1,118 อาจารย์ 'คนส.' ออกแถลงการณ์บีบนายกฯ ลาออก
เครือข่ายนักวิชาการ "คนส." ออกแถลงการณ์ 3 ข้อ ประณามสลายการชุมนุม ยุติใช้กฎหมายจัดการผู้เห็นต่าง จี้นายกฯ ลาออกจากตำแหน่ง
ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ท่าพระจันทร์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) นำโดยนายอนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. และ นายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ พร้อมอาจารย์และนักศึกษาประมาณ 50 คน เดินเท้ามายังทำเนียบรัฐบาล โดยใช้เส้นทางถนนราชดำเนิน ผ่านหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ข้ามถนนบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สู่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา แล้วเดินต่อไปกระทั่งถึงหน้าทำเนียบรัฐบาล เวลา 09.30 น.เพื่อยื่นแถลงการณ์ เรื่อง "หยุดสลายการชุมนุมและขจัดผู้เห็นต่าง สร้างทางออกให้ประเทศไทย"
นายอนุสรณ์ อ่านแถลงการณ์ว่า การชุมนุมของนักเรียนนิสิตนักศึกษา รวมถึงประชาชนตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาบนฐานของข้อเท็จจริง หลักการ และเหตุผล โดยมีผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นตัวตั้ง อีกทั้งยังเป็นไปอย่างสงบและปราศจากอาวุธ แต่รัฐบาลไม่รับข้อเสนอ และยังขัดขวาง ทั้งการตั้งข้อหาและจับกุมคุมขังแกนนำและผู้เข้าร่วม
โดยเฉพาะการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงและการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมคืนวันที่ 16 ต.ค. ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บและสถานการณ์บานปลาย ไม่มีแนวโน้มจะคลี่คลายลงแต่อย่างใด คนส.พร้อมกับนักวิชาการ รวมถึงประชาชนที่มีรายชื่อแนบท้ายจำนวน 1,118 รายชื่อ จึงขอแสดงจุดยืนและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้
1.ขอประณามการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมบริเวณแยกปทุมวันคืนวันที่ 16 ต.ค. เพราะเป็นการจัดการกับการชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามหลักการและขั้นตอนที่เป็นสากล และใช้กำลังที่ไม่ได้สัดส่วนหรือเกินกว่าเหตุ เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้มีอาวุธ ไม่ได้มีพฤติการณ์รุนแรง และจำนวนมากเป็นเยาวชน รัฐบาลจะต้องยุติการสลายการชุมนุมและรับผิดชอบต่อความผิดพลาดนี้
2.รัฐบาลต้องยุติการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือขจัดผู้เห็นต่าง ต้องยกเลิกการตั้งข้อหาและต้องปล่อยตัวผู้ชุมนุมทุกคนอย่างไม่เงื่อนไข ต้องยกเลิกการใช้กฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เอาผิดผู้แสดงความเห็นต่างหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รวมถึงต้องยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงและการบังคับใช้กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างไม่สมควรแก่เหตุ
3.รัฐบาลต้องรับข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมไปพิจารณาอย่างจริงจัง ทั้งการให้ นายกฯ ลาออก การแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการปฏิรูปสถาบัน ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย โดยตั้งคณะกรรมการศึกษาและให้ข้อเสนอแนะที่มาจากตัวแทนฝ่ายต่างๆ ในภาควิชาการ ประชาชน และนักเรียนนิสิตนักศึกษา เพราะปราศจากการเขียนกติกาสูงสุดที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น