กกร.เร่งรัฐบาลตั้ง ศบค.เศรษฐกิจ ฟื้นผลกระทบโควิด
กกร.หั่นจีดีพี 2 ครั้ง ในรอบ 2 เดือน คาดทั้งปีติดลบ 9% เร่งรัฐบาลตั้ง ศบค.เศรษฐกิจฟื้นผลกระทบโควิด
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กกร.ประเมินเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างมากในปี 2563 ขณะที่เศรษฐกิจทุกภาคส่วนยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัวและมีความเปราะบางของภาคการส่งออก การผลิต การท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ กกร.ลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 จากเดิมคาดว่าจะติดลบ 8% ถึงลบ 5% ปรับเป็นติดลบ 9% ถึงลบ 7% ส่วนการส่งออกคาดว่าจะติดลบเพิ่มเช่นกันจากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 10% ถึงลบ 7% เป็นลบ 12 ถึงลบ 10% ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดว่าอยู่ที่ลบ 1.5% ถึงลบ 1% เท่ากับที่คาดการณ์ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา
กกร.มีมุมมองว่าเศรษฐกิจช่วงที่เหลือปี 2563 ยังคงติดลบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเหตุผลหลักยังคงมาจากสถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศยังมีการแพร่ระบาดรอบใหม่ ส่งผลให้การส่งออก การค้า และการท่องเที่ยวระหว่างประเทศยังไม่สามารถที่จะฟื้นตัวกลับมาได้ง่ายนัก
ขณะที่ค่าเงินบาทยังคงมีความผันผวนและมีทิศทางที่เริ่มแข็งค่าส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออก ซึ่งไม่เอื้อต่อการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศมากนัก
ทั้งนี้ส่วนที่ภาคเอกชนเป็นห่วงมาก คือ สถานการณ์การจ้างงานที่ยังคงมีความเปราะบาง โดยยังคงมีโอกาสที่จะเห็นการปลดพนักงานในอุตสาหกรรมต่างๆ เพิ่มอีกในช่วงที่เหลือของปี
กกร.เคยประเมินตัวเลขการว่างงานไว้ว่าจะอยู่ที่ 7-8 ล้านคนในปีนี้ แต่ปัจจุบันยังคงตัวเลขดังกล่าวไว้แม้จะเห็นการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นบ้างในบางธุรกิจที่กลับมาเปิดให้บริการได้ แต่ในระยะต่อไปยังมีความน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ยังไม่มีสัญญาณที่ฟื้นตัวชัดเจน เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว รถยนต์ ขณะที่อุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวและมีการจ้างงานได้บ้าง คือ อุตสาหกรรมทางด้านการเกษตร อาหารและค้าปลีก
นอกจากนี้ กกร.ยังมีความเป็นห่วงเศรษฐกิจไทยมาก เนื่องจากโควิดอยู่กับเรานานกว่าที่คาดไว้ เศรษฐกิจไทยยังขาดแรงขับเคลื่อน ยังมีความเปราะบางอยู่หลายส่วนโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวที่เคยสร้างรายได้ให้กับประเทศสูงถึง 2 ล้านล้านบาทต่อปี
นายสุพันธ์ุ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กกร.เตรียมคณะทำงานที่จะเข้าไปทำงานร่วมกับทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลภายหลังจากที่มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ซึ่งการที่มีคนใน ครม.ชุดใหม่ คือ นายปรีดี ดาวฉาย อดีตประธานสมาคมธนาคารไทย ที่ไปจากภาคเอกชนและเคยอยู่ใน กกร.ด้วยก็มั่นใจว่าจะสามารถทำงานร่วมกันได้และมีความเข้าใจในปัญหาและอุปสรรคของภาคเอกชนเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ในการหารือกับ กกร.ทุกคนมีความเห็นตรงกันว่าต้องการให้รัฐบาลเร่งจัดตั้งศูนย์บริหารแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 ในรูปแบบเดียวกับ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเช่นกันซึ่งเป็นข้อเสนอที่เอกชนได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีรับทราบไปก่อนหน้านี้แล้ว
สำหรับประเด็นเร่งด่วนที่ กกร.มองว่าทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ควรจะดำเนินการเป็นอย่างแรก คือ การเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ซึ่งทำได้โดยการขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือต่างๆที่เคยให้ก่อนหน้านี้ไปจนถึงสิ้นปีเพื่อลดภาระให้กับผู้ประกอบการ เช่น การลดจ่ายสมทบประกันสังคม ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งรัดการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอี 5 หมื่นล้านบาทที่เคยเสนอให้รัฐบาลดำเนินการก่อนหน้านี้ซึ่งจะต้องมีการจัดตั้งให้ได้ไม่ว่าจะใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท หรืองบประมาณในส่วนอื่นก็ตาม
นอกจากนี้ กกร.ยังตั้งคณะกรรมการภาษีเพื่อจัดทำข้อเสนอมาตรการภาษีเพื่อรววบรวมข้อเสนอและมาตรการทางภาษีที่จะช่วยเหลือภาคเอกชนและประชาชนให้มีภาระลดลงในช่วงเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวนัก เพื่อเตรียมที่จะเสนอ ครม.เศรษฐกิจชุดใหม่ที่คาดว่าจะจัดตั้งหลังการปรับ ครม.