เก้าอี้ปลิว 'วิระชัย ทรงเมตตา' วิบากกรรมช่วงท้ายชีวิตราชการ
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 31 ส.ค.63 ที่ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง “ให้ข้าราชการตำรวจพ้นจากตำแหน่ง”
ซึ่งหมายถึง พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา ในตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.)
สำทับด้วย พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ พล.ต.อ.วิระชัย พ้นจากตำแหน่งรองผบ.ตร. ถือเป็นการคอนเฟิร์มอย่างเป็นทางการว่า พล.ต.อ.วิระชัย ไม่มีตำแหน่งใดๆ ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกแล้ว
ประกาศสำนักนายกฯ มีการอธิบายที่มาที่ไปและเหตุผลในเรื่องนี้เอาไว้ว่า
"เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จนถูกตั้งกรรมการสอบสวน และขอให้นำความกราบบังคมทูลกระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 104 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ประกอบข้อ 8 วรรคสอง ของกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือส่วนราชการใด หรือสำรองราชการในส่วนราชการใด พ.ศ.2548 ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พ้นจากตำแหน่งแล้ว
บัดนี้ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้บุคคลดังกล่าว พ้นจากตำแหน่ง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค.2563..."
ชัดเจนว่านี่คือผลจากคำสั่งสำรองราชการที่ พล.ต.อ.วิระชัย โดนลงโทษในเบื้องต้นก่อนหน้านี้ หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ มีคำสั่งให้โอนกลับจากสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งทีแรก พล.ต.อ.วิระชัย เตรียมฉลอง เพราะคิดว่าเป็นข่าวดี แต่ไปๆ มาๆ เป็นการส่งตัวกลับมารับโทษทัณฑ์
ส่วนการย้ายไปสำนักนายกฯชั่วคราว ไม่ได้เป็นการลงโทษ แต่เป็นการย้ายเพื่อเปิดทางให้มีการสอบสวนอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา ข้อกล่าวหาก็คือกรณีการปล่อยคลิปเสียงที่คุยโทรศัพท์กับผู้บังคับบัญชา โดยเชื่อมโยงกับกรณีการเคลื่อนไหวของ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่อ้างว่าถูกคนร้ายยิงถล่มรถยนต์เปล่า ขณะจอดอยู่หน้าร้านนวดแผนโบราณย่านสีลม เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
สถานะปัจจุบันของ พล.ต.อ.วิระชัย จึงคล้ายๆ ถูกออกจากราชการไว้ก่อน แต่ยังไม่ถึงขั้นถูกออกจากราชการเอาไว้ก่อน แต่สำรองราชการเพื่อรอผลการสอบสวนอย่างเป็นทางการ เพื่อกำหนดโทษ ซึ่งอาจมีโทษทั้งวินัยและอาญา
ขั้นตอนตาม กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือส่วนราชการใด หรือสำรองราชการในส่วนราชการใด พ.ศ. 2548 ระบุไว้ในข้อ 3 ว่า “การสั่งให้ข้าราชการตำรวจสำรองราชการในส่วนราชการใด โดยให้พ้นจากตำแหน่ง หน้าที่เดิม ให้สั่งได้เมื่อมีเหตุในกรณีหนึ่งกรณีใด (1) ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือต้องหาว่ากระทำผิดอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา เว้นแต่ความผิดซึ่งถูกฟ้องหรือต้องหาเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ แต่ยังไม่ถึงขั้นถูกสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามมาตรา 95”
แม้ผลจะยังไม่ถึงขั้นถูกออกจากราชการไว้ก่อน แต่กรณีของ พล.ต.อ.วิระชัย มีแนวโน้มหลุดจากเก้าอี้รอง ผบ.ตร.ไปเลย เพราะทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเตรียมแต่งตั้งนายตำรวจขั้นเป็นรอง ผบ.ตร.แทน โดยอาศัยช่องทางตามกฎ ก.ตร.ฉบับเดียวกัน
“เมื่อมีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจสำรองราชการตามวรรคหนึ่งแล้ว (ข้อ 3) ให้กันตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งในระดับเดียวกันกับตำแหน่งเดิมของผู้ที่ถูกสั่งให้สำรองราชการไว้ มีกำหนด 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่คำสั่งสำรองราชการมีผลใช้บังคับ หากผู้ที่ถูกสั่งให้สำรองราชการยังไม่หมดเหตุสำรองราชการภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้พิจารณาแต่งตั้งผู้อื่นไปดำรงตำแหน่งที่กันไว้ได้”
“ทั้งนี้ การสั่งให้ข้าราชการตำรวจตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จเรตำรวจแห่งชาติ และ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือตำแหน่งเทียบเท่า ประจำหรือสำรองราชการในส่วนราชการใด ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง...”
มีรายงานว่า พล.ต.อ.วิระชัย เป็นนายตำรวจระดับ รองผบ.ตร. หรือ พล.ต.อ. คนแรกที่โดนสั่งสำรองราชการ โดย พล.ต.อ.วิระชัย มีชื่อเดิมว่า “สุวิระ ทรงเมตตา” เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 37 ก่อนที่จะถูกสั่งสำรองราชการ ได้รับการคาดหมายว่ามีโอกาสขึ้นเป็น ผบ.ตร.คนต่อไป เพราะเป็นรองผบ.ตร.อาวุโสอันดับ 1 มีอายุราชการถึงปี 65
สำหรับเส้นทางสายวิบากในช่วงท้ายชีวิตราชการของ พล.ต.อ.วิระชัย มีไทม์ไลน์ดังนี้
24 ม.ค.63 สำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งที่ 22/2563 ให้ พล.ต.อ.วิระชัย ไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีพฤติการณ์และการกระทำส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่
23 ก.ค.63 พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 219/2563 ให้ พล.ต.อ.วิระชัย กลับไปปฏิบัติราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยระบุว่าผลสอบสวนเสร็จแล้ว
24 ก.ค.63 พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. สั่งให้กองคดีแจ้งความเอาผิดอาญาฐานปล่อยคลิปเสียง โดยมีกองบังคับการปราบปรามเป็นพนักงานสอบสวน พร้อมตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง
29 ก.ค.63 ผบ.ตร.สั่งสำรองราชการ พล.ต.อ.วิระชัย
31 ก.ค.63 พล.ต.อ.วิระชัย ยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) กรณีถูกสั่งสำรองราชการ และการสอบวินัยร้ายแรงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
13 ส.ค.63 พล.ต.อ.จักรทิพย์ มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.วิระชัย ไปปฏิบัติหน้าที่สำนักงาน ผบ.ตร. ก่อนมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งรอง ผบ.ตร.
24 ส.ค.63 พล.ต.อ.วิระชัย มอบหมายให้ทนายความ ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
6 ก.ย.63 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักนายกฯ โปรดเกล้าฯให้ พล.ต.อ.วิระชัย พ้นจากตำแหน่งรองผบ.ตร.
สำหรับตำแหน่งรองผบ.ตร.ที่ว่างลง ทำให้มีตำแหน่งระดับนายพลขยับได้อีก 5 ตำแหน่ง โดยตำแหน่งผู้ช่วยผบ.ตร. ขี้นเป็น รองผบ.ตร.แทน มีชื่อ พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย หรือ พล.ต.ท.รอย อิงคไพโรจน์ โดย 1 ใน 2 คนนี้มีลุ้นส้มหล่นขึ้นเป็น รองผบ.ตร. จากนั้นจะมีตำแหน่งระดับผู้บัญชาการ และผู้บังคับการขยับขึ้นมาแทนอีกตามลำดับ รวมแล้ว 5 ตำแหน่ง
งานนี้ไม่ได้เข้าตำราเก่าไปใหม่มา แต่เป็นวิบากกรรม “เก้าอี้ปลิว” ครั้งประวัติศาสตร์ของรองผบ.ตร. ที่มีสิทธิ์โดนฟันทั้งวินัยและอาญา รวมถึงความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 74 รวมทั้งประกาศ คปค.ฉบับที่ 21 เรื่องการห้ามดักฟังทางโทรศัพท์ และเครื่องมือสื่อสารอื่นใด