เกมแรง เข้าทาง 'รัฐ' 'ม.112' ค้ำคอ 'ม็อบ3นิ้ว' ลดเพดาน
การชุมนุมของกลุ่มคนที่มี 3 นิ้ว เป็นสัญลักษณ์ แม้จะประกาศมาโดยตลอดว่ายึดแนวทางสันติ แต่ความรุนแรงก็เกิดขึ้นด้วยเหตุและปัจจัยต่างๆ ตรงนั้นเองที่จะเป็นเงื่อนไขให้ "รัฐบาล" ทิ้งไพ่ในมือ ใช้กฎหมายพิเศษได้ทุกเมื่อ
การชุมนุมของ "กลุ่มราษฎร" อาจกำลังเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของการเคลื่อนไหว เรียกร้องใน 3 ข้อเสนอ
เมื่อการชุมนุม 2 ครั้งหลังสุด เริ่มเห็นปรากฎการณ์การเผชิญหน้าที่ชัดเจนจากฝ่ายตรงข้าม ที่แยกเกียกกาย จนมีการปะทะ และมีเสียงปืนเกิดขึ้นทำให้ "การ์ดอาชีวะ" ได้รับบาดเจ็บ
อีกเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไปสดๆ ร้อนๆ ที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ที่แม้แกนนำจะประกาศยุติการชุมนุมในค่ำคืน 25 พ.ย. แล้ว แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งการปาวัตถุคล้ายระเบิด และการก่อเหตุยิงจะเกิดขึ้นอีก ทำให้การ์ดผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บอีกครั้ง
บรรดา "การ์ดอาชีวะ" ของ "กลุ่มราษฎร" และโลกโซเชียลต่างขุดภาพ "นักเรียนอาชีวะ" สถาบันหนึ่งที่ถูกบันทึกพฤติกรรมจากสื่อต่างๆ ว่าเป็นผู้ก่อเหตุ และปักใจเชื่อว่าเป็นคนของฝ่ายตรงข้ามที่เข้ามาป่วนสร้างสถานการณ์ แม้ทางตำรวจจะระบุว่าเกิดจากความขัดแย้งกันเองของการ์ดก็ตาม
การชุมนุมครั้งต่อไปในวันที่ 27 พ.ย.นี้ การรักษาความปลอดภัยของ "การ์ดภาคีเพื่อประชาชน" คงต้องยกระดับในการดูแลผู้ชุมนุม เพื่อป้องกันตนเองอย่างเลี่ยงไม่ได้ เป็นไปตามสัญชาตญาณที่ไม่มีใครยอมถูกกระทำฝ่ายเดียว
นี่จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้การเคลื่อนไหวตึงเครียดมากยิ่งขึ้น เมื่อมีเงื่อนไขเรื่องความรุนแรงเพิ่มเข้ามา และอาจเข้าทางบางฝ่ายเพื่อพลิกสถานการณ์ให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
สถานการณ์เช่นนี้ ทั้งฝ่ายรัฐ และแกนนำผู้ชุมนุมบางคนอาจคาดหวังบางสิ่งบางอย่างให้เกิดขึ้นอันเป็นผลสืบเนื่องจากความรุนแรง โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือมีแนวโน้มจะขยายวงหนักข้อมากขึ้น
นั่นย่อมเข้าทางฝ่ายรัฐ ที่จะมีความชอบธรรมในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษทันที ทั้งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรง หรือแม้แต่ "กฎอัยการศึก" ที่ทหารสามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ มีอำนาจปราบปรามเพื่อให้สถานการณ์บ้านเมืองสงบเรียบร้อย สามารถสั่งห้ามได้ครอบจักรวาล โดยผู้ที่ได้รับความเสียหายไม่สามารถเรียกร้องเยียวยาใดๆ ได้
จนมีความกังวลว่าการ "รัฐประหาร" อาจจะเกิดขึ้นอีก ซึ่งเงื่อนไขนี้ ลึกๆ แล้วแกนนำผู้ชุมนุมบางคนก็อาจคาดหวังให้เกิดขึ้น เพื่อหาความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวต่อต้านที่หนักหน่วงยิ่งขึ้น
ขณะที่แกนนำคนสำคัญๆ ส่วนใหญ่มีคดีติดตัวด้วยกันทั้งสิ้น โดยเฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หากถูกตัดสินมีความผิด มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ยังไม่นับรวมคดีในข้อหาอื่นๆ
เงื่อนไขทางคดีเหล่านี้ อาจเป็นสิ่งที่ค้ำคอแกนนำผู้ชุมนุม และเป็นข้อจำกัดการเคลื่อนไหว ไม่ให้เพดานการต่อสู้สูงขึ้นไปกว่านี้
แต่ละย่างก้าวของทั้งผู้ชุมนุมและคนกุมอำนาจรัฐ นับจากนี้คงต้องรอบคอบ รัดกุม เพื่อจำกัดวงความขัดแย้งไม่ให้สถานการณ์บานปลายจนยากจะควบคุม