"สภาฯ" จ่อต่อสัญญาให้ "ซิโน-ไทย" รอบที่5 ลากถึง มีนาคม64

"สภาฯ" จ่อต่อสัญญาให้ "ซิโน-ไทย" รอบที่5 ลากถึง มีนาคม64

กมธ.สอบสร้างรัฐสภาล่าช้า ชี้ปัญหาล่าช้า มีแนวโน้มต่อสัญญาให้ "ซิโน-ไทย" รอบที่5

           ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร  พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งกมธ. ที่มีนายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกมธ. ได้พิจารณาแล้วเสร็จ 
           ทั้งนี้นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ฐานะกมธ.ฯ และประธานคณะอนุกมธ.ทำรายงานผลการพิจารณาฯ นำเสนอรายงานตอนหนึ่ง ว่า ปัญหาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาและอาคารประกอบมีความล่าช้า โดยจากแผนก่อสร้างฉบับแรก เมื่อ 8 มิถุนายน 2556 กำหนดให้ทำให้แล้วเสร็จภายใน 900 วัน แต่ปัจจุบันพบการต่อสัญญาให้กับบริษัทผู้รับจ้าง ถึง 4 ครั้ง รวมเป็นจำนวนวันทั้งสิ้น 2,764 วัน โดยสัญญารอบที่4 นั้นจะสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 สาเหตุหลัก คือ การส่งมอบพื้นที่ล่าช้า, ปัญหาการขนดินจำนวนมากออกจากพื้นที่, สัญญาก่อสร้างนอกสัญญาหลัก ที่พบมาถึง 9 สัญญา หากประเมินความเสียหายแล้วพบว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ฐานะผู้รับจ้าง จะเสียหายมากถึง 1,220 ล้านบาท ขณะที่ผู้รับจ้างคือ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)  ประเมินความเสียหาย จำนวน 1,600 ล้านบาท ขณะที่ความเสียหายกับผู้เข้าใช้พื้นที่ เช่น ส.ส., ส.ว., ข้าราชการ, ประชาชนที่ติดต่อราชการ ไม่สามารถประเมินความเสียหายได้
160509435621
           นพ.ชลน่าน อภิปรายถึงข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ได้แก่ 1.การออกแบบอาคารรัฐสภาควรทำสถาปัตยกรรมที่สะท้อนหลักสิทธิเสมอภาคและเสรีภาพและคำนึงถึงประโยชน์การใช้งานสูงสุด, 2. การกำหนดขอบเขตงาน หรือ ทีโออาร์ งานก่อสร้างความปรับปรุงระยะเวลาก่อสร้างให้เป็นไปตามระยะเวลาประเมินอย่างถูกต้องตามหลักวิชา, 3. ปัญหาการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ควรแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีสภาพบังคับหากไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง, 4.การบริหารจัดการดินควรศึกษาวิเคราะห์แผนงาน และกำหนดเงื่อนไขสัญญาให้ผู้รับจ้างเป็นผู้บริหารจัดการดิน, 5. ไม่ควรแยกสัญญา เว้นแต่มีกรณีจำเป็น, 6.การขยายสัญญาให้ผู้รับจ้างต้องแสดงการคิดคำนวณให้ชัดเจน, 7. ผลกระทบจากความล่าช้า ควรกำหนดในสัญญาว่าหากมีข้อพิพาท ให้ตกลงร่วมกันให้ระงับข้อพิพาทด้วยการเจรจา และ 8.กำหนดให้ภาคสังคมมีส่วนร่วมต่อการตรวจสอบโครงการก่อสร้างของภาครัฐ
           ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการอภิปรายของส.ส. นั้น  เสนอแนะให้รัฐสภา ดำเนินการเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ทางราชการ อาทิ นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม.​พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ในรายงาน พบว่าการก่อสร้างรัฐสภาจะไม่แล้วเสร็จในรอบสัญญาที่ 4 และต้องต่อสัญญารอบที่ 5 ถึงเดือนมีนาคม2564 และเมื่อคำนวณความเสียหายที่เกิดขึ้น ตามที่ผู้รับจ้างยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เมื่อปี 2563 และเรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น 1.5พันล้านบาท เมื่อคำนวณกับระยะเวลาที่จะขยายรอบที่5 จะใกล้เคียงกับราคาที่ผู้รับจ้างฟ้องร้อง ดังนั้นขอให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ พิจารณาเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของราชการด้วย
160509435663
           ขณะที่นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เสนอให้สภาฯ ตั้งกรรมการติดตามและเร่งรัดงาน โดยให้ประธานกรรมาธิการ 35 คณะร่วม เพื่อให้การติดตามงานเป็นไปโดยไม่สร้างความเสียหายอีก อย่างไรก็ตามตนขอตั้งข้อสังเกตการทำงาของกมธ.ฯ ว่า เงียบผิดปกติและคล้ายกับทำงานด้วยความเกรงใจ
           ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการให้สัญญาก่อสร้างและสัญญารอง ที่ให้กับบริษัทผู้รับจ้างนั้นควรพิจารณา เพราะบริษัทซิโน-ไทย ฐานะผู้ได้สัญญาหลัก ยังพบการดำเนินงานที่ล่าช้า ทำไมถึงให้เป็นผู้ได้รับสัญญารองต่างๆ.