ประวัติศาสตร์ 'หมุดคณะราษฎร' สัญลักษณ์การต่อสู้จากรุ่นสู่รุ่น
“การเมืองไทย” ตามประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกไว้นั้น นอกจากจะเป็นการต่อสู้กันในสภาและนอกสภา ก็ยังพบการต่อสู้ในเชิงสัญลักษณ์ด้วย
โดยเฉพาะนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 อย่างที่ทราบกันดีว่า ‘คณะราษฎร’ นั้น ได้ทำการอภิวัฒน์สยาม และเปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย
ในช่วงแรกของการอภิวัฒน์สยามนั้น ประชาชนจำนวนมากยังไม่เข้าใจหลักการประชาธิปไตยเท่าใดนัก ส่วนใหญ่ยังคงยึดมั่นในความเป็นอนุรักษ์นิยมที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน
ด้วยเหตุนี้ คณะราษฎรจึงต้องพยายามสร้างสัญลักษณ์ทางการเมืองขึ้นมา เพื่อผลิตซ้ำวาทกรรมใหม่สู้กับวาทกรรมของกลุ่มพวกอนุรักษ์นิยม
สัญลักษณที่คณะราษฎรสร้างขึ้นมานั้น นอกจากดำเนินการผ่านนโยบายด้านต่างๆ ที่เน้นการสร้างความเท่าเทียมและความเป็นธรรม ตาม “หลัก 6 ประการ” ของคณะราษฎรแล้ว ปรากฎว่ามีการนำเสนอสัญลักษณ์เชิงวัตถุและสถาปัตยกรรมด้วย เช่น อนุสาวรีย์ปราบกบฎที่เคยตั้งอยู่บริเวณวงเวียนบางเขน เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์กบฎบวรเดช หรือแม้แต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลางถนนราชดำเนินที่ถูกสร้างขึ้นมาก็เพื่อตอกย้ำถึงหลักการ 6 ประการของคณะราษฎร
อย่างไรก็ตาม มีสัญลักษณ์หนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือ “หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ” หรือที่คนส่วนใหญ่จะเรียกว่า “หมุดคณะราษฎร”
ทั้งนี้ วิทยานิพนธ์เรื่อง การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ในการเมืองไทย : ศึกษากรณีหมุดคณะราษฎร ของนพปฎล ศรีวงษ์รัตน์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ศึกษาและพบว่า หมุดคณะราษฎรเสมือนเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของคณะราษฎร
โดยหมุดคณะราษฎรบริเวณพระบรมรูปทรงม้า ถูกเคลื่อนย้ายครั้งแรกในยุคจอมพลสฤษดิ์ แล้วก็มีคนนำมาคืน จากนั้นก็ถูกเคลื่อนย้ายและเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงอีกครั้งในเดือนเมษายน 2560
เหตุใดจึงมีการพยายามกระทำดังกล่าวกับหมุดนี้ หรืออาจสะท้อนว่าหมุดคณะราษฎรนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของระบอบใหม่ที่ทิ่มแทงระบอบเก่าอยู่ตลอดมาหรือไม่ และหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญนี้ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างอุดมคติทางการเมืองกับฝ่ายตรงข้ามอนุรักษ์นิยม
จากปรากฏการณ์ทางการเมืองในช่วงหลังรัฐประหาร 2549 ก็มีการพูดถึงหมุดนี้อีกครั้ง มีการพยายามใช้หมุดเป็นเครื่องมือเพื่อต่อสู้ทางการเมือง โดยมีการจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงหมุดนี้ หรือมีความพยายามจะย้อนกลับไปคิดถึง “วันชาติ 24 มิถุนายน” และมีคนบางกลุ่มพยายามทำพิธีกรรมบริเวณหมุด เป็นต้น
ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้สะท้อนว่า หมุดนี้ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับระบอบเก่าอยู่บ่อยครั้ง
โดยเฉพาะเมื่อมีการรัฐประหาร หรือยึดอำนาจโดยฝ่ายผู้มีกำลังอำนาจ ซึ่งมักจะถูกมองว่าเป็นการยึดอำนาจโดยระบอบเก่า หรือฝ่ายอนุรักษ์นิยม และฝ่ายตรงข้ามก็จะใช้หมุดคณะราษฎรมาเป็นวิธีคิดเพื่อกระตุ้นความทรงจำเกี่ยวกับความเป็นระบอบใหม่ เพื่อต่อสู้ทางความคิดกับระบอบเก่า
โดยหมุดคณะราษฎรข้างพระบรมรูปทรงม้านั้น อาจถูกมองว่าเป็นจุดหรือรอยตำหนิในประวัติศาสตร์ความทรงจำของระบอบเก่า หรืออนุรักษ์นิยม แต่สำหรับระบอบใหม่ถือเป็นจุดหรือเป็นก้าวแรกในการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การปกครองไทย และจะถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้กับระบอบเก่าอยู่เสมอ
สำหรับความเป็นมาของหมุดคณะราษฎร ในหนังสือ 111 ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา “เชษฐบุรุษ” บันทึกถึงที่มาของหมุดคณะราษฎรไว้พอสังเขปดังนี้
การฝังหมุดคณะราษฎร ได้มีขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2479 โดยหมุดดังกล่าวทำด้วยโลหะสัมฤทธิ์ พิธีการนั้นเป็นความต้องการของพระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ต้องการสร้างวัตถุเพื่อรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของการมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ
งานดังกล่าวได้มีลักษณะเหมือนการจำลองเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 โดยมีคณะทหารบกและทหารเรือ รวมไปถึงพลเรือนได้ไปชุมนุมกันที่ลานพระราชวังดุสิต เพื่อร่วมประกอบพิธีสำคัญนี้ จากนั้นพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้กล่าวปราศรัยที่มีเนื้อหาถึงการให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญ
“พี่น้องเคยร่วมตายทั้งหลาย ท่านยังระลึกได้หรือไม่ว่า ตำบลใดเป็นที่ที่เราได้เคยร่วมกำลัง ร่วมใจร่วมความคิด กระทำการ เพื่อขอความเป็นอิสรเสรี ให้แก่ปวงชนชาวสยาม ข้าพเจ้าเชื่อว่าบางท่านคงจะจำได้แต่เพียงเลือน ๆ และบางท่านที่ต้องถูกใช้ไปทำหน้าที่อื่นๆ ที่ห่างไกลออกไป ก็คงไม่ทราบว่าจุดนั้นแห่งใดแน่ ข้าพเจ้าเห็นว่าพวกเราชาวสยามไม่ควรจะหลงลืมที่สำคัญอันนี้เสียเลย เพราะเป็นที่กำเนิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ซึ่งเราถือกันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งเป็นมิ่งขวัญของประชาชาติด้วย มิ่งขวัญของพวกเราชาวสยามได้เริ่มถูกเรียกและถูกเชิญให้มาอยู่กับเนื้อกับตัวในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้"
"ในขณะวันและเวลาที่กล่าวนั้น พวกท่านผู้ร่วมก่อการได้มอบชีวิตจิตใจไว้แก่ข้าพเจ้าอย่างเต็มที่…ที่จะยอมเสียสละชีวิตและเลือดเนื้อ เพื่อขอรับพระราชทานแลกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น สำหรับเป็นเครื่องป้องกันการหลงลืม และให้เป็นอนุสรณ์สืบต่อไปภายภาคหน้า…ฉะนั้น หมุดที่จะวางลง ณ ที่นี้จึงเรียกว่า หมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ ในมงคลสมัยซึ่งเป็นวันบรรจบครบรอบ ๔ รอบปีแห่งการรับพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร นับว่าเป็นฤกษ์งามยามดีอยู่แล้ว ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงขอถือโอกาสวางหมุดกำเนิดรัฐธรรมนูญ ณ ที่ซึ่งเตรียมการไว้นั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”
ผ่านมาเกือบศตวรรษ “หมุดคณะราษฎร” ได้กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการต่อสู้ในการเมืองไทยมาตลอดจนถึงปัจจุบัน และนำมาสู่การวางหมุดคณะราษฎร “เวอร์ชั่น 2563” กลางสนามหลวง แม้ว่าปัจจุบันหมุดคณะราษฎรของจริงได้ถูกถอนออกจากลานพระราชวังดุสิตแล้วก็ตาม