'โฆษก ศบค.' แนะผู้ประกอบการ จ้างงาน 'แรงงานต่างด้าว' ในประเทศ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

'โฆษก ศบค.' แนะผู้ประกอบการ จ้างงาน 'แรงงานต่างด้าว' ในประเทศ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

"โฆษก ศบค." แนะผู้ประกอบการ จ้างงาน "แรงงานต่างด้าว" ในประเทศ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ย้ำไทยมีมาตรการเข้มงวดในการตรวจคัดกรองโรคแรงงานต่างด้าว

วันนี้ (3 ส.ค. 63) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ชี้แจงสื่อมวลชนเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ดังนี้ 
 
โฆษก ศบค. ย้ำการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวจาก 3 สัญชาติ ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เข้ามาทำงานในประเทศไทยนั้น กระทรวงแรงงานกับกระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจคัดกรองโรค ตั้งแต่ด่านตรวจคนเข้าเมือง หากพบว่ามีอาการป่วยติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ยืนยันว่า ไม่มีการอนุญาตเข้าประเทศไทย  ส่วนผู้ที่ไม่พบอาการป่วย ก็ต้องเข้าสู่สถานกักกั้น ตัวใน Local Quarantine หรือ Organizational  Quarantine เพื่อสังเกตอาการ

ทั้งนี้ ที่ประชุม ศบค. ได้ผ่อนคลายให้สามารถกักกั้นตัว เพื่อสังเกตอาการภายในพื้นที่โรงแรมห้องละ 2 คน เพื่อช่วยผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่าย  พร้อมแนะแนวทางการจ้างงานแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในไทยที่อาจว่างงานและต้องกลับประเทศควบคู่ไปกับการนำแรงงานต่างด้าวจากต่างประเทศ เพราะแรงงานในประเทศจะมีปลอดเชื้อ  พร้อมทั้งฝากไปถึงพี่น้องประชาชนให้ช่วยกันสอดส่องดูแล หากพบเจอแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายบริเวณพื้นที่ติดชายแดน สามารถแจ้งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือสาธารณสุขจังหวัดได้ทันที เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับกลุ่มที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศในขณะนี้  คือ คนต่างด้าวตลอดจนคู่สมรสและบุตรที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย  กลุ่มผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามข้อตกลงพิเศษ (Special Arrangement) หรือผู้ที่ถือบัตร Thailand Elite Card 
 

นอกจากนี้ โฆษก ศบค. ยังเปิดเผยว่า การพิจารณาอนุญาตให้สนามโค สนามชนไก่ สนามกัดปลา หรือสนามแข่งขันอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน ให้เป็นดุลยพินิจของผู้ว่ากรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด ตามความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 13) ข้อที่ 3 ให้มีอำนาจในเปิดดำเนินการและให้บริการได้ตามความเหมาะสม โดยแต่ละจังหวัดจะมีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ทำหน้าที่เหมือน ศบค. ประจำจังหวัด กระจายอำนาจสู่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ตำบลต่าง ๆ เพื่อความรวดเร็วในการควบคุมดูแลกิจการ/กิจกรรมที่ได้รับการผ่อนคลาย ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม โฆษก ศบค. กล่าวเพิ่มเติมว่า เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จะทำหน้าที่ดูแลการผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรมในภาพรวม เพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินงานต่าง ๆ 

ในตอนท้าย โฆษก ศบค. ชี้แจงถึงการเปิดการเรียนการสอนตามปกติ ของโรงเรียนกว่า 4,500 แห่งทั่วประเทศที่อยู่ภายใต้สังกัด สพฐ. สำนักงานพระพุทธฯ และโรงเรียนเอกชนว่า โรงเรียนบางแห่งมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ มีความแออัดของชั้นเรียน จึงยังต้องหารือกันในรายละเอียด เพื่อสร้างความมั่นใจการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในโรงเรียน  ขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการ จะพิจารณาหนทางเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้ปกครองและบุคลากรทางด้านการศึกษาโดยเร็วที่สุด