ป.ป.ช. ส่งศาลเชือดนายกอบจ.ลำพูน ทุจริตงบประมาณโควิด 16 ล้านบาท
ป.ป.ช. ส่งศาลเชือดนายกอบจ.ลำพูน ทุจริตงบประมาณโควิด 16 ล้านบาท พบ ซื้อของช่วยชาวบ้านแพงเกินจริง
นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงกรณีเรื่องกล่าวหา นายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน กับพวก ร่วมกันทุจริตจัดซื้อชุดของใช้ประจำวัน (Care Set) วงเงิน 16,343,000 บาท ในโครงการป้องกันผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยง ต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) โดยระบุว่า จากการตรวจสอบของคณะกรรมการป.ป.ช.พบว่าเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 จังหวัดลำพูน ได้จัดการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดลำพูน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนเป็นประธาน ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนดำเนินการจัดซื้ออุปกรณ์ชุดของใช้ประจำวัน (Care Set) เพื่อสนับสนุนแก่กลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงต่อการติดต่อโรคไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19) จำนวน 27,700 คน ซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป โดยเป็นผู้ใช้สิทธิหลักประกันถ้วนหน้า (Universal Coverage: UC) และไม่อยู่ในสิทธิหลักประกัน ของราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือประกันสังคม โดยจัดซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและการทำความสะอาดร่างกาย จำนวน 13 รายการ
ต่อมาในวันเดียวกัน องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ได้อนุมัติจ่ายขาดเงินสะสม ประจำปีงบประมาณ 2563 ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน วงเงินจำนวน 17,174,000 บาท เพื่อดำเนินการโครงการดังกล่าว โดยไม่มีการสืบหาราคาชุดของใช้ประจำวัน (Care Set) ซึ่งในการขออนุมัติโครงการดังกล่าวได้มีการผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ประกอบด้วย นายดรุณพัฒน์ อินดี รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน, นางสุดสงวน จักร์คำ รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน, นายเสริมชัย ลี้เขียววงศ์ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน, นายมนู ศรีประสาท รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน, จนถึงนายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่านายนิรันดร์ฯ และผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ต้องการให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.พี. กรุ๊ป เทรดดิ้ง เป็นคู่สัญญาในการจัดซื้อในโครงการดังกล่าว และมีการกระทำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.พี. กรุ๊ป เทรดดิ้ง ดังนี้
ในขั้นตอนการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะและราคากลาง นายเทวินทร์ วิธี ได้ส่งเอกสารใบเสนอราคาของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.พี. กรุ๊ป เทรดดิ้ง, ร้านรุ่งทิพ เอ็นเตอร์ไพร์ท และห้างหุ้นส่วนจำกัด เพิ่มพูนโชค ซึ่งเป็นห้างและร้านในกลุ่มเดียวกัน และมีนายเทวินทร์ วิธี เป็นผู้ดำเนินการแทนห้างร้านดังกล่าวทั้งหมด นำมาใช้ในการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะและราคากลางชุดของใช้ประจำวัน (Care Set) ราคาชุดละ 590 บาท โดยมิได้มีการสืบราคาจากผู้มีอาชีพในท้องตลาดจริง ต่อมานายมนู ศรีประสาท รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ปฏิบัติราชการแทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ได้อนุมัติเห็นชอบคุณลักษณะและราคากลางดังกล่าว และพนักงานของนายเทวินทร์ วิธี ได้นำตัวอย่างสินค้าซึ่งบรรจุในถุงซิปล็อคพร้อมสติกเกอร์ มาให้นายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ตรวจดู
ในขั้นตอนการจัดซื้อ คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจง ได้มีหนังสือเชิญไปยังห้าง/ร้าน จำนวน 5 แห่ง ซึ่งเป็นห้าง/ร้าน ในกลุ่มเดียวกันและมีความสัมพันธ์กับห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.พี. กรุ๊ป เทรดดิ้ง โดยนายเทวินทร์ วิธี ได้นำห้าง/ร้าน จำนวน 3 ราย มายื่นเสนอราคาประกอบด้วย (1) ห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.พี. กรุ๊ป เทรดดิ้ง, (2) ร้านรุ่งทิพ เอ็นเตอร์ไพร์ท และ (3) ห้างหุ้นส่วนจำกัด เพิ่มพูนโชค ซึ่งทั้ง 3 ราย ได้เสนอราคารวม 16,343,000 บาท หรือชุดละ 590 บาท เท่ากัน และองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนได้เลือกและเร่งรัดให้ ห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.พี. กรุ๊ป เทรดดิ้ง ได้เป็นคู่สัญญากับองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ตามบันทึกข้อตกลงซื้อขาย เลขที่ 53/2563 ลงวันที่ 7 เมษายน 2563 จำนวนเงิน 16,343,000 บาท โดยนายกำธร เนตรผาบ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ปฏิบัติราชการแทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เป็นผู้ลงนามอนุมัติ
สำหรับราคาชุดของใช้ประจำวัน (Care Set) จำนวน 13 รายการ นั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่าราคาต้นทุน ของห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.พี. กรุ๊ป เทรดดิ้ง มีต้นทุนของราคาสินค้าชุดละประมาณ 234.24 บาท และจากการสืบราคาจากห้าง/ร้าน ที่จำหน่ายสินค้าในจังหวัดลำพูน จำนวน 25 ร้านค้า พบว่าราคาเฉลี่ยชุดของใช้ประจำวัน (Care Set) มีราคาเฉลี่ยเพียงชุดละ 315.45 บาท ดังนั้น การจัดซื้อขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนดังกล่าว จึงเป็นการจัดซื้อในราคาที่สูงกว่าในท้องตลาดและทำให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนได้รับความเสียหาย เป็นเงินประมาณ 7.6 ล้านบาท
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่า การกระทำของนายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน, นายกำธร เนตรผาบ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน, นายมนู ศรีประสาท รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน, นายเสริมชัย ลี้เขียววงศ์ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน,นางสุดสงวน จักร์คำ รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน และนายดรุณพัฒน์ อินดี รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน มีมูลความผิดฐานเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, มาตรา 157 และเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10, มาตรา 12 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172
นอกจากนี้การกระทำของนายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์, นายกำธร เนตรผาบ, นายมนู ศรีประสาท ยังมีมูลความผิดฐานมีพฤติการณ์การกระทำการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือละเลย ไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 มาตรา 77 และการกระทำของนายเสริมชัย ลี้เขียววงศ์, นางสุดสงวน จักร์คำ และนายดรุณพัฒน์ อินดี มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามประกาศคณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย พ.ศ. 2558 ข้อ 7, 10
สำหรับกลุ่มเอกชนได้แก่ (1) ห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.พี. กรุ๊ป เทรดดิ้ง, (2) นางสาวณัฐวรรณ รัตนคำนวณ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.พี. กรุ๊ป เทรดดิ้ง, (3) นายเทวินทร์ วิธี, (4) ห้างหุ้นส่วนจำกัด เพิ่มพูนโชค, (5) นายนิกร ญาณโรจน์ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด เพิ่มพูนโชค, และ (6) นางรุ่งทิพ ทุนอินทร์ เจ้าของร้านรุ่งทิพ เอ็นเตอร์ไพร์ท มีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดดังกล่าวข้างต้น และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4
โดยให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนพิจารณาดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ให้แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ดำเนินการหาผู้รับผิดทางละเมิดต่อไป