากทางฝั่งรัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯ ที่ยืนยันว่า มีหลายโครงการที่อยู่ระหว่างพิจารณาศึกษา ถึงขั้นที่ “บิ๊กตู่” ประกาศกร้าวกลางสภาฯ “ภาระรัฐบาลต้องดูแลคนทั้งประเทศ ไม่สามารถทำตามความต้องการได้ทั้งหมด”
และต้องยอมรับว่า ไม่สามารถทำให้เสร็จได้ภายใน 1-2 ปี แต่วันนี้หลายโครงการอยู่ระหว่างการพิจารณาและเตรียมนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)
ถัดมาคือ ประเด็นที่สุ่มเสี่ยงที่อาจจะ “ก่อหนี้”เพิ่ม อันมีผลมาจากความไม่สอดคล้องใน 3 ส่วนคือ 1.รายจ่ายประจำ 2.526 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 76.5
2.รายจ่ายลงทุน 6.74 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.5 และ 3.รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 99,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3 เมื่อพิจารณารายจ่ายประจำ และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ซึ่งรวมแล้วเป็นเงินจำนวน 2.625 ล้านล้านบาท
ขณะที่รายได้ที่มาจากการจัดเก็บภาษีประมาณไว้ 2.677 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้กัน และจากการจัดเก็บภาษีที่ที่หลุดเป้าอาจทำให้ไทยต้องกู้เพิ่มที่อาจสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท
ไม่ต่างจากประเด็น “การจัดสรรงบท้องถิ่น” ประมาณการ งบประมาณ 2564 ที่ถูกตั้งคำถามจากฝ่ายค้าน ถึงความยึดโยงกับประชาชนอันมีผลมาจากระบบราชการรวมศูนย์ แม้งบประมาณ 2564 จะมีงบประมาณสำหรับท้องถิ่นประมาณ 29% หรือประมาณ 7 แสนล้านบาท แต่พบว่างบประมาณกว่าครึ่งหนึ่งเป็นงบที่ส่วนกลาง เหลืองบประมาณที่ท้องถิ่นเพียง 24%
ขณะที่ กองทุนประชารัฐสวัสดิการจำนวน 2,600 ล้านบาท ถูกตั้งคำถามจากฝ่ายค้านว่า เป็นงบประมาณที่แฝงนัยการหาเสียง โดยเฉพาะ “การเลือกตั้งท้องถิ่น” ที่กำลังจะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้หรือไม่?
ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ยังต้องรอฟังคำชี้แจงจากทางรัฐบาลในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งล่าสุดมีการตั้ง “72 กมธ.” หนึ่งในนั้นมี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งปัจจุบันเป็นแกนนำคณะก้าวหน้า ที่คัมแบ็คนั่งกมธ.งบประมาณเป็นรอบที่2รวมอยู่ด้วย
ไฮไลต์สำคัญที่ต้องจับตาในชั้นนี้คือ “การแปรญัติ” ปรับเพิ่มลดงบประมาณ โดยเฉพาะงบกลางที่ถูกเปรียบเทียบว่าเป็นการ “ตีเช็คเปล่า” เนื่องจากไม่จำเป็นต้องมีรายละเอียดหรือชื่อโครงการ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การจัดทำงบประมาณในแต่ละครั้ง ถูกจับตาจากสังคม รวมถึงองค์กรตรวจสอบต่างๆ ในประเด็นความโปร่งใส และความคุ้มค่าในการจัดสรรงบประมาณในด้านต่างๆ
โดยเฉพาะประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ในการห้าม เสนอแปรญัตติ การกระทำด้วยประการใด ที่มีผลให้ ส.ส. ส.ว.มีส่วนทางตรง ทางอ้อม ในการใช้งบประมาณรายจ่าย
ทว่าในอดีตเราเคยมีบทเรียนในเรื่องการใช้ช่องโหว่ หรือเทคนิคทางกฎหมายในการเล่นแร่แปรธาตุในชั้นกรรมาธิการ
การที่บางตัวละครในอดีต กลับมามีบทบาทในปัจจุบัน ถือเป็นสิ่งที่สังคมต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
ยิ่งในสภาวะที่ประเทศเผชิญกับภัยคุกคามกับเชื้อไวรัสด้วยแล้ว การใช้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์ต้องคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด