ปัญหาเรื่อง 'น้ำ' ภาคตะวันออก
ปัญหาเรื่องน้ำภาคตะวันออก ถือเป็นเรื่องที่ต้องจับตาและให้ความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์น้ำเข้าสู่ภาวะขาดแคลนแล้วอย่างชัดเจน แหล่งน้ำต่างๆ มีปริมาณน้ำเหลือไม่ถึงครึ่ง
สถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกเข้าสู่ภาวะขาดแคลนน้ำอย่างชัดเจน เนื่องจากน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่น แหล่งน้ำใน จ.ชลบุรี ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำคลองหลวง ซึ่งมีความสามารถบรรจุน้ำได้ถึง 98 MCM (Million Cubic Metre) ปัจจุบันมีปริมาณน้ำคงเหลือประมาณ 30% แหล่งน้ำใน จ.ระยองที่มาจากลุ่มน้ำคลองใหญ่ และลุ่มน้ำประแสร์มีปริมาณน้ำคงเหลือ 45% และ 50% ตามลำดับ
การคาดการณ์แนวโน้มปริมาณน้ำฝนปี 2563 ซึ่งมีปัจจัยจากพายุ EL NINO และ LA NINA ซึ่งจะทำให้สภาวะอากาศของประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติเล็กน้อย หากมีการคาดการณ์ปริมาณน้ำเก็บกักสิ้นปีของ 3 อ่างหลักของลุ่มแม่น้ำคลองใหญ่ ประกอบไปด้วย อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ มีปริมาณน้ำมากกว่า 240 ล้านลูกบาศก์เมตร และคาดการณ์ปริมาณน้ำเก็บกักอ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งสิ้นปีมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 200-240 ลูกบาศก์เมตร และคาดการณ์ปริมาณน้ำเก็บกักรวมอ่างเก็บน้ำใน จ.ชลบุรี ประกอบด้วย 7 อ่างเก็บน้ำบางพระ และ 5 อ่างเก็บน้ำในพัทยา ซึ่งสิ้นปีมีปริมาณน้ำคงเหลือทั้งสิ้นที่ 103 ลูกบาศก์เมตร
รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2563 ที่ผ่านมา และมีข้อสั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการดังนี้ กรมชลประทาน วางแผนบริหารจัดการน้ำในระบบโครงข่ายอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ให้เพียงพอถึงฤดูแล้ง
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้วางแผนและจัดหาแหล่งน้ำสำรองของตนเอง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ติดตามและเร่งรัดการพัฒนาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการเติบโตและความต้องการใช้น้ำของทุกกภาคส่วนและเร่งดำเนินการโครงการสำคัญที่จำเป็นเสนอเข้าที่ประชุม กนช.ทันที
สำหรับการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ภาครัฐมีการจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อการบริหารจัดการความมั่นคงด้านน้ำ Water Security ในพื้นที่ภาคตะวันออกประกอบด้วย เพิ่มปริมาณน้ำ ณ อ่างเก็บน้ำประแสร์ให้เต็มศักยภาพ, เพิ่มปริมาณน้ำ ณ อ่างเก็บน้ำ 3 อ่างเก็บน้ำหลักลุ่มแม่น้ำคลองใหญ่ให้เต็มศักยภาพ, ลดการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำหลักใน จ.ระยอง ให้เต็มศักยภาพ, เพิ่มปริมาณน้ำ ณ อ่างบางพระ ให้เต็มศักยภาพ, ดำเนินการ CSR ต่อสังคม
ถึงแม้ว่าภาครัฐจะมีนโยบายด้านการจัดการน้ำต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่การสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำ และการสร้างความมั่นใจในการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นสิ่งหนึ่งที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยตระหนักถึง ดังนั้นจึงมีการนำเสนอต่อที่ประชุมเตรียมการภาคเอกชนเพื่อหารือข้อเสนอกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 เพื่อให้มีการดำเนินการสำหรับการจัดการน้ำในดังนี้ จ.ระยอง สูบผันน้ำจากคลองสะพานมายังอ่างเก็บน้ำประแสร์อย่างต่อเนื่องและให้เต็มศักยภาพ และ ผันน้ำ Side Flow จากกลุ่มน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์
จ.ชลบุรี และจ.ฉะเชิงเทรา ขอให้มีการสูบผันน้ำจากคลองพระองค์เจ้าฯ คลองพานทอง และแม่น้ำบางปะกง มายังอ่างเก็บน้ำบางพระให้ได้ตามแผน, ขอให้กรมชลประทาน ปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองหลวง พร้อมกับ การประปาส่วนภูมิภาคดูแลการผันน้ำมาให้เต็มที่, จัดทำ Zoning ทำความเข้าใจกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา กุ้ง ไม่ให้มีการเลี้ยงแบบกระจายไปทั่ว มิฉะนั้นจะทำให้เกิดความขัดแย้งในการบริหารจัดการน้ำเพิ่มมากขึ้น และจะทำให้แหล่งน้ำจืดไม่เพียงพอในช่วงฤดูแล้ง, เร่งโครงการท่อส่งน้ำ East Water ระยะทาง 45 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมอ่างคลองหลวง ตลอดจนโครงการส่งน้ำคลองพานทอง บางพระ
ข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้ก็เพื่อสนับสนุนและผลักดันให้น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับทั้งภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรมต่อไป