การเมือง-เศรษฐกิจโลก หลังโควิด-19
ส่องปรากฏการณ์เกมการเมืองโลก และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หลังจากพายุวิกฤติโควิด-19 ผ่านพ้นไป ขั้วมหาอำนาจจะกลับทิศหรือไม่ การห้ำหั่นกันของประเทศมหาอำนาจจะเป็นรูปแบบใด เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเป็นสงครามร้อน รวมถึงสิ่งที่น่าจับตาอย่างระเบียบโลกใหม่หลังจากนี้
ที่ผ่านมา การพัฒนาประเทศและฟื้นตัวจากวิกฤติของประเทศไทย อาศัยบริบทระหว่างประเทศค่อนข้างสูง ในทำนองเดียวกัน การแก้วิกฤติโควิด-19 และการพัฒนาประเทศหลังโควิด เราจำเป็นต้องเข้าใจแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของบริบทการเมืองและเศรษฐกิจโลกหลังโควิด เพื่อที่จะกำหนดแนวทางการรับมือกับวิกฤติได้ โดยไม่ทำให้ประเทศเสียหายมากนัก และพัฒนายุทธศาสตร์ในการสร้างชาติหลังโควิดได้อย่างเหมาะสม
ผมจึงได้คาดการณ์การเมือง-เศรษฐกิจโลกหลังโควิด โดยอธิบายลักษณะของเกมการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งมีลักษณะสำคัญดังต่อไปนี้
1.เกมเลือกข้าง : Bipolarity
โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้โลกเปลี่ยนจาก “โลกหลายขั้วอำนาจ” (multipolarity) เป็น “โลกสองขั้วอำนาจ” (bipolarity) ซึ่งมีสหรัฐและจีนเป็นแกนนำ ถึงกระนั้นโลกจะไม่ใช่สองขั้วที่แยกขาดจากกัน แต่ทั้งสองขั้วยังมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยมีทั้งความร่วมมือและแข่งขันกัน และอาจมีการเชื่อมโยงหรือซ้อนทับของเขตอิทธิพลของสองขั้วอำนาจ
วิกฤติโควิด-19 จะทำให้สถานะของจีนเข้าใกล้สหรัฐมากขึ้น ด้วยเหตุที่จีนสามารถจัดการการระบาดของโควิดได้รวดเร็วและมีประสิทธิผล ขณะที่สหรัฐรับมือกับโควิดได้ล่าช้าและไร้ทิศทาง ทำให้สหรัฐได้รับความเสียหายรุนแรงกว่า สถานการณ์นี้จะทำให้จีนมีภาพลักษณ์เป็นผู้นำด้านต่างๆ มากขึ้น ขณะที่โลกอาจสูญเสียความเชื่อมั่นต่อสถานะความเป็นผู้นำของสหรัฐมากขึ้น
การที่จีนเข้าใกล้สหรัฐมากขึ้น ทำให้สหรัฐต้องพยายามกดจีน โดยเร่งกระบวนการแยกออก (decoupling) ระหว่างสหรัฐและจีน ในอนาคตทั้งสองอภิมหาอำนาจจะสร้างแกนให้ประเทศอื่นมาเข้าร่วม โดยการแผ่ขยายเขตอิทธิพลและกีดกันอิทธิพลของขั้วอำนาจตรงข้าม ทำให้ความเชื่อมโยงระหว่างสองขั้วจะลดลงโดยเปรียบเทียบ ส่วนประเทศที่อยู่กลางๆ จะถูกบีบให้เลือกข้างมากขึ้น
2.เกมปะทะซึ่งหน้า : Warm War Era
โลกหลังโควิดจะมีลักษณะเป็น “สงครามอุ่น” (Warm War) ระหว่างอภิมหาอำนาจ ไม่ใช่ “สงครามร้อน” (Hot War) ที่ใช้กำลังทหารและยุทโธปกรณ์เข้าปะทะกัน หรือ “สงครามเย็น” (Cold War) ที่เป็นภาวะความตึงเครียด การต่อสู้ทางอุดมการณ์ และการแข่งขันด้านแสนยานุภาพทางทหาร และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่เป็นการปะทะโดยตรงของอภิมหาอำนาจ โดยการทำสงครามทุกแนวรบ ยกเว้นสงครามทางทหารระหว่างกัน
วิกฤติโควิด-19 สร้างผลกระทบทั่วโลก หลายประเทศจะมีหนี้เพิ่มขึ้นมาก และบางประเทศอาจกลายเป็นรัฐล้มเหลว (failed state) จีนจึงใช้โอกาสนี้สร้างอิทธิพลต่อประเทศต่างๆ โดยใช้อำนาจละมุน (soft power) เช่น การเสนอความช่วยเหลือแก่ประเทศอื่นถึง 82 ประเทศ โดยการส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปให้ เป็นต้น การรุกคืบของจีนทำให้สหรัฐและพันธมิตรต้องพยายามมากขึ้นในการจำกัดการขยายอิทธิพลของจีน
อย่างไรก็ดี ทั้งสหรัฐและจีนมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมระหว่างกันค่อนข้างสูง กลยุทธ์ที่สหรัฐและจีนใช้จึงเป็นการบั่นทอนและทำลายสมรรถนะของอีกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการทำสงครามการค้า สงครามอัตราแลกเปลี่ยน สงครามเทคโนโลยี สงครามสื่อ สงครามข้อมูลข่าวสาร สงครามความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สงครามแนวกั้น/สงครามปิดล้อม และสงครามป้องกันภัยคุกคาม แต่จะยังไม่นำไปสู่การทำสงครามทางทหาร เพราะจะสร้างความเสียหายที่รุนแรงมากต่อทั้งสองฝ่าย
3.เกมผลประโยชน์ข้ามเวลา : Inter-temporal Economic Game
เกมการต่อสู้ระหว่างมหาอำนาจมีลักษณะเป็นเกมผลประโยชน์ข้ามเวลา โดยทั้งสองมหาอำนาจพยายามแสวงหาประโยชน์สูงสุด โดยพิจารณาข้ามกาลเวลา (ระยะสั้น-ระยะยาว) ซึ่งสหรัฐและจีนใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกัน โดยสหรัฐเน้นผลประโยชน์ระยะสั้นและผลประโยชน์ร่วม ส่วนจีนเน้นผลประโยชน์ระยะยาวและให้ผลประโยชน์เพื่อซื้อใจ
วิกฤติโควิด-19 จะทำให้จีนเข้าใกล้สหรัฐมากขึ้น ทำให้สหรัฐต้องเดินเกมรุกระยะสั้นต่อจีนมากขึ้น เพื่อดึงขาไม่ให้จีนขึ้นมาเทียบกับสหรัฐ และสร้างอิทธิพลกับประเทศต่างๆ โดยมีผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น สหรัฐย้ายฐานทัพออกจากเยอรมนีไปยังโปแลนด์ เพราะโปแลนด์ยอมจ่ายค่าใช้จ่ายในฐานทัพ โดยโปแลนด์จะได้รับการคุ้มครองจากการคุกคามจากรัสเซีย เป็นต้น
ในทางตรงข้าม โควิดทำให้จีนมีความมั่นใจมากขึ้น และกล้าตอบโต้สหรัฐมากขึ้นในระยะสั้น แต่จีนจะเน้นการเดินเกมระยะยาวเพื่อโค่นสหรัฐขึ้นไปเป็นเบอร์หนึ่งของโลก ตลอดจนขยายอิทธิพลโดยใช้การซื้อใจ สังเกตได้จากจีนแทบไม่เคยให้เงินกู้แก่ประเทศต่างๆ ผ่านธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย (AIIB) เลย แต่โครงการลงทุนส่วนใหญ่ใช้งบประมาณจากรัฐบาลปักกิ่ง เช่น การสร้างรถไฟความเร็วสูงในลาว ซึ่งไม่คุ้มค่าในระยะสั้น แต่จีนหวังผลระยะยาวในการขยายอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น
4.เกมไร้กฎ : Pragmatic World Order
วิกฤติโควิดจะเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงจาก “ระเบียบโลกใหม่” ที่มีลักษณะเป็น “Liberal World Order” คือ การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ และการยึดกฎเกณฑ์และข้อตกลงระหว่างประเทศ เป็น “หลังระเบียบโลกใหม่” ที่มีลักษณะเป็น “Pragmatic World Order”
กล่าวคือ การให้ความสำคัญกับผลลัพธ์เฉพาะหน้าหรือผลประโยชน์ของตนเอง มากกว่าความสอดคล้องของอุดมคติหรือหลักการ กฎกติการะหว่างประเทศที่มีอยู่เดิมจะถูกละเมิดหรือไม่ได้รับการยอมรับหากขัดผลประโยชน์ของตน แต่จะใช้แนวทางการเจรจาต่อรองเป็นกรณีๆ ไป โลกหลังโควิดจึงเป็นโลกที่ไร้ระเบียบ เพราะมหาอำนาจต่างก็มีผลประโยชน์ ระบอบ ค่านิยม และวัฒนธรรมของตนเอง และพยายามสร้างระเบียบโลกที่ตนเองได้ประโยชน์
สหรัฐที่มีมุมมองว่าตนเองเสียเปรียบจากระเบียบโลกใหม่อยู่แล้ว เช่น การขาดดุลทางการค้า การที่ต้องจ่ายต้นทุนในการรักษาระเบียบโลก เป็นต้น เมื่อสหรัฐได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างรุนแรงก็ยิ่งตอกย้ำมุมมองดังกล่าว สหรัฐจึงพยายามปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง แม้กระทั่งละเมิดกฎที่ตนเองเคยเป็นตัวตั้งตัวตี
ขณะที่จีนได้รับประโยชน์จากระเบียบโลกเสรี จึงฉวยโอกาสประกาศตัวว่าเป็นผู้นำในเวทีการค้าเสรีของโลก และยึดมั่นในระบบเศรษฐกิจเสรี ทั้งที่จีนเองก็ถูกครหาว่าใช้อำนาจรัฐแทรกแซงกลไกตลาดเพื่อให้ได้เปรียบประเทศอื่น เช่น การอุดหนุนและให้สิทธิพิเศษต่อภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจของตน การไม่ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของชาติอื่น การบังคับให้ถ่ายทอดเทคโนโลยี และการกีดกันทางไซเบอร์ เป็นต้น
จากสำนวนที่ว่า “ช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ” สะท้อนสถานการณ์โลกในภาวะปัจจุบันได้เป็นอย่างดี และกลายเป็นสถานการณ์ที่ซ้อนทับวิกฤติโควิด-19 ทำให้การบริหารประเทศ เพื่อให้ฟื้นตัวจากวิกฤติมีความยากลำบากมากขึ้นไปอีก