เมื่อ“คณะราษฎร"ยกระดับ รัฐบาลเผชิญศึกรอบด้าน
สถานการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ 14 ต.ค.มาจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีฝ่ายชนะเด็ดขาด หรือแพ้ราบคาบ โดยปัจจัยชี้ขาดอยู่ที่ความอึดและความอดทนของใครจะมีมากกว่ากัน
เหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่วันที่14 ต.ค.เป็นต้นมา ที่หนึ่งในนั้นมีการจับกุมแกนนำคณะราษฎร ไม่อาจประเมินได้ว่า เป็นความพ่ายแพ้ของคณะราษฎร หรือเป็นชัยชนะของฝ่ายรัฐบาล เพราะภาพที่ออกมา เป็นการเผย“จุดอ่อน” และ การเอาคืนกันแบบหมัดต่อหมัดของแต่ละฝ่ายมากกว่า
ในแง่ของกลุ่มคณะราษฎร ถือว่าภาพของประชาชนที่มารวมตัวกัน 14 ต.ค.เป็นการก้าวไปอีกก้าวของคณะราษฎร เพราะเป็นการพิสูจน์ได้ว่ามี “ฐานมวลชน” เป็นของตัวเองแล้ว เป็นลักษณะมวลชนที่พร้อมมาร่วมชุมนุมทันทีที่แกนนำเป่านกหวีดเรียก ซึ่งเป็นผลให้ตำรวจไม่ประมาทในการใช้กำลังเหมือนการสลายเมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนการชุมนุมใหญ่หนึ่งวัน
ภายใต้การยกระดับในเรื่องมวลชนดังกล่าว กำลังเป็น “จุดแข็ง” ที่น่าสนใจ แต่กลับพบว่ามีจุดเปราะบางให้เห็นเช่นกัน เนื่องจากมวลชนที่เป็นฐานของคณะราษฎรนั้นส่วนใหญ่มาจากกลุ่มแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ คนเสื้อแดง
คนกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อย ต่างนำสัญลักษณ์ของคนเสื้อแดงมาแสดงต่อสาธารณะเต็มที่ อีกทั้งแกนนำคณะราษฎรก็ตอบรับสัญลักษณ์เหล่านี้ โดยเฉพาะการใช้เพลงประจำของคนเสื้อแดงในการชุมนุม แต่การแสดงสัญลักษณ์นั้นยังไม่เป็นปัญหาเท่ากับการเกิดสภาวะ “คุมไม่ได้”
ดังที่ปรากฎให้ถึงสถานการณ์ที่ถนนนครสวรรค์ ก่อนถึงแยกนางเลิ้ง มุ่งหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาล มีหลายครั้งที่มวลชนคนเสื้อแดงที่อยู่แถวหน้า พยายามจะฝ่าด่านตำรวจ ทั้งที่แกนนำบนรถเครื่องขยายเสียงบอกให้นั่งลง หรือ กรณีการประลองกำลังกันเล็กน้อยระหว่างมวลชนและตำรวจที่สี่แยกราชประสงค์ โดยบางคนบอกให้ดันตำรวจออกไป แต่บางคนบอกให้หยุดการใช้กำลังกับตำรวจ
ท่ามกลางสถานการณ์ บนเงื่อนไขที่ว่าฝ่ายใดก่อความรุนแรงก่อนฝ่ายนั้นแพ้ ตรงนี้เองที่ทำให้ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและตำรวจ ไม่สามารถทำอะไรได้อย่างเต็มที่ ได้แต่ประลองกำลังกันไปมาเท่านั้น จึงกลายเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดมือที่สาม
ขณะที่อีกโจทย์หนึ่ง ที่กลุ่มผู้ชุมนุมยังรอลุ้น คือการเคลื่อนไหวในสภาวะ "ไร้แกนนำ" ที่ชัดเจน หลังจากแกนนำหลักที่พอเป็นที่รู้จัก และมีตัวตนในทางการเมือง เหลือไม่กี่คนเท่านั้นที่ยังไม่ถูกจับกุม เช่น ภาณุพงษ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง หรือ แกนนำจากกลุ่มประชาชนปลดแอก
ในสภาพที่ม็อบไร้หัวขบวนนำเช่นนี้ ก็ต้องลุ้นกันว่า จะมีแกนนำมารับไม้ต่อหรือไม่ และคณะราษฏร 63 จะสามารถประคับประคองไปได้อีกนานแค่ไหน
การพยายามดำเนินการในรูปแบบการเคลื่อนไหวหรือแฟลชม็อบอย่างที่เกิดขึ้นในฮ่องกง ก็อาจจะประสบความสำเร็จภายใต้เงื่อนไขการเมืองแบบฮ่องกง แต่อาจใช้ไม่ได้กับสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย
ทั้งนี้ เป็นเพราะในประเทศไทยนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้ทะลุเพดานไปถึงเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนแตกความเห็นออกเป็นสองกลุ่ม แม้จะมีบางกลุ่มที่ไม่ชอบรัฐบาล แต่ก็ไม่อาจรับได้กับเรื่องการพาดพิงถึงสถาบันฯในทางที่ไม่เหมาะสม จึงทำให้สภาพของประชาชนในประเทศไทยไม่ได้มีความเป็นเอกภาพเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับการเคลื่อนไหวของฮ่องกง
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้มีแต่เพียงฝ่ายผู้ชุมนุมเท่านั้นที่ต้องปรับกลยุทธ์และปรับตัว แต่ฝั่งรัฐบาลและตำรวจเองก็มีงานหนักที่ต้องคิดหนักเช่นกัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า รูปแบบของการชุมนุมทางการเมืองคราวนี้ ไม่เหมือนกับในอดีตที่ผ่านมา ทั้งของกลุ่มเสื้อเหลือง เสื้อแดง และ กปปส. เพราะครั้งนี้มีแนวโน้มว่าจะเป็นลักษณะของ “แฟลชม็อบใหญ่”
การชุมนุมในอดีต เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมยึดสถานที่สำคัญทางการเมืองได้แล้ว ก็จะประกาศ “สู้ไม่ถอย-ไม่ชนะไม่เลิก-ตายเป็นตาย” ทันที จนกว่าจะบรรลุเงื่อนไข แต่สำหรับม็อบคณะราษฎรนั้น “มาแนวใหม่” คือ ประกาศชัยชนะแล้วกลับบ้าน และนัดชุมนุมใหม่ ดังเช่นที่เกิดขึ้นหลังจากล้อมทำเนียบรัฐบาลได้สำเร็จ แต่กลับประกาศยุติการชุมนุม และนัดกันที่สี่แยกราชประสงค์แทน
ไม่ต่างอะไรกับการเกม “แมวไล่จับหนู” ที่รัฐบาลจะกลายเป็นฝ่ายตามหลังตลอด แม้จะสามารถควบคุมแกนนำคนสำคัญได้แล้วก็ตาม ซึ่งรัฐบาลจะเล่นไล่จับไปตลอดทางอย่างนี้ไม่ได้
แต่กระนั้นรัฐบาลไม่ได้เผชิญศึกแค่ด้านเดียว เพราะยังมีศึกในสภาที่คอยกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วย โดยเฉพาะความไม่ชัดเจนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มี ส.ว.เอามือราน้ำอยู่
พรรคร่วมรัฐบาลจะอดทนไปได้อีกนานแค่ไหน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จะทำเป็นทองไม่รู้ร้อนเหมือนในอดีตอีกไม่ได้ เพราะมีวิกฤตินอกสภาเข้ามาบีบด้วย
เท่ากับว่าสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ กำลังสั่นคลอนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ตลอดระยะ 6 ปี