ม็อบอ่อนแรง เพื่อไทยแพแตก โอกาส 'รัฐบาลประยุทธ์' อยู่ยาว

ม็อบอ่อนแรง เพื่อไทยแพแตก โอกาส 'รัฐบาลประยุทธ์' อยู่ยาว

ปรากฏการณ์ “ม็อบ 19 ก.ย.” ที่จัดโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม แม้จะโหมโรงใหญ่โต แต่ถึงวันแสดงจริงกลับถูกฝ่ายความมั่นคงประเมินว่า “จุดไม่ติด” มวลชนที่ร่วมการชุมนุมไม่เกิน 5 หมื่นคน

 3 สาเหตุหลัก ที่ทำให้การชุมนุมไม่ตอบโจทย์ของตัวเอง ไม่ตอบโจทย์กลุ่มผู้เรียกร้อง ไม่ตอบโจทย์สังคม และคนที่มองเกมของการชุมนุมว่า ม็อบไปต่อไม่ได้ เกิดจาก

1.ผู้นำในการชุมนุม ไม่ใช่ผู้นำที่ได้รับการยอมรับของสังคม ในแง่คนชั้นกลาง นักทฤษฎีฝ่ายซ้ายของอิตาลี บอกว่าการที่จะทำให้ม็อบทุกม็อบได้รับชัยชนะ คนชั้นกลางต้องเห็นด้วย แต่ “แกนนำม็อบ” ยังไม่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งแกนนำอย่าง “พริษฐ์ ชิวารักษ์” หรือเพนกวิน อานนท์ นำภา ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เดินนำม็อบ คนชั้นกลางเดินตามหรือไม่

2.ประเด็นร่วมไม่มี เพราะถ้าย้อนกลับไปเวทีแรก 10 ส.ค.ที่ ธรรมศาสตร์ รังสิต มีการเรียกร้อง 10 ข้อ และเวทีที่สองที่ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก็เรียกร้อง 10 ข้อ ซึ่งฟีดแบ็คเวที 10 สิงหาฯ สังคมวงกว้างยังไม่ค่อยตอบรับ เพราะไม่ใช่การโฟกัสที่รัฐธรรมนูญ

ย้อนไปดูการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มประชาชนปลดแอก มี 3 ข้อเรียกร้อง จนกระแสแรงจนกระทั่งรัฐสภาเขย่าว่า จะต้องแก้รัฐธรรมนูญจาก 3 ข้อเรียกร้องคือ หยุดคุกคามประชาชน เป็นที่ยอมรับ แก้รัฐธรรมนูญ เป็นประเด็นร่วม และ ให้นายกฯ ยุบสภา แม้จะไม่ยอมรับ แต่ก็มีส่วนร่วมมากขึ้นกว่าเดิม

3.ก้าวล่วงสถาบัน ช่วงแรกการชุมนุมดูมีคนจำนวนมาก แต่เมื่อพูดถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ปรากฏว่าคนเริ่มถอย เมื่อมาชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผู้ร่วมชุมนุมกลับเพิ่มจำนวนอีกครั้งเมื่อรู้สึกว่าเป็นประเด็นร่วม เพราะไม่มีการพูดถึงก้าวล่วงสถาบัน จนมีความขัดแย้งภายใน ในการเคลื่อนไหว         สำหรับผู้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มนักศึกษา จำแนกได้ 3 กลุ่ม 1.คือกลุ่มนักศึกษาในธรรมศาสตร์มาจำนวนมาก แต่ไม่มีเครือข่ายจุฬาฯ รามคำแหง 2.ประชาชนที่มีความรู้สึกว่า อยากจะให้มีการเปลี่ยนแปลง จึงมาร่วม

3.กลุ่มที่มากที่สุดคือ กลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า บางกลุ่มน่าจะเป็นกระบวนการจัดตั้ง นำมาของนักการเมือง

ส่วนที่มองกันว่าในเดือนตุลาคม จะเป็นตุลาเดือด โดยเฉพาะนัดหมายชุมนุมใหญ่ 14 ตุลาฯ เมื่อพรรคร่วมรัฐบาล และวุฒิสภา เริ่มชะล่าใจว่าการแก้รัฐธรรมนูญ ม็อบจุดไม่ติด ม็อบไม่มีพลังพอ ญัตติในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ร่าง ที่มาจากพรรคร่วมรัฐบาล 1 ร่าง พรรคเพื่อไทย 1 ร่าง และพรรคร่วมฝ่ายค้าน 4 ร่าง เสียงในรัฐสภาจึงเปลี่ยนไป มีตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาอีก 1 เดือน จึงเป็น เกมยื้อที่มาจากการประเมินม็อบ 19 ก.ย.

 

หากย้อนรอยไปเมื่อปี 2535 ก็ไม่ต่างกัน คือ 1-4 พ.ค.2535 ชุมนุมสนามหลวง พอรัฐบอกว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ ม็อบหยุด แต่พรรคร่วมรัฐบาลตระบัดสัตย์ ไม่แก้รัฐธรรมนูญ ทำให้ม็อบมาใหม่ในวันที่ 17 พ.ค. 2535

สถานการณ์ที่ทำให้เกิดการตั้ง กมธ.ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกิดจาก ส.ว. ส่วนใหญ่ ไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีไม่เกิน 30 เสียงที่จะรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่จำเป็นต้องมีเสียง ส.ว. อย่างน้อย 84 เสียง ดังนั้นหากโหวตก็มีความเป็นไปได้สูงที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะถูกตีตกทุกญัตติ ที่สำคัญพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปลี่ยนใจ โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคพปชร.

ฉะนั้นเกมการเมืองหลังจากนี้ ต้องจับตาท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งโหวตสวนมติของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ.ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีแกนนำพรรค ปชป.เรียกประชุมภายหลังการประชุมรัฐสภา ยอมรับกันว่า เราถูกหลอก โดนตลบหลังขอไปศึกษาการแก้ก่อน

โดย “ผู้ใหญ่ในพรรคปชป.” ยืนยันว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ เพราะนี่คือจุดยืนที่เข้าร่วมรัฐบาล แล้วหาก ปชป.ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ขณะที่พรรคการเมืองอื่นก็ปิดสวิตช์เข้าร่วมรัฐบาลเช่นกัน เพราะไม่ร่วมสังฆกรรมกับการตั้ง กมธ.ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว จะเอาพรรคอื่นมาเป็นอะไหล่ คงไม่ได้แล้ว และพรรคฝ่ายค้านจะแปลงกายเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็ยาก

ที่สำคัญหากญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องตกไป มีโอกาสที่พรรค ปชป.จะถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล เพราะจะถูกกระแสสังคมกดดันอย่างหนัก ส่วนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) แม้จะออกมาแถลงขอโทษประชาชน แต่ ภท.ไม่ได้มีจุดยืนเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น

สิ่งที่ทำให้รัฐบาล-พรรคพปชร. ยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมั่นใจว่าม็อบจุดไม่ติด ซึ่งอาจจะต้องดูการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม อีกครั้ง

ส่วนโอกาสที่จะ “ยุบสภา” ต้องยอมรับว่า การยื้อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการสร้างโอกาสใหม่ให้ม็อบ ซึ่งเดือนตุลาคมนี้ เงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้ม็อบจุดติด เมื่อได้เห็นโครงสร้างคะแนนโหวต ก็อาจไปกดดันพรรค ปชป. และ ทวงถามจุดยืนของพรรคภท.

การชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม หากมีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก พรรคร่วมรัฐบาลอาจมีโอกาสพลิกกลับมาเดินเกมแก้รัฐธรรมนูญ แต่อาจจะต้องโดนทุบก่อนถึงจะยอมให้แก้ ตามข้อเรียกร้องของม็อบ

นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวผู้มีอำนาจบางคน ได้เตรียมพรรคสำรองเอาไว้ เพราะพรรคเก่าใช้ไม่ได้แล้ว โดยมี 1 ใน “บิ๊กป.” สั่งการ  โดยพรรคใหม่จะไม่เอา “กลุ่มสามมิตร” ทำให้กลุ่มสามมิตรต้องหาที่ใหม่ หรือไม่ก็ยึดซากพรรคพลังประชารัฐ

ขณะที่สถานการณ์สอดแทรก ของพรรคเพื่อไทย(พท.)ที่ปะทุขึ้น ก็อยู่ในอาการน่าเป็นห่วง จากสัญญาณของ “คุณหญิงอ้อ” คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ที่ออกโรงมากำกับการแสดงเอง ทำให้ “แกนนำพรรคเพื่อไทย ทยอยลาออกจากกรรมการบริหารพรรค

ไล่ตั้งแต่ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรค คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค และกรรมการบริหารพรรครายอื่น 

การปรากฏตัวของ “คุณหญิงอ้อ” ทำให้ถูกตีความว่า พรรคพท. ไม่หนุน “ม็อบเด็ก” อีกต่อไป

และมีความเป็นไปได้สูงที่ พท. จะถูกแบ่งออกเป็นสองซีก ซีกหนึ่งยังปักหลักอยู่ร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน ซีกหนึ่งอาจแบ่งมาหนุนขั้วรัฐบาล ร่วมหนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม

โฟกัสหลักไปที่ “ส.ส.เพื่อไทยสายอีสาน” ที่บางส่วนปันใจอยู่ขั้วรัฐบาลมาพักใหญ่ แต่ยังไม่เปิดตัวออกมา โดยมี “แกนนำพปชร.” บางคนดูแลไม่ต่างกับ ส.ส.พปชร. เพื่อเก็บไว้เป็นกำลังเสริม หากจำเป็นต้องเรียกใช้บริการ

การขยับของ ส.ส.เพื่อไทย อาจส่งผลกระทบต่อ ปชป.ทันที เพราะ “บิ๊กตู่-บิ๊กรัฐบาล” ไม่พอใจท่าทีของ ส.ส.ปชป.หลายเรื่อง ดังนั้นหาก ส.ส.พท. จะขนกันมาเข้าร่วมรัฐบาล ตัวเลขกลมๆ ที่ต้องการคือ 50 คน หากยกขบวนกันมาจริง ปชป. ที่มีส.ส. 52 คนจะเดือดร้อนทันที

เมื่อ “ม็อบนักศึกษา” อ่อนแรง แม้จะได้เงื่อนไขการยื้อรัฐธรรมนูญไปปลุกกระแส แต่ก็ไม่การันตี ความร้อนแรงเท่าเดิม เมื่อ “พรรคเพื่อไทย” แพแตก “บิ๊กบอส” ไฟเขียวให้เข้าร่วมรัฐบาล เมื่อ “พรรคปชป.” ไม่เป็นที่ต้องการของ “บิ๊กรัฐบาล” จึงมีโอกาสที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ขึ้นได้ไม่ยาก

เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เสริมแกร่งให้ บิ๊กตู่-รัฐบาลมีโอกาสอยู่ยาวขึ้น