'กรณ์' แนะ 4 มาตรการสกัดพิษ ก่อนเศรษฐกิจโคม่า

'กรณ์' แนะ 4 มาตรการสกัดพิษ ก่อนเศรษฐกิจโคม่า

"กรณ์" แนะ 4 มาตรการสกัดพิษ! ก่อนเศรษฐกิจโคม่า ชี้ในวิกฤตมีโอกาส ไทยยังมีแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่ต้องรีบคว้าไว้

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 63 นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij ถึงการเตรียมรับมือวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเนื้อหาระบุว่า ...

4 มาตรการสกัดพิษ! ก่อนเศรษฐกิจโคม่า
วิกฤตที่มาพร้อมโอกาสของประเทศไทย

ประเทศไทย ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 2 (YoY) ติดลบ 12.2% เทียบไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ซึ่งทำให้ตัวเลขทั้งปีอาจติดลบ 7-9%

เมื่อลองมองเทียบเศรษฐกิจประเทศใหญ่ (YoY)
อเมริกา -32.9
ญี่ปุ่น -27.8
อังกฤษ -21.7
จีน +3.2%

เมื่อลองเทียบเศรษฐกิจเพื่อนบ้าน (YoY)
สิงคโปร์ -13.2
มาเลเซีย -17.1
ฟิลิปปินส์ -16.5
อินโด -5.32
เวียดนาม +0.36 (ได้อานิสงส์จากจีนโดยตรง)

จากตัวเลขเปรียบเทียบกับหลายๆประเทศจะเหมือนว่า อาการของเรายังไม่ป่วยหนักกว่าเขา แต่ถ้าดูในเชิงลึกแล้วนั้น
ปกติช่วงไตรมาส 2 ปกติจะเป็น Low season ของการท่องเที่ยว ดังนั้นจึงยังไม่ส่งผลทางลบกับเศรษฐกิจเท่ากับไตรมาสอื่น

คำถามที่สำคัญหลังจากนี้ คือ ปีนี้จะมีการท่องเที่ยวจากต่างประเทศหรือไม่ หากไม่ ผลกระทบต่อ GDP จะแรงกว่าไตรมาส 2 ที่ผ่านมาอย่างแน่นอน

อีกสาเหตุที่การปรับลดลงของเราไม่แรงเหมือนหลายประเทศ ก็เพราะเศรษฐกิจเราไม่ดีมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้ฐานเปรียบเทียบค่อนข้างต่ำ (GDP ปี 2019 โตเพียง 2.4%)


จากนี้ไป ผมมองว่าทีมเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น และต้องกระตุ้นเศรษฐกิจใน 4 เรื่องสำคัญทันที ไม่เช่นนั้น พิษบาดแผลทางเศรษฐกิจอาจลุกลามจนประเทศโคม่าได้

1. "ผ่าตัด" งบประมาณรัฐ
หากผมเป็นรัฐบาล ผมจะรื้อแผนการใช้เงิน พรก. ทั้งสามฉบับ เพื่อให้วงเงินรวม 1.9 ลล.เข้าสู่ระบบ ซึ่งหมายถึง ทำให้เงินอยู่ในมือประชาชน อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด โดยตรงที่สุด และต้องเร็วที่สุด

ผมจะยิงเงินส่วนที่เหลือให้ผู้เดือดร้อนโดยตรง โดยเฉพาะ แรงงานภาคท่องเที่ยวและบริการ ประชาชนที่ตกงาน ประชาชนกลุ่มเปราะบาง (ผู้สูงอายุ แม่ลูกอ่อน คนพิการ ฯลฯ)

ผมจะอัดเม็ดเงินช่วยเหลือทั้งทางตรง และวงเงินกู้ด่วนแก่กลุ่มธุรกิจ SME พร้อมมีมาตรการลดภาระค่าใช้จ่าย (เงินเดือน ค่าเช่า ดอกเบี้ย) รวมถึงต้องปรับเกณฑ์แบงก์ชาติให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้จริง เพิ่มความเชื่อมั่นโดยการเปลี่ยนจากเงินกู้เป็นเงินลงทุน

ผมจะปรับการใช้เงินกู้ 400,000 ล้านใหม่ทั้งหมด เพราะที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่เป็นโครงการจิปาถะ ใช้เงินไม่ตรงจุด เบิกจ่ายล่าช้า ขัดกับเป้าหมายการกู้แต่แรก อัดฉีดเงินฉุกเฉินไม่เข้าเป้า

2. "ฉีดยาแรง" กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

เราพึ่งพาการค้าการลงทุนกับต่างประเทศได้ยากในช่วงที่ทั้งโลกยังถดถอย เราต้องเน้นโครงการ ‘พึ่งพาตัวเอง’ เช่น โรงไฟฟ้าชุมชนที่รัฐบาลลังเลมายาวนาน โครงการนี้เปิดโอกาสให้มีการกระจายการผลิตไปที่ผู้ประกอบการรายเล็กทั่วประเทศ เป็นการเสริมความมั่นคงทางพลังงาน และที่สำคัญเป็นแหล่งรายได้ยั่งยืนให้กับเกษตรกร

การเร่งช่วยประชาชนต้องนึกเสมอว่า "นโยบายที่ดีจะต้องเป็นกุศโลบายที่ยิงกระสุนนัดเดียว ช่วยคนได้หลายกลุ่ม"

ทีมเศรษฐกิจใหม่ควรถือโอกาสในการทบทวน “ปัญหาการทำมาหากิน” ของคนไทยหลากหลายอาชีพ เนื่องจากนโยบาย และข้อกฎหมายของรัฐบาลในอดีต ไม่ว่าจะเป็นประมงชายฝั่ง ผู้ค้า Street food สุราพื้นบ้าน ฯลฯ เหล่านี้ถูกจำกัดด้วยกฎหมายล้าสมัย ซึ่งหากกฎหมายทันสมัยเพียงพอ ประชาชนจะมีช่องทางทำกินอีกมาก


3. "สร้างภูมิต้านทาน" ในการดำรงชีวิต
จัดสวัสดิการดูแลประชาชนอย่างเป็นระบบ

สภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองมีแนวโน้มจะอยู่กับเราไปอีกนาน เราต้องปรับการดูแลความอยู่รอดของประชาชนอย่างเป็นระบบ ใครว่างงานหรือรายได้ตํ่ากว่ามาตรฐาน ควรได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงโดยอาศัยหลักคิดแนว Basic Income

4. เสริมจุดแข็งของประเทศ

เรามีทุนหลายด้านที่เข้มแข็งมาก ตอนนี้ที่เด่นชัดที่สุดคือ ทุนจากความเป็นมืออาชีพในวงการสาธารณสุข เราควบคุมโควิดได้ดีเยี่ยม รัฐบาลควรส่งเสริมแนวคิด Work from Thailand ดึงกลุ่ม Expat แรงงานต่างชาติกำลังซื้อสูงเข้าประเทศ ด้วยการกักตัวใน State Quarantine หากปลอดโรค ก็ให้ทำงานต่อ ด้วยการขยายวีซ่าเป็น 1-2 ปี เล็งเป้าเมืองที่มีความพร้อม ที่ได้รับผลกระทบหนักสุดจากการท่องเที่ยว เช่นภูเก็ต สุราษฎร์ เชียงใหม่ หรือ อุบลราชธานี เป็น Official State Quarantine Zone

ทั้งหมดนี้ล่าช้าไม่ได้ครับ ในวิกฤตมีโอกาส และโอกาสครั้งนี้ไทยเรายังมีแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่ต้องรีบคว้าไว้

ขอให้ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่เตรียมพร้อม แล้วนำพาประเทศไทยก้าวพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน