‘วุฒิสภา’ ตัวป่วนหรือตันแปร ไม่ขวางแก้รธน.แต่วางเงื่อนไข

‘วุฒิสภา’ ตัวป่วนหรือตันแปร  ไม่ขวางแก้รธน.แต่วางเงื่อนไข

ชำแหละเงื่อนไขส.ว.บนกระดานการเมืองว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาศัยความได้เปรียบต่อรองสุดตัว

การประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก่อนรับหลักการนัดแรกเมื่อวันที่ 30 ก.ย. แม้จะเป็นนัดแรกแต่ก็มีหลากหลายมุมที่น่าสนใจ

เริ่มตั้งแต่การเข้าสู่ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการชุดนี้ของ 'วิรัช รัตนเศรษฐ' เป็นเพราะเดิมทีส.ว.เตรียมดัน 'กล้านรงค์ จันทิก' และ 'มหรรณพ เดชวิทักษ์' เป็นประธาน ในฐานะที่เป็นส.ว.ที่มีความอาวุโสทางการเมือง แต่สุดท้ายก็หลีกทาง เพราะประเมินสถานการณ์ทางการเมืองกันว่าหากส.ว.ขึ้นมาเป็นประธานอาจทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญยิ่งเป็นประเด็นทางการเมืองมากขึ้นไปอีก และจะลามไปถึงวุฒิสภาในภาพรวมด้วย จึงยอมหลบให้ 'วิรัช' เป็นประธานชุดนี้แทน

อย่างน้อย 'วิรัช' มีสถานะเป็นผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาก่อน เรียกได้ว่าภาพดูซอฟต์มากกว่า อีกทั้ง 'วิรัช' เป็นประธานวิปรัฐบาลที่คอยประสานงานกับส.ว.เกี่ยวกับการในสภามาตลอด เรียกได้ว่าเป็นคนที่ส.ว.คุยรู้เรื่อง

การถอยของส.ว.ในตำแหน่งประธานกรรมาธิการนั้นตรงกันข้ามกับการพยายามตั้งธงต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ

ช่วงปลายสมัยประชุมที่ผ่านมา ส.ว.จำนวนไม่น้อยต่างมองว่าการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของวิปรัฐบาลมีลักษณะล้ำเส้น เพราะทุกครั้งที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องความเห็นร่วมกันในเบื้องต้นและการวางสัญญาใจกันก่อน แม้ไม่อาจจะเห็นด้วยทั้งหมด แต่หลายครั้งก็ผ่านสภาได้ด้วยระบบสัญญาใจที่ต่างฝ่ายต่างให้กันไว้

160162350785

แต่ครั้งนี้การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของวิปรัฐบาลเป็นไปแบบรวบรัดและพยายามเอากระแสกดดันจากนอกสภามาหักคอส.ว.เพื่อให้ส.ว.คล้อยตามด้วย

ทว่าภายหลังกระแสกดดันนอกสภาเบาบางลงเพราะกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนไหวทะลุเพดานไกลออกไปจากหลักการที่ควรจะเป็น ทำให้ส.ว.เริ่มกลับมาตั้งหลักได้ในช่วงก่อนการประชุมรัฐสภาด้วยการพยายามอ้างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจเป็นการสร้างความขัดแย้งในช่วงที่บางฝ่ายเริ่มนำประเด็นแหลมคมมาแสดงต่อสาธารณะ พร้อมกับการวางเงื่อนไขว่าหากวิปรัฐบาลจะดันทุรังโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 24 ก.ย. จะได้เห็นปรากฏว่าส.ว.พร้อมใจคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ จึงเป็นที่มาว่าทำไมวิปรัฐบาลต้องยอมก้มหัวให้ส.ว.ด้วยการยอมตั้งคณะกรรมาธิการดังกล่าว

คณะกรรมาธิการชุดนี้ที่ถูกตั้งขึ้นมานั้นยิ่งส่งให้การวางเงื่อนไขของส.ว.ประสบความสำเร็จมากขึ้น ซึ่งเวลาธงของส.ว.ไม่ใช่การขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการเสนอให้มีการทำประชามติก่อนสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการแก้รัฐธรรมนูญเฉพาะบางมาตราเท่านั้น ส่วนการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่ในสายตาของส.ว.แม้แต่น้อ

เงื่อนไขแรกส.ว.พยายามอ้างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีผลไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับควรต้องผ่านการทำประชามติก่อน ด้วยการยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อครั้งมีการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่กรรมาธิการในสัดส่วนของส.ว.พยายามโน้มน้าวให้ที่ประชุมคล้อยตามเมื่อวันที่ 30 ก.ย.

อีกเงื่อนไขที่ส.ว.เน้นย้ำต่อที่ประชุม คือ การไม่เห็นด้วยกับการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยยกตัวอย่างในอดีตมาให้เห็น เช่น การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 ที่แม้จะมีกระบวนการเลือกกันเองของภาคประชาชนและผู้ทรงคุณวุฒิก็เกิดการล็อบบี้และการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ หรือหากจะให้กลับไปใช้ระบบการได้มาซึ่งส.ส.ร.ผ่านการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนแบบรัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 จะเป็นช่องให้นักการเมืองเข้าแทรกแซงการยกร่างรัฐธรรมนูญ จนทำให้หลักการของรัฐธรรมนูญที่ควรเป็นของประชาชนถูกบิดเบือนไป

ทั้งหมดนี้ แม้ยกแรกเพิ่งเริ่มต้น แต่ปรากฎว่าส.ว.ก็เปิดหน้าชกอย่างเต็มตัว ศึกหนักจึงไปตกที่อยู่ฝ่ายรัฐบาล ทั้งที่ต่างมีศัตรูคนเดียวกันแต่กลับต้องมาทะเลาะกันเองในสภา